[คำที่ ๒๕๘] ทุพฺพจ
โดย Sudhipong.U  4 ส.ค. 2559
หัวข้อหมายเลข 32378

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ดา ทุพฺพจ

คำว่า ทุพฺพจ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ทุบ - พะ - จะ] มาจากคำว่า  ทุ (ยาก) กับคำว่า วจ (ว่ากล่าว) แปลง ว เป็น  พ แล้วซ้อน พฺ รวมกันเป็น ทุพฺพจ แปลว่า บุคคลผู้ว่ายาก กล่าวคือ เป็นบุคคลผู้อันผู้อื่นว่ากล่าว ตักเตือนได้โดยยาก ไม่รับคำพร่ำสอนโดยประการทั้งปวง ตามข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า

“บุคคลชื่อว่า ทุพพจะ (ว่ายาก) เพราะอรรถว่า การกล่าวสอนบุคคลผู้ถือเอาการขัดแย้งต่างๆ ผู้ชอบโต้แย้ง ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ การกล่าวสอนนั้น  ทำได้ยาก”

ข้อความจาก ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัลเลขสูตร มีว่า

“คำว่า เป็นผู้ว่ายาก ความว่า เป็นผู้ยากที่จะว่ากล่าวได้ คือ ถูกว่าอะไรเข้าแล้วทนไม่ได้, เหล่าชนผู้ตรงกันข้ามกับคนว่ายากนั้น ชื่อว่าเป็นคนว่าง่าย”


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นในโลกเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งปวง พระองค์เสด็จไปในที่ต่างๆ ด้วยทรงมีพระมหากรุณา เพื่อให้สัตว์โลกได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจความจริง เพื่อที่สัตว์โลกจะได้ขัดเกลากิเลสที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ และอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้นเป็นปัญญาของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาแห่งการประกาศพระศาสนาของพระองค์นั้น เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลกเป็นสำคัญ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่เป็นพุทธบริษัท นอกจากจะเป็นผู้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ก็ไม่ใช่เพียงฟังเท่านั้น ยังจะต้องเป็นบุคคลผู้ว่าง่าย คือ น้อมรับคำพร่ำสอนด้วยความเคารพ เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ด้วยการน้อมประพฤติปฏิบัติตามขัดเกลากิเลสของตนเองด้วยความจริงใจ ด้วย จึงจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรมอย่างแท้จริง

ข้อที่ควรพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสประการต่างๆ ยังมีกิเลสอยู่ครบทั้งโลภะ โทสะ โมหะ   ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีความประพฤติที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นธรรมดา ตามกำลังของกิเลส เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล โทษของตนเองเป็นสิ่งที่เห็นได้ยากอย่างยิ่ง ดังนั้น บุคคลผู้ที่มีเมตตา มีความหวังดี ท่านจึงเสียสละเวลาเพื่อที่จะแนะนำ ตักเตือน ชี้แนวทางที่ถูกต้องให้ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ที่เห็นประโยชน์จากคำแนะนำ จากคำพร่ำสอนนั้น ได้เห็นโทษภัยของกิเลส ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงแล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมขัดเกลากิเลสของตนเอง ต่อไป บุคคลผู้น้อมรับคำพร่ำสอนโดยความเคารพนี้ เป็นผู้ว่าง่าย   เป็นผู้ที่พิจารณาด้วยปัญญาแล้วเห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด เป็นต้น  บุคคลผู้ว่าง่ายต่อคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ย่อมจะเป็นผู้มีความเจริญในกุศลธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าจะมีปัญญาเจริญขึ้นถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต มีท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ เป็นต้น ล้วนเป็นผู้ว่าง่ายต่อคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาแล้วทั้งนั้น จึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย

บุคคลผู้ว่าง่ายย่อมเป็นผู้มีที่พึ่ง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ที่ไม่น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม นั่นคือผู้ที่ว่ายาก บุคคลผู้ว่ายาก  ไม่น้อมรับคำพร่ำสอนโดยเคารพ จะไม่สามารถมีธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้เลย ซึ่งไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรมประการต่างๆ เช่น ความไม่พอใจ ความติดข้องต้องการ ความถือตัว และ ความถือรั้นยึดมั่นในความเห็นของตนเอง ที่ทำให้เป็นคนว่ายาก  

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงควรอย่างยิ่งที่จะไม่เป็นคนว่ายาก แต่เป็นคนว่าง่ายที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบ มีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วย เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง  เพราะกิเลสมีมาก ถ้าไม่ขัดเกลาด้วยกุศลธรรม นับวันกิเลสมีแต่จะพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ที่จะประคับประครองให้ตนเองเป็นผู้มีความมั่นคงในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมปัญญาไปตามลำดับ และ น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมต่อไป เพราะเหตุว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว เท่านั้น เป็นสิ่งเดียวที่บุคคลทั้งหลายจะพึ่งได้อย่างแท้จริง เป็นแสงสว่างนำทางชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ