อรรถกถาภิกขุนีสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในภิกขุนีสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า เอหิ ตฺวํ ได้แก่ ภิกษุณีมีจิตปฏิพัทธ์ในพระเถระ จึงกล่าวอย่างนี้ เพื่อส่งบุรุษนั้นไป. บทว่า สสีสํ ปารุปิตฺวา ได้แก่ คลุมกายตลอดศีรษะ. บทว่า มญฺจเก นิปชฺชิ ได้แก่ ภิกษุณีรีบลาดเตียงแล้วนอนบนเตียงนั้น. บทว่า เอตทโวจ ความว่า พระอานนท์สังเกตอาการของภิกษุณีนั้น. จึงได้กล่าวกะภิกษุณีนั้น เพื่อแสดงอสุภกถาโดยนิ่มนวล เพื่อให้ภิกษุณีละความโลภ.
บทว่า อาหารสมฺภูโต ได้แก่ ร่างกายนี้เกิดเป็นมาเพราะอาหาร คือ เจริญขึ้นเพราะอาศัยอาหาร. บทว่า อาหารํ นิสฺสาย อาหารํ ปชหติ ความว่า บุคคลอาศัยกวฬีการาหารอันเป็นปัจจุบัน เสพอาหารนั้นโดยแยบคายอย่างนี้ ย่อมละอาหาร กล่าวคือกรรมเก่า พึงละตัณหา อันเป็นความใคร่ในกวฬีการาหารแม้อันเป็นปัจจุบัน. บทว่า ตณฺหํ ปชหติ ความว่า บุคคลอาศัยตัณหาอันเป็นปัจจุบันที่เป็นไปแล้วอย่างนี้ ในบัดนี้ ย่อมละบุพตัณหาอันมีวัฏฏะเป็นมูล.
ถามว่า ก็ตัณหาอันเป็นปัจจุบันนี้เป็นกุศลหรืออกุศล.ตอบว่า เป็นอกุศล. ถามว่า ควรเสพหรือไม่ควรเสพ. ตอบว่า ควรเสพ.ถามว่า จะชักปฏิสนธิมาหรือไม่ชักมา. ตอบว่า ไม่ชักมา. แต่ควรละความใคร่ในตัณหาที่ควรเสพ อันเป็น ปัจจุบันแม้นี้เสียทีเดียว.
บทว่า กิมงฺคํ ปน ในบทว่า โส หิ นาม อายสฺมา อาสวานํ ขยา ฯเปฯ อุปสมฺปชฺช วิหริสฺสติ กิมงฺคํ ปนาหํ นี้ นั่นเป็นความปริวิตกถึงเหตุ. ท่านอธิบายข้อนี้ไว้ว่า ภิกษุนั้นจักทำอรหัตตผลให้แจ้งอยู่ ด้วยเหตุไรเราจึงจักไม่ทำให้แจ้งอยู่เล่า แม้ภิกษุนั้น ก็เป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เรา ก็เป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน อรหัตตผลนั้น จักเกิดแก่เราบ้าง.
บทว่า มานํ นิสฺสาย ได้แก่ อาศัยมานะที่ควรเสพอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้.บทว่า มานํ ปชหติ ได้แก่ บุคคลละบุพมานะอันมีวัฏฏะเป็นมูล. อธิบายว่าก็บุคคลนั้น อาศัยมานะใดละมานะนั้นได้ แม้มานะนั้นก็เป็น อกุศล ควรเสพและไม่ชักปฏิสนธิมาดุจตัณหา แต่ควรละความใคร่แม้ในมานะนั้นเสีย.
บทว่า เสตุฆาโต วุตฺโต ภควตา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพุทธะตรัสสอนให้ทำลายทาง คือ ทำลายปัจจัยเสีย. เมื่อพระเถระยักเยื้องเทศนาด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล้ว ฉันทราคะ อันปรารภพระเถระเกิดขึ้นแก่ภิกษุณีนั้นได้หมดไปแล้ว. แม้ภิกษุณีนั้นก็ขอโทษที่ล่วงเกินเพื่อให้พระเถระยกโทษให้.แม้พระเถระก็รู้โทษที่ล่วงเกินของภิกษุณีนั้น. เพื่อแสดงถึงข้อนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า อถโข สา ภิกฺขุนี ดังนี้.
จบอรรถกถาภิกขุนีสูตรที่ ๙