ความเข้าใจเรื่องพระอภิธรรมโพสท์ในลานธรรมเสวนาโดยคุณ : วิลาศินี [13 ก.พ. 2544 / 21:07:54 น.]
๑. หลักฐานเรื่องอภิธรรม ใน วินัยปิฏก เองที่เล่าถึงเรื่องสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ที่ทำเมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ไม่นานนัก และสังคายนาครั้งที่สอง ที่ทำเมื่อหลังจากพุทธปรินิพพานประมาณ ๑๐๐ ปี ก็เล่าแต่เพียงว่า ได้ทำสังคายนพระวินัยและพระธรรม ไม่ได้กล่าวถึงอภิธรรมปิฎก เมื่อพระพุทธเจ้าจะนิพพานก็ทรงแสดงเพียงว่า ธรรมะที่ทรงแสดงแล้ว วินัยที่ทรง บัญญัติแล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์ ก็กล่าวถึงแต่ธรรมะและวินัยเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงอภิธรรม
ฉะนั้น นักศึกษาพระพุทธศาสนาที่วิจารณ์ทั้งประวัติ และทั้งเนื้อความของ ปิฎกทั้งสาม จึงมีมากท่านที่ลงความเห็นว่า อภิธรรมปิฎกนั้นมีในภายหลัง แต่ว่าเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมาหลายร้อยปีเข้า จนถึงสมัยแต่งอรรถกถา ประมาณว่าพระพุทธศาสนาล่วงมาขนาดพันปี จึงได้ปรกฎหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา ที่แต่งใน สมัยนั้นถึงเรื่องประวัติของอภิธรรมว่าพระพุทธเจ้าไปเทศน์อภิธรรมแด่พระพุทธมารดา ที่ดาวดึงสพิภพ และถ้อยคำในอรรถกถาแสดงว่ามีการนับถือคัมภีร์อภิธรรมนี้เป็นอันมาก
ใครจะคัดค้านว่าอภิธรรมมิใช่พระพุทธวจนะเป็นไม่ได้ ในอรรถกถาเองได้ ประณามคนที่คัดค้านอย่างเป็นคนนอกศาสนาเลยทีเดียว แต่เพราะได้กล่าวไว้เช่น นั้น ก็บ่งว่าคงจะได้มีผู้คัดค้านมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว จึงได้เขียนไว้อย่างนั้น ท่าน (อรรถกถา) ได้แสดงหลักฐานว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อภิธรรม ได้ทรงพิจารณา อภิธรรม จนถึงได้แสดงอภิธรรมแทรกเข้าไว้อย่างมากมาย คือในหลักฐานชั้นบาลีที่มี เล่าไว้ในวินัยปิฎกว่า (๑)
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข (ความสุขที่เกิดจากวิมุตติความหลุดพ้น) ที่ควงไม้ต่างๆ ๕ สัปดาห์
สัปดาห์ที่ ๑ ประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ คือ ไม้ที่ได้ตรัสรู้
สัปดาห์ที่ ๒ ได้ประทับนั่งที่ควงไม้นิโครธ คือควงไม้ไทร
สัปดาห์ที่ ๓ ได้ประทับนั่งที่ควงไม้มุจจลินทะ คือ ควงไม้จิก
สัปดาห์ที่ ๔ ประทับนั่งที่ควงไม้ราชายตนะ คือควงไม้เกตุ
สัปดาห์ที่ ๕ ได้ประทับนั่งที่ควงไม้ไทรอีก
พระอรรถกถาจารย์ผู้เขียนตำนานอภิธรรม ได้แสดงแทรกไว้ในคัมภีร์ อรรถกถา อีก ๓ สัปดาห์ จากสัปดาห์ที่ ๓ ในบาลี (๒) คือ
สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จจากไม้มหาโพธิไปทาง ทิศอีสาน ทรงยืนถวายเนตร คือว่าจ้องดูพระมหาโพธิในที่นั้น จึงเรียกว่า อนิมิตตเจดีย์ แปลว่า เจดีย์ ที่ทรงจ้องดูโดยมิได้กระพริบพระเนตร ที่เป็นมูลให้สร้างพระถวายเนตร สำหรับวันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จจากที่นั้น มาหยุดอยู่ระหว่างมหาโพธิ อับอนิมิ ตตเจดีย์นั้น ทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้นแล้ว เสด็จจงกรม ณ ที่นั้น ที่นั้นจึงเรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์ แปลว่า ที่จงกรมแก้ว คำว่าที่จงกรมแก้วนี้ อาจารย์หนึ่งก็ว่าเป็นเรือนแก้ว ที่เป็นเทพนิรมิต อีกอาจารย์หนึ่งก็ว่ามิใช่เรือนแก้ว แต่ว่าหมายถึงที่เป็นที่ทรงพิจารณา อภิธรรม.
สัปดาห์ที่ ๔ ประทับนั่งขัดบัลลังก์ในทิศปัศจิมหรือทิศพายัพแห่งมหาโพธิ ทรงพิจารณา อภิธรรม จึงเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์ แปลว่า เรือนแก้ว คำว่าเรือนแก้วนี้ อาจารย์หนึ่งก็ว่าเป็นเรือนแก้วที่เป็นเทพนิรมิต อีกอาจารย์หนึ่งก็ว่ามิใช่เป็นเรือนแก้ว เช่นนั้น แต่หมายถึงที่เป็นที่ทรงพิจาณาอภิธรรม. รัตนฆระคือเรือนแก้วนี้ ก็เป็นมูล ให้สร้างพระพุทธรูปมีเรือนแก้ว เหมือนอย่างพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลกมี เรือนแก้ว. เมื่อท่านแทรกเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์ดั่งนี้ สัปดาห์ที่ ๒ ตามที่แสดงในบาลี ก็ ต้องเลื่อนไปเป็นที่ ๕ และก็เลื่อนไปโดยลำดับ ท่านก็ได้อธิบายไว้ด้วยว่า การที่แทรก นอกจากพระบาลีออกไปดั่งนั้น ไม่ผิดไปจากความจริง เพราะในบาลีแสดงแต่โดยย่อ เหมือนอย่างพูดว่ากินข้าวแล้วนอน ความจริงกินข้าวแล้ว ก่อนจะนอนก็ได้ มีกิจอื่น หลายอย่าง แต่ว่าเว้นไว้ไม่กล่าว ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวถึงกิจที่เว้นไว้นั้นให้บริบูรณ์
ตำนานอภิธรรมดั่งกล่าวมานี้ ได้มีกล่าวไว้ในหนังสืออรรถกถา ที่เขียนขึ้นเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้วนาน ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว และท่านก็ยังได้เล่าไว้อีกว่า คัมภีร์อภิธรรมนั้น มีเจ็ดคัมภีร์ เรียกว่า สัตตปกรณ์ ปกรณ์ ก็แปลว่า คัมภีร์ สัตตแปล ว่า ๗ สัตตปกรณ์ ก็แปลว่า ๗ คัมภีร์ คำนี้ได้นำมาใช้เมื่อบังสุกุลพระศพเจ้านาย ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปใช้คำว่า สดับปกรณ์ ก็มาจากคำว่าสัตตปกรณ์คือเจ็ดคัมภีร์นี้ เอง แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงทั้ง ๗ คัมภีร์ เว้นคัมภีร์กถาวัตถุ ทรงแสดงแต่ ๖ คัมภีร์,ส่วนคัมภีร์กถาวัตถุนั้นพระโมคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นผู้แสดง ในสมัยสังคายนา ครั้งที่สาม, แต่ว่าพระเถระก็ได้แสดงตามนัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ฉะนั้น จึง ได้ครบเจ็ดปกรณ์ ในสมัยสังคายนาครั้งที่สามนั้น และก็ถือว่าเป็นพระพุทธภาษิต ทั้งหมด เพราะพระพุทธเจ้าได้ประทานนัยไว้ ในตำนานนี้ได้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เทศน์อภิธรรมตลอดเวลาไตรมาส คือสาม เดือน โดยไม่มีเวลาหยุดยั้ง, ฉะนั้น จึงได้เกิดปัญหาขึ้น ๒ ข้อ :
ข้อ ๑ ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงบำรุงพระสรีระ เช่น เสวย และปฏิบัติสรีรกิจอย่างอื่นตลอด ไตรมาสหรือ
ข้อ ๒ พระอภิธรรมมาทราบกันในเมืองมนุษย์ได้อย่างไร? ปัญหาเหล่านี้ ท่านผู้เล่าตำนานอภิธรรมก็ได้เล่าแก้ไว้ด้วยว่า (๓) เมื่อ เวลาภิกษาจารคือเวลาทรงบิณฑบาต ก็ได้ทรงนิรมิตพระพุทธนิมิตไว้ ทรงอธิษฐาน ให้ทรงแสดงอภิธรรมตามเวลาที่ทรงกำหนดไว้แทนพระองค์ แล้วเสด็จลงมาปฏิบัติ พระสรีรกิจที่สระอโนดาต แล้วเสด็จไปเที่ยวบิณฑบาต ที่อุตรกุรุทวีปเสด็จลงมาเสวย ที่สระนั้น เสวยแล้วเสด็จไปประทับพักกลางวัน ที่นันทวัน ต่อจากนั้นก็จึงเสด็จขึ้นไปแสดงอภิธรรมต่อจากพระพุทธนิมิต และที่นันทวันนั้นเอง ท่านพระสารีบุตรได้ไปเฝ้าทำวัตรปฏิบัติ พระองค์จึงได้ประทานนัยอภิธรรมที่ทรงแสดงแล้วแก่ท่านพระสารีบุตร
ท่านพระสารีบุตรก็ได้มาแสดงอภิธรรมแก่หมู่ภิกษุที่เป็นสัทธิวิหาริกของท่านต่อไป ท่านแก้ไว้อย่างนี้ ก็เป็นอันแก้ปัญหาทั้งสองข้อนั้น ตามคำแก้ของท่านนี้เอง ก็ส่องว่าอภิธรรมมาปรากฏขึ้นในหมู่มนุษย์ก็โดยพระสารีบุตรเป็นผู้แสดงเพราะฉะนั้น เมื่อพูดกันอย่างในเมืองมนุษย์ ท่านพระสารีบุตรจึงเป็นผู้แสดงอภิธรรมนั้นเอง แต่ท่านว่า พระสารีบุตรไม่ใช่นักอภิธรรมองค์แรก พระพุทธเจ้าเป็นนักอภิธรรมองค์แรก เพราะได้ตรัสรู้อภิธรรมตั้งแต่ราตรีที่ได้ตรัสรู้ ได้ทรงพิจารณาอภิธรรมที่รัตนฆรเจดีย์ดั่งที่กล่าวมาแล้ว และได้ทรงแสดงนัยแห่งอภิธรรมแก่ท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรจึงได้มาแสดงต่อไป
ในบัดนี้ ได้มีท่านผู้หนึ่งในปัจจุบันเขียนหนังสือค้านว่า อภิธรรมปิฎกนั้น พิมพ์เป็น หนังสือได้เพียงสิบสองเล่ม ตามประวัติ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอยู่ตลอด สาม เดือนไม่มีเวลาหยุด และยังได้กล่าวอีกว่าได้มีรับสั่งเร็ว คือว่าพระพุทธเจ้าพูดเร็ว กว่ามนุษย์สามัญหลายเท่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าจะมารวมพิมพ์ขึ้น ก็จะต้องกว่าสิบ สองเล่มเป็นไหนๆ แต่เมื่อหนังสือนี้ออกไปแล้ว ได้มีผู้ที่นับถืออภิธรรม ไม่พอใจกันมาก เพราะเหตุดั่งที่ได้กล่าวแล้ว ในหลักฐานตั้งแต่ชั้นอรรถกถานั้น ได้มีผู้นับถือ อภิธรรมมาก จนถึงในบัดนี้ก็ยังมีผู้นับถืออภิธรรมกันอยู่มาก, ในพม่านั้นนับถือมาก เป็นพิเศษ จนถึงได้มีนิทานเล่าเป็นประวัติไว้ว่า เรือเชิญพระไตรปิฎกจากลังกามา ๓ ลำ และมาเกิดพายุพัดเอาเรือ ที่ทรงพระอภิธรรมปิฎกไปประเทศพม่า เอาเรือที่ทรงวินัยปิฎกไปประเทศรามัญ เอาเรือที่ทรงสุตตันตปิฎกมาประเทศไทย นี้เป็นเรื่องที่ ผูกขึ้นมานานแล้ว มาพิจารณาดูก็มีเค้าอยู่บ้าง. เพราะว่าพม่านั้นนับถืออภิธรรมมาก รามัญก็เคร่งครัดในวินัย ส่วนฝ่ายไทยนั้นอยู่ในสถานกลาง ไม่ใคร่เคร่งวินัยนัก และก็ ไม่ย่อหย่อนอย่างพม่า พอใจจะถือเอาเหตุผล ซึ่งก็สงเคราะห์ว่าเป็นฝ่ายสุตตันตปิฎก
แต่ว่าสารัตถะในอภิธรรมนั้นมีมาก ถึงท่านจะไม่แสดงประวัติให้พิสดารไว้อย่างไร สารัตถะในอภิธรรมนั้นเองก็เป็นสิ่งที่ควรจะศึกษา เมื่อศึกษาแล้ว ก็จะทำให้ได้ความรู้ ในพระพุทธศาสนาพิสดารขึ้นอีกเป็นอย่างมาก
ในสมัยการกระทำสังคายนาครั้งแรก พระอรหันต์ทั้งหลายท่านจำแนกพระธรรม คำสอนของพระพุทธองค์ไว้หลายนัย คือ คำสอนทั้งหมดนับหนึ่งก็ได้ด้วยอำนาจ รส นับจำนวนสองก็ได้ด้วยอำนาจพระธรรมวินัย นับจำนวนสามก็ได้ด้วยอำนาจ ปฐม มัชฌิม ปัจฉิม หรือโดยปิฎกสาม พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม นับโดย ห้าด้วยอำนาจนิกายห้า มีทีฆนิกาย เป็นต้น นับโดยองค์เก้า ก็ได้ด้วยอำนาจสุตตะ เป็นต้น นับโดยธรรมขันธ์ได้แปดหมื่นสีพันพระธรรมขันธ์คือคนในยุคสมัยครั้งพุทธกาลที่มีพระอริยบุคคลมากมาย ท่านไม่ได้มีความสงสัยในเรื่องพระธรรมคำสอนพระอรรถกถาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ ท่านไม่ได้ปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎก เพราะเป็นพระ พุทธพจน์จากพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระอภิธรรมนี้บุคคลผู้อื่นแสดงไม่ได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น และสาวกนำไปแสดงต่อเพื่อให้เข้าใจความจริงสอดคล้องกับพระวินัยและพระสูตร
เชิญคลิกอ่านที่นี่...
พระพุทธพจน์ [มหาวิภังค์]
เชิญคลิกอ่านที่นี่...
พระพุทธพจน์ [พรหมชาลสูตร]
๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ [อานันทเถรคาถา]
ใครจะกล้าแต่งเติมขึ้นมาเอง ผมก็ต้องขอซูฮกให้เท่านั้นแหละครับว่าเก่งจริงๆ พระ อภิธรรมเป็นส่วนที่เยอะที่สุดในสามปิฎก คือมีถึง ๔๒๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จึงยากที่จะ เชื่อได้ว่าปัญญาระดับอื่น ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธจะสามารถแต่งได้ปานนั้น โดย เฉพาะเนื้อหาก็เป็นวิชาการล้วนๆ ผมเคยได้ยินว่าตำราจิตวิทยาของซิกมันต์ ฟรอยด์ ที่โด่งดังนั้นบรรยายลักษณะทางจิตของมนุษย์ได้ไม่ถึงเศษเสี้ยวของพระอภิธรรมเลย นะครับ ไอน์สไตร์ นักวิทยาศาสตร์เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพที่ แม้ปัจจุบันก็ยังหาคนที่เข้าใจจริงๆ ได้ไม่กี่คนเท่านั้น ไอน์สไตร์บุญน้อยครับ มาพบพุทธศาสนาเอา เมื่อแก่ตัวมากแล้ว เลยไม่มีโอกาสศึกษาโดยละเอียด แต่ผมได้ยินว่าเขายอมรับว่า พุทธศาสนานั้นลึกล้ำมาก ผมแค่ได้ยินมานะครับ ใครรู้ละเอียดกว่านี้ช่วยขยายด้วยครับ
การจะตัดสินสิ่งใด ต้องศึกษาสิ่งนั้นให้ละเอียดเสียก่อน เราลองมาพิจารณา ในเรื่องของ อภิธรรมกัน ใครจะบอกอย่างไร ว่าคัมภีร์อภิธรรมจะมีหรือไม่มีก็ตาม อย่า เพิ่งเชื่อ พิสูจน์ด้วยตัวเองครับ
พิสูจน์อย่างไรว่าคัมภีร์อภิธรรมมีไหม อะไรก็ตามที่กล่าวว่ามี ต้องพิสูจน์ได้ ที่สำคัญ มีในชีวิตประจำวัน ให้พิสูจน์ เพราะอะไร เพราะเป็นสัจธรรม เป็นความจริง สิ่งที่จริง จะ บอกว่าไม่จริง ไม่มีก็ไม่ได้
พระอภิธรรม แสดงในเรื่องของสภาพธัมมะ ที่ไม่ใช่สัตว์บุคคล แต่เป็นธัมมะ เช่น จิตเห็น ใครปฏิเสธ ว่าเห็นไม่มีในชีวิตประจำวัน มีจริงไหม ก็มีจิงครับ เสียง เป็นสิ่งที่มีจริง ไหม ก็มีจริง พิสูจน์ได้ในขณะนี้ เป็นต้น ดังนั้น เราจะกล่าวถึงสิ่งใด ว่ามีจริงหรือถูก ต้องไหม ต้องศึกษาสิ่งนั้นให้ละเอียดเสียก่อน โดยเป็นความเข้าใจของตนเอง ด้วย ปัญญาของตนเอง จึงจะตัดสินได้ว่า คัมภีร์ นี้มีจริงไหม
แต่ถ้าจะกล่าวยกพระไตรปิฎก ว่าคัมภีร์ อภิธรรมไม่มี เป็นแต่เพียง อาจารย์ รุ่น อรรถกถา รุ่นหลังแสดงเอาไว้ ผมก็จะขอยกข้อความจากพระไตรปิฎก โดยตรง โดย ไม่ใช่อรรถกถาจารย์ แต่เป็นพระพุทธพจน์ ซึ่งแสดงใน พระสุตตันตปิฎกครับ ลองอ่าน ดูนะ จะได้รู้ว่าพระอภิธรรมมีจริงไหมครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่....
กล่าวอภิธรรม [มหาโคสิงคสาลสูตร]
ไม่ทราบว่าผู้ที่มีความเห็นเช่นนั้น ได้เคยศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียดหรือยังคะ? เพราะถ้าได้ศึกษาโดยละเอียด ท่านจะเห็นความอัศจรรย์ของพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ใช่วิสัยของใครๆ ที่จะคิดค้นปรุงแต่ง ดัดแปลงขึ้น มาได้ แม้แต่ศาสดาในศาสนาอื่นก็ยังไม่มีปัญญาถึงระดับนี้ ลองพิจารณาดูนะคะ
ขออนุโมทนาค่ะ ดีเหมือนกันนะคะที่ โพสต์กระทู้นี้มา เมื่อทาง มศพ. และท่านผู้รู้ผู้ศึกษาอยู่ท่าน ได้ตอบข้อซักถามมาจะพลอยทำให้ผู้ที่ยังสงสัยอยู่ได้อ่านด้วย ดิฉันเคยได้ยินคน พูดเรื่องนี้ สมัยที่ไปเรียนพระอภิธรรมปิฎกใน ระยะเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่งอยู่เหมือนกัน แต่ที่ดิฉันไม่สงสัยว่าพระอภิธรรมนั้นยาก เกินกว่าสติปัญญาของคนทั่วไปจะรู้และคิด เขียนขึ้นเองได้ก็เพราะ พูดกันเฉพาะเรื่องจิต ขณะจิต ชวนจิต เป็นต้น ละเอียด ชนิดที่ถ้าใครไม่เคยผ่านพบประสบการณ์นั้นเอง อาจพูดโดยความประมาทว่า เป็น เรื่องแต่งเอง ชีวิตนี้ของดิฉันจนปัจจุบัน เคยสติเกิดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ทำให้ ได้ซาบซึ้งถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าที่สุด ดิฉันจึงเข้าใจว่าเหตุใดพระ พุทธองค์เมื่อทรงตรัสรู้ใหม่ๆ จึงไม่น้อมพระทัยว่าจะสั่งสอนสัตว์อื่นให้รู้ตาม เพราะยากแสนยากจริงๆ ดิฉันขอกราบโดยความนอบน้อมในพระพุทธคุณ
สาธุ สาธุ สาธุ
พระอภิธรรม หมายถึง ธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่ง เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบังชา คือ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมะนั้นได้ เช่น ความโกรธมีลักษณะ มีสภาวะของตน (โทสะ) แม้ว่าจะใช้ชื่ออย่างไรก็ตาม แต่ลักษณะของความโกรธก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ขออนุโมทนาครับ