ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อันเนื่องด้วย "ทานมัย"
ข้อความบางตอน จากหนังสือ บุญญกิริยาวัตถุ โดย อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ทานมัย ซึ่งสำเร็จด้วยการให้สิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ผู้ที่มีอัธยาศัย ในทานกุศล เห็นคุณประโยชน์ของการให้ ว่าเป็นการขัอเกลากิเลสของตน ย่อมเจริญทานกุศลยิ่งขึ้น การให้ที่ดีที่สุดนั้น คือการให้ที่ไม่หวังผล ไม่หวังลาภยศ สรรเสริญใดๆ ที่จะพึงได้รับจากการให้ แต่เป็นเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ควรกระทำ
จากการให้ทานเรายังทำกุศลต่อไปได้อีกโดย อุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำทานนั้นให้ผู้อื่นได้รู้ เพื่ออนุโมทนา ผู้ที่ทำทานกุศล ยังเกิดกุศลวิตกเพิ่มขึ้นในขณะ ที่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่น จากการให้ทาน กุศลจิตยังเกิดต่อได้อีก เมื่อระลึกถึง ทานกุศลที่ได้กระทำแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ได้ทำทานกุศลเป็นนิจ จิต ย่อมสงบ ผ่องใส มั่นคง
สำหรับคนที่คิดว่าไม่สามารถให้ได้ เพราะตนเองมีไม่พอ ก็ควรทราบว่า ทานการให้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นทรัพย์สิน ของมีค่ามากมาย แต่ขณะใดที่ได้เผื่อแผ่แบ่งปันสิ่งที่มีอยู่ จะน้อยหรือมาก จะดีหรือเลว ก็เป็นกุศล ดังข้อความใน พระสูตร อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สีหนาท วรรคที่ ๒ เวลามสูตร (ข้อ ๒๒๔)
เมื่อครั้งที่ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีท่านยากจนลง
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคคประทับอยู่ ณ พระวิหาร เชตวัน ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระองค์ตรัสถามท่านว่า ท่านยังให้ทานอยู่หรือ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ทูลให้ทรงทราบว่า ท่านยังให้ทานอยู่ แต่ว่าทานที่ท่าน ให้นั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นแต่เพียงปลายข้าว และน้ำข้าวเท่านั้น
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสแสดงความละเอียดของทานว่า "ผู้ที่ให้ทานที่เศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม ถ้าให้โดยไม่คารพนอบน้อม ไม่ให้ด้วยมือของตน หรือว่าให้ของเหลือๆ และไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม เมื่อทานนั้นให้ผล จิตของผู้นั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี กามคุณอย่างดี และแม้แต่บริวารของผู้นั้น เช่น บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ ย่อมไม่เชื่อฟัง แต่ถึงแม้ว่าวัตถุทานนั้นจะเศร้าหมอง
แต่ผู้ให้ ให้ด้วยความเคารพนอบน้อม ให้ของที่มิใช่ของเหลือ และเป็นผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม ผลของทานนั้นก็ตรงกันข้ามกับผู้ที่ให้ด้วยความไม่นอบน้อมและไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม
ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีความพอดี ตามควรแก่เพศและฐานานุรูป ของแต่ละบุคคล การกระทำทุกอย่างเกินความพอดี ตึงไปหรือ หย่อนไปก็ย่อนำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้ หากเจตนาการให้ผ่องใสทั้ง ๓ กาล คือ เป็นกุศลทั้งในขณะที่คิดจะให้ กำลังให้ หลังจากให้แล้ว ถึงจะให้อะไรๆ สักเท่าไร ก็ไม่ตึงไป เพราะไม่มีอกุศลจิตเกิดขึ้น อันเนื่องจากการให้ทานนั้น
เพียงเผื่อแผ่เจือจาน แม้เศษอาหารให้กับสัตว์ ด้วยจิตเมตตาอนุเคราห์ ขณะนั้นก็เป็นกุศลที่เป็นทาน บางครั้งความสุข ความแช่มชื่นใจ ของเราก็ เกิดจากการประพฤติ ปฏิบัติระหว่างเรา และผู้ที่มีความ สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของรา เกิดจากการ เป็นผู้รับ และ ผู้ให้ ตามกาลสมควร
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๗๔
ข้อความบางตอนจาก.. สาธุสูตร
[๑๐๐] ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานได้เป็นการดี ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธา ก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่บุคคล ผู้มีธรรมอันได้แล้วยิ่ง เป็นการดี
อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ยิ่ง เป็นการดี อนึ่ง ความสำรวมแม้ในสัตว์ทั้งหลายยิ่งเป็นการดี บุคคลใด ประพฤติเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายอยู่ ไม่ทำบาป เพราะกลัวความติเตียนแห่งผู้อื่นบัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคล ซึ่งเป็นผู้กลัวบาป แต่ไม่สรรเสริญบุคคลผู้กล้าในการทำบาปนั้น สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำบาปเพราะความกลัวบาปแท้จริง.
ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคำนี้ กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต
[๑๐๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยปริยาย แต่ว่าพวกท่านจงฟังคำของเราบ้าง ก็ทานอันบัณฑิตสรรเสริญแล้วโดยส่วนมากโดยแท้ ก็แต่ธรรมบท (นิพพาน) แหละประเสริฐกว่าทาน เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญาในกาลก่อนก็ดี ในกาลก่อนกว่าก็ดี บรรลุซึ่งนิพพานแล้วแท้จริง
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาครับ