[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า ๖๒
ปารสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเครื่องให้ถึงฝั่ง (คือพระนิพพาน)
[๙๗] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๘ ประการนี้ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพี่อถึงฝั่ง (นิพพาน) จากที่มิใช่ฝั่ง (วัฏฏะ) ธรรม ๘ ประการ เป็นไฉน? คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบอาชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งมั่นชอบ ธรรม ๘ ประการนี้แลที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่งจากที่มิใช่ฝั่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๙๘] ในพวกมนุษย์ ชนที่ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย แต่หมู่สัตว์นอกนี้ ย่อมวิ่งไปตามฝั่งนั่นเอง ส่วนชนเหล่าใด ประพฤติตามในธรรมที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ชนเหล่านั้น ข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งแสนยาก ที่จะข้ามไปถึงฝั่งได้ บัณฑิต พึงละธรรมฝ่ายดำเสีย เจริญธรรมฝ่ายขาว ออกจากความอาลัย อาศัยธรรมอันไม่มีความอาลัยแล้ว พึงละกามเสีย เป็นผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ปรารถนาความยินดีในวิเวกที่สัตว์ยินดีได้ยาก บัณฑิต พึงยังตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่อง เศร้าหมองของจิต ชนเหล่าใด อบรมจิตดีแล้วโดยชอบ ในองค์เป็นเหตุให้ตรัสรู้ ไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในความสละคืนความถือมั่น ชนเหล่านั้น เป็นผู้สิ้นอาสวะมีความรุ่งเรือง ปรินิพพานแล้วในโลกนี้
จบปารสูตรที่ ๔
อ.คำปั่น: เมื่อวานได้สนทนาในประเด็นคลิปธรรมเตือนใจที่ ท่านอาจารย์ ได้สนทนาตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ เป็นการสนทนา ปารสูตร ที่ อ.อรรณพได้ตัดต่อมา ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ดีมากๆ ครับ จากฝั่งไม่รู้ สู่ฝั่งที่รู้ มีประเด็นว่า ก็ทั้งๆ ที่รู้ว่า ขณะนี้ก็กำลังอยู่ฝั่งนี้อยู่ ยังอยู่ฝั่งของกิเลส ยังอยู่ฝั่งของสังสารวัฏฏ์ ยังไม่ถึงฝั่งโน้น ก็คือฝั่งแห่งการดับกิเลสครับ ทั้งๆ ที่ทราบว่า ก็ยังอยู่ในฝั่งนี้ แต่ความเป็นไปของอกุศลก็ยังมากอยู่ ก็ยังเหมือนกับว่า ก็ยังพอใจ ยังฝักใฝ่ที่ที่จะอยู่ในฝั่งนี้อยู่ครับ อะไรครับที่จะเป็นเครื่องเตือนตรงนี้ครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์: ต้องไม่ลืม ต้องรู้ความจริง เหมือนรู้ใช่ไหม?
อ.คำปั่น: ใช่ครับ
ท่านอาจารย์: แต่ความจริง คือสิ่งนั้นต้องเป็นธรรมที่เกิดแล้ว ไม่ใช่เรา ลืมตรงนี้ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะอะไรเกิดขึ้นในขณะนั้น ความจริงถึงที่สุด ก็คือสิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น จะรู้อื่นไม่ได้ ต้องรู้สิ่งที่เราฟังแล้วฟังอีกว่า เป็นสิ่งที่มีจริง เปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะเกิดแล้ว
เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงตรงนั้น ไม่ใช่เพียงแต่จำไว้ว่า ไม่มีเรา แล้วก็มีอะไรบ้าง แต่ว่า สิ่งที่กำลังเกิดเดี๋ยวนี้ไม่รู้
เพราะฉะนั้น จะละอะไรไม่ได้เลย ถ้าไม่เข้าใจความละเอียดความลึกซึ้งของหนทางที่ว่า รู้แค่ไหน รู้แค่ฟัง แต่สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ไม่รู้ใช่ไหม?
อ.คำปั่น: ใช่ครับ
ท่านอาจารย์: แล้วถ้าไม่รู้จะละได้อย่างไร รู้แต่เพียงหนทางๆ แต่ยังไม่มีเหตุพอที่จะรู้ความจริงในขณะที่ได้เข้าใจว่า สิ่งนี้แหละ เดี๋ยวนี้แหละ เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ความเป็นจริงตามที่ได้เข้าใจ หลังจากที่ได้ฟังแล้วมั่นคง
อ.คำปั่น: ครับ ได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวถึง คำว่า ละ พอได้ฟังแล้วก็เหมือนกับอยากครับ อยากจะละ ก็กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์: แล้วละได้ไหม?
อ.คำปั่น: ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์: แล้วจะอยากทำไม เห็นไหม? ความไม่รู้มากมายมหาศาลปิดบังรอบด้าน จนกว่าความรู้จะค่อยๆ เข้าใจถูกตามความเป็นจริงโดยการฟังแล้วไตร่ตรอง และค่อยๆ เข้าใจ นั่นคือขณะนั้นเป็นปัญญาเริ่มค่อยๆ เกิดขึ้นทำกิจของปัญญาตามลำดับของความเข้าใจ ซึ่งยากมากที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตามที่ได้ฟัง
อ.คำปั่น: เป็นข้อความที่ไพเราะมาก เป็นประโยชน์ที่สุดเลยครับ ทีนี้เมื่อวานก็ได้สนทนาอีกประเด็นหนึ่งต่อเนื่องว่า คือได้ฟังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงว่า คือธรรม คือสิ่งที่มีจริงแต่ละขณะๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ทีนี้ก็มีคำว่า มีหรือไม่มี ครับ คือหมายความว่า เวลาที่ได้ฟังว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง อันนี้ได้ฟังก็ได้ค่อยๆ เข้าใจว่า คือสิ่งที่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไป ก็คือไม่มี อยากจะให้ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงความละเอียดของความเป็นไปของธรรมที่ว่า มี แล้วก็ไม่มีคืออย่างไร ครับ
ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้มีอะไร?
อ.คำปั่น: เดี๋ยวนี้มี เห็น ครับ
ท่านอาจารย์: แล้วได้ยินเกิดขึ้น และเห็นมีไหม?
อ.คำปั่น: ขณะที่ได้ยินเกิดขึ้น เห็นไม่มีครับ
ท่านอาจารย์: ตรงกับที่ได้ฟังหรือเปล่า?
อ.คำปั่น: ตรงเลยครับ แต่ก็เร็วเหมือนกับพร้อมกันเลยครับ
ท่านอาจารย์: ไม่ผิดจากที่ได้ฟัง แต่ต้องตรงจริงๆ
อ.คำปั่น: ต้องตรงจริงๆ ครับ ชัดเจนครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น การฟังแต่ละครั้ง ก็คือเริ่มที่จะเข้าใจ และมั่นคงขึ้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ความจริงเกิดแล้ว จะไปทำอะไร?
อ.คำปั่น: ความจริงเกิดแล้ว ทำอะไรไม่ได้เลยครับ
ท่านอาจารย์: นี่แหละ จนกว่าจะมั่นคง
อ.คำปั่น: ครับ ก็ค่อยๆ ได้สะสมความเข้าใจครับ ได้ฟังแล้วก็มีคำที่ท่านอาจารย์ได้กล่าว เป็นเครื่องเตือนให้ไม่ลืมในความเป็นจริงของธรรมว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ
ขอเชิญอ่านได้ที่..
๖. โอริมสูตร ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น
ฝั่งนี้ ... ฝั่งโน้น
ขอเชิญฟังได้ที่..
ฝั่งนี้-ฝั่งโน้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ
กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยความเคารพค่ะ