[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 719
๒. ทุติยนิพพานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่เห็นได้ยาก คือ นิพพาน
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 719
๒. ทุติยนิพพานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่เห็นได้ยากคือนิพพาน
[๑๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยนิพพาน ก็ภิกษุเหล่านั้นกระทำให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมีกถาด้วยจิตทั้งปวง แล้วเงี่ยโสตลงฟังธรรม.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 720
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยาก ชื่อว่านิพพาน ไม่มีตัณหา นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ ผู้เห็นอยู่.
จบทุติยนิพพานสูตรที่ ๒
อรรถกถาทุติยนิพพานสูตร
ทุติยนิพพานสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงภาวะที่พระนิพพานเห็นได้ยาก เพราะตามปกติเป็นคุณชาตลึกซึ้ง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุทฺทสํ ความว่า พระนิพพาน ชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะใครๆ ไม่สามารถจะเห็นได้ด้วยเครื่องปรุงคือญาณที่ไม่เคยได้สั่งสมอบรมมา เพราะมีสภาวะลึกซึ้ง และเพราะมีสภาวะสุขุมละเอียดอย่างยิ่ง. สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนมาคัณฑิยะ ก็ท่านไม่มีปัญญาจักษุอันเป็นอริยะที่เป็นเหตุให้ท่านรู้ความไม่มีโรค ทั้งเป็นเครื่องเห็นพระนิพพาน. พระองค์ตรัสไว้อีกว่า ฐานะแม้เช่นนี้ คือ ความสงบแห่งสรรพสังขารนี้เห็นได้ยาก ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า อนฺตํ ความว่า ตัณหา ชื่อว่า นตะ เพราะน้อมไปในอารมณ์มีรูปเป็นต้น และในภพมีกามภพเป็นต้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 721
เพราะเป็นไปโดยภาวะที่น้อมไปในอารมณ์และกามนั้น และเพราะสัตว์ทั้งหลายน้อมไปในอารมณ์และกามภพเป็นต้นนั้น. พระนิพพานจึงชื่อว่า อนตะ เพราะไม่เป็นที่ที่สัตว์น้อมไป. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อนนฺตํ ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า พระนิพพานชื่อว่าเว้นจากที่สุด คือ ไม่มีจุติเป็นธรรม เป็นความดับสนิท ได้แก่ เป็นอมตะ เพราะมีสภาวะแท้. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวความแห่งบทว่า อนนฺตํ ว่าเป็น อปฺปมาณํ. ก็ในคำเหล่านั้น ด้วยคำว่า ทุทฺทสํ นี้ พระองค์ทรงแสดงถึงความที่พระนิพพานอันสัตว์พึงถึงได้โดยยากว่า การที่สัตว์ทั้งหลายทำพระนิพพานอันหาปัจจัยมิได้ให้เกิด มิใช่ทำได้ง่าย เพราะสัตว์เหล่านั้นถูกกิเลสมีราคะเป็นต้นซึ่งกระทำปัญญาให้ทุรพล ให้มีมาเป็นเวลานาน.
ด้วยบทว่า น หิ สจฺจํ สุทสฺสนํ แม้นี้ พระองค์ทรงกระทำความนั้นนั่นแหละให้ปรากฏ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สจฺจํ ได้แก่ พระนิพพาน. จริงอยู่ พระนิพพานนั้น ชื่อว่าสัจจะ เพราะอรรถว่า ไม่ผิดแผก เหตุเป็นคุณชาต สงบโดยแท้จริงทีเดียว เพราะไม่มีสภาวะอันไม่สงบโดยปริยายไหนๆ. อนึ่ง พระนิพพานนั้นชื่อว่าไม่ใช่เห็นได้ง่าย คือ อันใครๆ ไม่พึงเห็นได้โดยง่าย เพราะถึงจะรวบรวมบุญสมภารและญาณสมภารมาตลอดกาลนาน ก็ยังบรรลุได้โดยยากทีเดียว. สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า พระนิพพานเราบรรลุได้ยาก.
บทว่า ปฏิวิทฺธา ตณฺหา ชานโต ปสฺสโต นตฺถิ กิญฺจนํ ความว่า หากนิโรธสัจนั้นอันผู้จะตรัสรู้โดยสัจฉิกิริยาภิสมัย เมื่อว่าโดยวิสัย โดยกิจ และโดยอารมณ์ ก็ตรัสรู้ได้โดยการรู้ตลอดอารมณ์ และการรู้ตลอดโดยไม่งมงาย เหมือนทุกขสัจที่ตรัสรู้ได้โดยปริญญาภิสมัย และมรรคสัจที่ตรัสรู้ได้โดยภาวนาภิสมัย คือ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 722
การรู้ตลอดโดยไม่งมงาย ด้วยอาการอย่างนี้ เป็นอันรู้แจ้งตลอดตัณหาด้วยปหานาภิสมัย และด้วยความไม่งมงาย. ก็เมื่อบุคคลรู้เห็นสัจจะ ๔ ด้วยปัญญาอันสัมปยุตด้วยอริยมรรคตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ชื่อว่าย่อมไม่มีตัณหาอันเป็นเหตุนำสัตว์ไปในภพเป็นต้น เมื่อตัณหานั้นไม่มี กิเลสวัฏแม้ทั้งหมดก็ไม่มี ต่อแต่นั้นกัมมวัฏและวิปากวัฏก็ไม่มีเหมือนกันแล.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศอานุภาพแห่งอมตมหานิพพาน อันเป็นเหตุสงบระงับวัฏทุกข์ได้เด็ดขาด แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
จบอรรถกถาทุติยนิพพานสูตรที่ ๒