เหตุและธรรมสำหรับละกามฉันท์
โดย JANYAPINPARD  11 พ.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 14212

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 318-319

เหตุละกามฉันท์

ส่วนกามฉันท์นั้น จะละได้ก็ด้วยโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจโดยแยบคาย) ในอสุภนิมิต. สิ่งที่ไม่งามก็ดี อารมณ์ที่ไม่งามก็ดี. ชื่อว่า อสุภนิมิต.การใส่ใจโดยอุบาย การใส่ใจถูกทาง การใส่ใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าทุกข์ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าไม่ใช่ตัวตน หรือในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งาม ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ. เมื่อภิกษุทำโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากๆ ในอสุภนิมิตนั้น ย่อมละกามฉันท์เสียได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ (ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสุภนิมิตมีอยู่ การทำให้มากๆ ซึ่งโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร เพื่อความไม่เกิดแห่งกามฉันท์ที่ยังไม่เกิด หรือเพื่อละกามฉันท์ที่เกิดแล้ว.

ธรรมสำหรับละกามฉันท์

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์ คือ ๑.การถืออสุภนิมิตเป็นอารมณ์ ๒. การประกอบเนืองๆ ซึ่งอสุภภาวนา ๓. การรักษาทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๔. ความรู้จักประมาณในโภชนะ ๕. ความมีกัลยาณมิตร ๖. พูดแต่เรื่องที่เป็นสัปปายะ (เป็นที่สบาย) . จริงอยู่ เมื่อภิกษุกำหนดอสุภนิมิต ๑๐ อย่างอยู่ ก็ละกามฉันท์ได้. เมื่อเจริญอสุภ ๑๐ ก็ดี เมื่อปิดทวารในอินทรีย์ทั้งหลายก็ดี รู้จักประมาณในโภชนะ เพราะเมื่อมีโอกาสจะบริโภค ๔-๕ คำมีอยู่ ก็ดื่มน้ำ ยังอัตตภาพให้เป็นไปได้ก็ย่อมละกามฉันท์ได้.เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ (ในขุททกนิกาย เถรคาถา) ว่า จตฺตาโร ปญฺจ อาโลเป อภุตฺวา ปิเว อล ผาสุวิหาราย ปหิตตฺตสฺส ภิกฺขุโน

ภิกษุพึงเว้นคำข้าวเสีย ๔-๕ คำ เลิก ฉัน แล้วดื่มน้ำเสีย นี้เป็นข้อปฏิบัติอันสมควรสำหรับภิกษุผู้มีตนอันส่งไปแล้ว. แม้ภิกษุผู้เสพกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นผู้ยินดี ในการเจริญอสุภ เช่นพระติสสเถระ ผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน ก็ย่อมละกามฉันท์ได้. แม้ด้วยการเจรจาปรารภเรื่องเป็นที่สบาย อันอาศัยอสุภ ๑๐ ในอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น ก็ย่อมละกามฉันท์ได้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์ดังนี้. ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ก็กามฉันท์ที่ละได้แล้ว ด้วยธรรม๖ ประการนี้ ย่อมไม่เกิดอีกต่อไปด้วยอรหัตตมรรค.



ความคิดเห็น 1    โดย รวส  วันที่ 14 พ.ย. 2552

กราบขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ