๑๐. ยุคนัทธสูตร ว่าด้วยมรรค ๔ ประการ
โดย บ้านธัมมะ  24 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38963

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 402

จตุตถปัณณาสก์

ปฏิปทาวรรคที่ ๒

๑๐. ยุคนัทธสูตร

ว่าด้วยมรรค ๔ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 402

๑๐. ยุคนัทธสูตร

ว่าด้วยมรรค ๔ ประการ

[๑๗๐] สมัยหนึ่ง พระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ท่านเรียกภิกษุทั้งหลายในที่นั้นมา ฯลฯ แสดงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลาย สหธรรมิกผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม พยากรณ์ การบรรลุพระอรหัตในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ โดยประการทั้งปวง หรือว่าด้วยมรรคใดมรรคหนึ่งในมรรค ๔ นั้น มรรค ๘ เป็นไฉน

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บำเพ็ญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอบำเพ็ญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้าอยู่ มรรคย่อมบังเกิดขึ้น เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอส้องเสพเจริญการทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บำเพ็ญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า เมื่อเธอบำเพ็ญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้าอยู่ มรรคย่อมบังเกิดขึ้น เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอส้องเสพเจริญการทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันไป เมื่อเธอบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนาเป็นคู่กันไปอยู่ มรรคย่อมบังเกิดขึ้น เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้นเมื่อเธอส้องเสพเจริญกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป

อีกอย่างหนึ่ง ใจของภิกษุปราศจากอุทธัจจะในธรรมแล้ว สมัยนั้นจิตนั้นย่อมตั้งมั่น หยุดนิ่งอยู่ภายในเป็นหนึ่งแน่วแน่เป็นสมาธิ มรรคย่อมเกิดแก่


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 403

ภิกษุนั้น เธอส้องเสพเจริญกระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอส้องเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยก็ย่อมสิ้นไป

อาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม มาพยากรณ์การบรรลุพระอรหัตในสำนักของเรา ด้วยมรรค ๔ นี้ โดยประการทั้งปวง หรือด้วยมรรคใดมรรคหนึ่งใน ๔ มรรคนั้น.

จบยุคนันธสูตรที่ ๑๐

จบปฏิปทาวรรคที่ ๒

อรรถกถายุคนัทธสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในยุคนัทธสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สมถปุพฺพงฺคมํ ได้แก่ ทำสมถะไปเบื้องหน้า คือ ให้เป็นปุเรจาริก. บทว่า มคฺโค สญฺชายติ ได้แก่ โลกุตรมรรคที่ ๑ ย่อมเกิดขึ้น. บทว่า โส ตํ มคฺคํ. ความว่า ชื่อว่าอาเสวนะเป็นต้น ไม่มีแก่มรรคอันเป็นไปในขณะจิตเดียว. แต่เมือยังมรรคที่ ๒ ให้เกิดขึ้น ท่านกล่าวว่า เธอส้องเสพเจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นนั่นแล. บทว่า วิปสฺสนา ปุพฺพงฺคมํ ได้แก่ทำวิปัสสนาไปเบื้องหน้า คือ ให้เป็นปุเรจาริก บทว่า สมถํ ภาเวติ ความว่า โดยปกติผู้ได้วิปัสสนาตั้งอยู่ในวิปัสสนา ย่อมยังสมาธิให้เกิดขึ้น.

บทว่า ยุคนทฺธํ ภเวติ ได้แก่ เจริญทำให้เป็นคู่ติดกันไป. ในข้อนั้น ภิกษุไม่สามารถจะใช้จิตดวงนั้นเข้าสมาบัติ แล้วใช้จิตดวงนั้นนั่นแล พิจารณาสังขารได้. แต่ภิกษุนี้เข้าสมาบัติเพียงใด ย่อมพิจารณาสังขารเพียงนั้น พิจารณาสังขารเพียงใด ย่อมเข้าสมาบัติเพียงนั้น. ถามว่า อย่างไร.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 404

ตอบว่า ภิกษุเข้าปฐมฌาน ครั้นออกจากปฐมฌานแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลาย ครั้นพิจารณาสังขารทั้งหลายแล้ว เข้าทุติยฌาน ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ครั้นออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนี้ชื่อว่าเจริญปฐมวิปัสสนาให้เป็นคู่ติดกันไป. บทว่า ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตํ ความว่า อันอุทธัจจะได้แก่วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ในธรรมคือสมถะและวิปัสสนาจับแล้ว คือ จับดีแล้ว. ด้วยบทว่า โหติ โส อาวุโส สมโย นี้ท่านกล่าวถึงกาลที่ได้สัปปายะ ๗. บทว่า ยนฺตํ จิตฺตํ ได้แก่ จิตที่ก้าวลงสู่วิถีแห่งวิปัสสนาในสมัยใดเป็นไปแล้ว. บทว่า อชฺฌตฺตํเยว สนฺติฏติ ความว่า จิตก้าวลงสู่วิถีแห่งวิปัสสนาแล้วหยุดอยู่ในอารมณ์ อันได้แก่ อารมณ์ภายในนั้นนั่นเอง. บทว่า สนฺนิสีทติ ได้แก่ นิ่งโดยชอบ ด้วยอำนาจของอารมณ์. บทว่า เอโกทิ โหติ ได้แก่ จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง. บทว่า สมาธิยติ ได้แก่จิตตั้งไว้โดยชอบ คือตั้งไว้ดีแล้ว. คำที่เหลือในสูตรนี้ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

จบอรรถกถายุคนัทธสูตรที่ ๑๐

จบปฏิปทาวรรควรรณนาที่ ๒

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สังขิตตสูตร ๒. วิตถารสูตร ๓. อสุภสูตร ๔. ปฐมขมสูตร ๕. ทุติยขมสูตร ๖. อุภยสูตร ๗. โมคคัลลานสูตร ๘. สารีปุตตสูตร ๙. สสังขารสูตร ๑๐. ยุคนัทธสูตร และอรรถกถา.