สัพเพ ธรรมมาอนัตตา......อยากได้คำอธิบายจังครับ
โดย prapan  13 มี.ค. 2551
หัวข้อหมายเลข 7873

การเห็นเป็นธรรมชาติ อย่างหนึ่งซึ่งเป็นอนัตตา อยากให้ผู้รู้ แสดงความคิดเห็น และสอนผมหน่อยครับ ว่ามันเป็นอนัตตา อย่างไรครับ



ความคิดเห็น 1    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 13 มี.ค. 2551

ขณะต่อไปจะเห็นอะไร ทราบมั้ยค่ะ?

แล้วบังคับไม่ให้เห็นได้มั้ยค่ะ?

จะบังคับให้เห็นแต่สิ่งดีๆ ได้มั้ยค่ะ?

ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยจริงๆ ค่ะ คือ วิบากอันเป็นทางที่จะให้เสวยผลของกรรม


ความคิดเห็น 2    โดย suwit02  วันที่ 13 มี.ค. 2551

ผมขอแสดงความเห็นในเรื่องนี้ หากขาดตกบกข้อพร่องอย่างไรท่านทั้งหลายได้โปรด แก้ไขเพิ่มเติมให้ด้วยครับ

การที่จะเข้าใจเรื่องอนัตตาให้ง่ายนั้น ต้องดูที่มาของคำนี้ครับคือ พระสัมพุทธเจ้าทรงตรัสถึงอนัตตา เพื่อปฏิเสธความสุดโต่งของของเจ้าลัทธิ ๒ สำนักที่เป็นปฎิปักษ์ต่อกันคือ ลัทธิ อัตตากับลัทธิสุญญตา

ลัทธิอัตตา (สัสสตทิฏฐิ) นั้นถือว่า แม้ร่างกายจะแตกทำลายไปแล้ว ก็ยังมีอัตตาหรืออาตมัน หรือที่ไทยเราเรียกว่า วิญญาณ (ไม่ใช่ในอภิธรรม) ซึ่งจะไม่แตกทำลายไปกับร่างกาย แต่อาตมันจะยืนยงอยู่เป็นนิรันดร และอาตมัน/วิญาณ นี้เอง ที่ไปอยู่กับพรหมบ้างขึ้นสวรรค์บ้าง ตกนรกบ้าง วนเวียนไปในภูมิต่างๆ ตามกรรม ไม่มีสิ้นสุด เรื่องอาตมันเป็นนิรันดรนี้ ศาสนาฮินดูกับศาสนาคริสต์เห็นตรงกัน ในหลักการ แต่รายละเอียดเรื่อง กรรม สวรรค์ นรก ต่างกัน อนึ่งอาจารย์ของพระสิทธัตถะโพธิสัตว์คือ ดาบสทั้งสองก็ร่วมอยู่ในลัทธิอาตมันนี้ด้วย ลัทธิสุญญตา (อุจเฉททิฎฐิ) นั้นถือว่าเมื่อร่างกายแตกทำลายไปแล้ว ก็จบสิ้น ไม่มีอาตมันหรืออะไรเหลืออยู่เลย ลัทธินี้ร้ายแรงน่ากลัวมาก เพราะปฏิเสธ กรรม นรก สวรรค์ หรือที่ไทยเราพูดว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป

พระสัมพุทธเจ้า ทรงปฎิเสธลัทธิสุดโต่งทั้งสองโดยทรงปฏิเสธลัทธิอัตตาว่า ถึงจะมีการเวียนว่ายตายเกิดจริง ดังที่ลัทธินี้อ้าง และถึงจะมีผู้ไปเสวยผลกรรมดีและชั่วตามที่ได้ทำไว้จริงก็ตาม (กรณีพระอรหันต์ ทรงแยกกล่าว) แต่การมีอยู่นั้น มีอยู่โดยอาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น (สังขตธรรม) ไม่ใช่ มีอยู่โดยไร้เหตุให้เกิด ไม่ใช่มีอยู่มาแล้วแต่อดีตอนันตกาล ไม่ใช่ มีอยู่อย่างยืนยง และเมื่อเหตุปัจจัยดับไป สังขตธรรมนี้ ก็ไม่เที่ยงดับไปด้วย

ดังนั้นชาวพุทธเราจึงมักกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นอนันตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะสังขตธรรมเหล่านี้ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ถ้ามีเหตุปัจจัยให้สังขตธรรมเกิด ถึงไม่ปรารถนาให้เกิดก็ต้องเกิด ถ้าเหตุปัจจัยดับไปถึงคร่ำครวญ ปรารถนาให้ดำรงอยู่ก็ต้องดับไป ถึงมีอยู่ ก็มีอยู่อย่างปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อาจถือเป็นอัตตา/อาตมัน อันยืนยง โดยไร้เหตุ เป็นนิรันดรได้

ด้วยเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า อนัตตา ไม่ใช่อาตมัน ดังนี้และไม่ตรัสว่าสุญญตา เพราะทรงปฏิเสธความขาดสูญ ของสังขตธรรมทรงแสดงความสืบต่อของสังขตธรรมว่า หากยังมีเหตุคือ ตัณหาและอวิชชา แล้ว ภพย่อมมี ดังนี้

ส่วนทำอย่างไรจึง มีปัญญาแทงตลอดถึงความเป็นสังขตธรรมของสังขารทั้งหลาย ทำอย่างไรจึงจะแทงตลอดถึงความสืบต่อ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสังขารทั้งหลายนั้น ท่านอาจารย์สุจินต์ ของเราทั้งหลาย ท่านพร่ำสอนไว้ดีแล้ว ขอเชิญศึกษา หนทางสายเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์นั้นเถิดครับ

ขอพระสัทธรรม ทำให้ใจของคุณเบิกบาน


ความคิดเห็น 3    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 13 มี.ค. 2551

เอ่อ ท่าน suwit02 ค่ะ เจ้าของกระทู้ท่านถามถึงความเป็นอนัตตาของการเห็นน่ะค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 13 มี.ค. 2551

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา อธิบายโดย ๒ นัยดังนี้

ที่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาหมายถึง ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน มีแต่สภาพธรรมจึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา ตัวตน เห็นเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา หรือตัวตนที่เห็น เป็นต้น ที่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หมายถึงบังคับบัญชาไม่ได้ สภาพธรรมทั้หลายเกิดขึ้นไม่มีใครบังคับให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีใครบังคับให้ไม่ดับไปได้ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ครับ เห็นเป็นสภาพธรรมเกิดขึ้นจึงเห็น ถ้าไม่เกิดขึ้นก็เห็นไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สภาพธรรมที่เห็นก็ดับไป บังคับไม่ได้ที่จะไม่ให้ดับเพราะเมื่อมีปัจจัยปรุงแต่ง (เกิดขึ้น) สิ่งนั้นก็ต้องดับไปด้วยครับ


ความคิดเห็น 5    โดย suwit02  วันที่ 14 มี.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 3 โดย ไตรสรณคมน์เอ่อ...ท่าน suwit02 ค่ะ เจ้าของกระทู้ท่านถามถึงความเป็นอนัตตาของการเห็นน่ะค่ะ

ครับ คือผมใส่ใจ หัวข้อ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ที่ท่านผู้ถาม ตั้งเป็นหัวข้อกระทู้ไว้ ผมเลือกตอบแนวนั้น เพราะถ้ามีความเห็นร่วมกันในเรื่อง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา หรือที่ผมพูดเป็นไทยว่า ชาวพุทธเราจึงมักกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นอนันตา แล้วจากตรงนี้ เราแจกแจงได้ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ (รวม ตา และการเห็นรูป) ล้วนเป็นอนัตตาทั้งสิ้น และหากต้องการละเอียดเราก็แจกแต่ละส่วนย่อยไปได้อีกว่า ขันธ์ นั้นๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เกิดดับ เป็นสันตติสืบต่อภพไปดังนี้ก็ได้ครับ การแจกแจงเช่นนี้ เป็นพุทธวิสัย ต้องหยั่งรู้อัธยาศัยผู้ฟังครับ ขอให้พระสัทธรรม ทำให้ใจของคุณเบิกบาน


ความคิดเห็น 6    โดย ajarnkruo  วันที่ 14 มี.ค. 2551

เห็นมีจริงไหม? มีจริง เห็นเมื่อไร? เมื่อมีเห็น (จักขุวิญญาณ) , สิ่งที่เห็น (รูปารมณ์) และทางที่จะให้เห็นเกิด (จักขุปสาท) มาประชุมรวมกัน เห็นเมื่อไร? ขณะนี้ ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ เห็นเมื่อวานมีไหม? เห็นเมื่อวานมีรู้ได้อย่างไรว่าเห็นเมื่อวานมี? คิด ทำไมถึงคิดได้ว่าเห็นเมื่อวานมี? จำ เห็นเมื่อวานอยู่ที่ไหน? ไม่มีแล้ว เห็นเมื่อวานเป็นของใครไหม? หมดแล้ว ไม่เป็นของใคร เห็นตอนนี้ล่ะ เห็นเป็นเห็น เห็นเป็นเรา เป็นเราเห็น? ความจริง คือเห็นเป็นเห็น เปลี่ยนเป็นสภาพได้ยิน ได้กลิ่น คิดนึกไม่ได้ แต่ยังมีการยึดถือไว้ว่า เห็นเป็น เรา เป็นเราเห็น อะไรยึดไว้? สักกายทิฏฐิที่เกิดร่วมโลภมูลจิต อะไรที่เป็นเหตุให้ยังยึดไว้? อวิชชาเป็นเหตุให้ยังยึดไว้ แล้วเกี่ยวกับอนัตตาอย่างไร? ...โปรดกลับไปอ่านความคิดเห็นที่ 1


ความคิดเห็น 7    โดย prapan  วันที่ 14 มี.ค. 2551

-ขออนุโมทนากับความคิดเห็นอันเป็นกุศลจิตของทุกท่านครับ

ขอความมีปัญญาและ การขัดเกลากิเลส จงงอกงามในสาธุชนทุกท่านนะครับ


ความคิดเห็น 8    โดย wannee.s  วันที่ 14 มี.ค. 2551

การเห็นก็เป็นอนัตตา มีแล้วไม่มี เห็นขณะนี้ดับไปแล้ว เห็นขณะใหม่เกิดขึ้น และการเห็นขณะก่อนก็ไม่มีวันกลับมาให้เห็นอีกแต่เราไม่รู้สึก เพราะมีการเห็นใหม่เกิดดับสืบต่อทำให้ไม่เห็นความเป็นอนัตตา อนัตตาจะรู้ได้ต่อเมื่อปัญญาเกิดจึงจะรู้ค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย suwit02  วันที่ 15 มี.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 3 โดย ไตรสรณคมน์เอ่อ...ท่าน suwit02ค่ะ เจ้าของกระทู้ท่านถามถึงความเป็นอนัตตาของการเห็นน่ะค่ะ

ผมคิดดูตามคำท้วงติงของคุณแล้วเห็นว่าที่ผมหวังให้ผู้ถามแจกแจง ประเด็นย่อยเองนั้นเป็นการผลักภาระกลับคืนแก่ผู้ถาม ผมจึงตั้งกระทู้ใหม่ คือ 07902

ขอเชิญ คุณ และท่านผู้ถาม พิจารณากระทู้ใหม่นี้ด้วยครับ


ความคิดเห็น 10    โดย อิสระ  วันที่ 15 มี.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ


ความคิดเห็น 11    โดย ไรท์แจกแล้วไง  วันที่ 19 เม.ย. 2551
และจะเข้าใจมากขึ้นเมื่อสติเกิดระลึกในสภาพธรรมต่างๆ จนไม่ต้องคำนึงถึงมีคำอธิบาย

ความคิดเห็น 12    โดย Sea  วันที่ 7 มี.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ