[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 208
[๕๒๘] รูปที่เรียกว่า กายวิญญัติ นั้น เป็นไฉน
ความเคร่งตึง กิริยาที่เคร่งตึงด้วยดี ความเคร่งตึงด้วยดี การแสดงให้รู้ความหมาย กิริยาที่แสดงให้รู้ความหมาย ความแสดงให้รู้ความหมายแห่งกายของบุคคลผู้มีจิตเป็นกุศล หรือมีจิตเป็นอกุศล หรือมีจิตเป็นอัพยากฤตก้าวไปอยู่ ถอยกลับอยู่ แลดูอยู่ เหลียวซ้ายแลขวาอยู่ คู้เข้าอยู่ หรือเหยียดออกอยู่ อันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า กายวิญญัติ.
อรรถกถา กายวิญญัตตินิทเทส
พึงทราบวินิจฉัยในกายวิญญัตินิทเทสต่อไป. ในข้อว่า กายวิญญัตติ นี้ก่อน.
สภาวะที่ชื่อว่า วิญญัตติ เพราะอรรถว่าความที่คนทั้งหลายก็ดี หรือสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายก็ดี ให้รู้ภาวะของตนด้วยกาย แม้สัตว์ดิรัจฉานก็รู้ความหมายของคนได้ แม้คนก็รู้ความหมายของสัตว์ได้ด้วยสภาวธรรมที่ถือเอานี้โดยทำนองแห่งการถือเอากาย.
อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า วิญญัตติ เพราะอรรถว่า ตนเองย่อมให้ผู้อื่นรู้ได้โดยทำนองแห่งการกำหนดกาย. วิญญัตติคือกาย กล่าวคือการไหวกาย ที่ตรัสไว้ในคำมีอาทิว่า กาเยน สํวโร สาธุ (การสำรวมกายเป็นการดี) ดังนี้ชื่อว่า กายวิญญัตติ.
อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า กายวิญญัตติ เพราะอรรถว่า ย่อมแสดงให้รู้ด้วยกาย เพราะเป็นเหตุให้รู้ความประสงค์ด้วยการไหวกายต่างๆ และเพราะตนเองก็จะพึงรู้โดยประการนั้น.
ในคำมีอาทิว่า กุสลจิตฺตสฺส วา (ของบุคคลผู้มีจิตเป็นกุศล) อธิบายว่า จิตของบุคคลผู้มีจิตเป็นกุศลด้วยจิต ๙ คือ กามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง อภิญญาจิต ๑ ดวง หรือผู้มีจิตเป็นอกุศลด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวง หรือมีจิตที่เป็นอัพยากฤต ด้วยกิริยาจิต ๑๑ ดวง คือ มหากิริยาจิต ๘ ดวง ปริตตกิริยาจิต ๒ ดวง อภิญญาที่เป็นรูปาวจรกิริยาจิต ๑ ดวง อื่นๆ จากนี้ย่อมไม่ยังวิญญัตติให้เกิดได้.
ก็พระเสกขะ พระอเสกขะ และปุถุชน ก็มีวิญญัตติด้วยจิตมีประมาณเท่านี้แหละ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงวิญญัตติโดยเป็นเหตุด้วยบททั้ง ๓ ด้วยสามารถแห่งธรรมมีกุศลเป็นต้นเหล่านี้ (คือ กุศล อกุศล กิริยา) .บัดนี้ เพื่อทรงแสดงวิญญัตติโดยผลด้วยบททั้ง ๖ จึงตรัสว่า อภิกฺกมุนฺตสส วา (ก้าวไปอยู่) เป็นต้น.
จริงอยู่ การก้าวไปเป็นต้น ชื่อว่า ผลของวิญญัตติ เพราะเป็นไปด้วยอำนาจวิญญัตติ. บรรดาบททั้งหลายมีการก้าวไปเป็นต้นเหล่านั้น
บทว่า อภิกฺกมนฺตสฺส (ก้าวไปอยู่) ได้แก่ นำกายไปข้างหน้า.
บทว่า ปฏิกฺกมนฺตสฺส (ถอยกลับอยู่) ได้แก่ นำกายกลับมาข้างหลัง.
บทว่า อาโลเกนฺตสฺส (แลดูอยู่) ได้แก่ แลดูตรงๆ .
บทว่า วิโลเกนฺตสฺส ได้แก่ แลดูทางโน้นแลดูทางนี้.
บทว่า สมฺมิญฺชนฺตสฺส (คู้เข้าอยู่) ได้แก่ งอข้อต่อทั้งหลาย.
บทว่า ปสาเรนฺตสฺส (เหยียดออกอยู่) ได้แก่ เหยียบข้อต่อทั้งหลาย.
บัดนี้ เพื่อแสดงวิญญัตติโดยสภาวะด้วยบททั้ง ๖ จึงตรัสว่า กายสฺสถมฺภนา (ความเคร่งตึงของกาย) เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า กายสฺส (ของกาย) ได้แก่ ของสรีระ. สภาวะที่ชื่อว่า ความเคร่งตึง (ถมฺภนา) เพราะอรรถว่า ทำกายให้แข็งแล้วให้กระด้าง. สภาวะที่เคร่งตึงนั้นนั่นแหละตรัสเรียกว่า กิริยาที่เคร่งตึงด้วยดี (สนฺถมฺภนา) เพราะเพิ่มด้วยอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง ความเคร่งตึงมีกำลังมาก ชื่อว่า สันถัมภนา. ความเคร่งตึงด้วยดี ชื่อว่า สันถัมภิตัตตัง. ชื่อว่า วิญญัตติ (การแสดงให้รู้ความหมาย) ด้วยสามารถแห่งการให้รู้ให้เข้าใจ. กิริยาที่ให้เข้าใจความหมาย ชื่อว่า วิญญาปนา. ความแสดงให้รู้ความหมาย ชื่อว่า วิญญาปิตัตตัง. คำที่เหลือใดที่พึงกล่าวในที่นี้
คำนั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้ในทวารกถาในหนหลังแล้วแล.
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ