อุปนิสสยปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัยแตกต่างกันอย่างไรครับ
โดย papon  22 ก.พ. 2557
หัวข้อหมายเลข 24507

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

อุปนิสสยปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัยแตกต่างกันอย่างไรครับ

ขอความอนุเคราะห์ให้ความกระจ่างด้วยครับ ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 22 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นสภาพธรรม ที่มีกำลังจนสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมอื่นที่เป็นจิต เจตสิกครับ ซึ่งปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวางมากครับ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นๆ เกิดนั้น ปัจจัยที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยคือ จิต 89 เจตสิก 52 รูป 28 เป็นต้น ซึ่งปกตูปนิสสยปัจจัย มีหลายอย่างดังนี้ครับ

1.กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด กุศลที่เป็นจิต เจตสิก เช่น สะสมการฟังธรรม ความเห็นถูกมา ก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต คือปัญญาเกิดได้อีกครับ หรือ กุศลขั้นการฟังเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลขั้นสูงครับ

2.กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อกุศล เช่น เพราะมีความเห็นถูก (ปัญญา) ทำให้เกิดมานะ ดูหมิ่นผู้อื่น เป็นต้น

3.กุศลเป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ เกิดวิบาก

4.อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล

5.อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล

6.อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ ที่เป็นวิบากจิต

7.อัพยากตะ เป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ

จะเห็นนะครับว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวางครับ สภาพธรรมทั้งที่เป็นจิต เจตสิก รูปและบัญญัติด้วย

อุปนิสสยปัจจัย คือ ที่อาศัยที่มีกำลังจากการสะสมที่จะทำให้สภาพธรรมะนั้นเกิดขึ้นเป็นไป สภาพธรรมนั้นเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ สภาพธรรมนั้นๆ จะเกิดขึ้นได้ ก็เมื่อมีสภาพธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยนั่นเอง ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน อาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากกันแล้วก็เกิดไม่ได้เลย

ซึ่งความแตกต่าง ของ ปัจจัยทั้งสอง เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ ซึ่งได้อธิบายได้ละเอียด และ แจ่มแจ้งแล้ว ครับ

อุปนิสสยปัจจัย...ปกตูปนิสสยปัจจัย

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย j.jim  วันที่ 22 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 22 ก.พ. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ ของการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม คือ เข้าใจความจริง แม้แต่ในเรื่องของปัจจัย ซึ่งละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งนั้น ก็เพื่อเข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญของใครทั้งสิ้น อุปนิสสยปัจจัย ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยทั้งหลาย คือ เป็นสภาพธรรมที่เป็นที่อาศัย ที่มีกำลังแก่สภาพธรรมอื่นที่เกิดขึ้น

อุปนิสสยปัจจัย นั้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นปัจจัย โดยเป็นที่อาศัยที่มีกำลังแก่สภาพธรรมที่ไม่ได้เกิดพร้อมกัน สำหรับปกตูปนิสสัยปัจจัย นั้น ก็เป็นหนึ่งในอุปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยปกติที่ได้กระทำ คือ สะสมไว้เป็นปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ เช่น จิตที่เป็นโลภมูลจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับแล้ว สภาพธรรมที่เกิดกับโลภมูลจิตที่ดับไปแล้ว นั้น สะสมสืบต่อในจิตดวงต่อๆ ไป เคยคิดอย่างนั้น เคยเห็นอย่างนั้น เคยกระทำอย่านั้น ก็สะสมมีกำลังที่จะทำให้โลภมูลจิตอย่างนั้นเกิดอีก จะเห็นได้ว่า แต่ละท่านมีความพอใจมีอัธยาศัยต่างๆ กันไป ก็เพราะเคยพอใจอย่างนั้น เคยสะสม เคยกระทำอย่างนั้นมาแล้ว จึงเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัยที่มีกำลังโดยปกติที่เคยกระทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว นั่นเอง ครับ

ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาพิจารณาไตร่ตรองในความเป็นจริงของธรรม ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ทั้งหมดทั้งปวงที่ได้ยินได้ฟัง นั้น ก็เพื่อเข้าใจถึงความไม่ใช่เรา คือ เป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เท่านั้น ไม่ใช่เรา ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่นี่ ครับ

ทบทวนปัจจัย - อุปนิสสยปัจจัย

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 22 ก.พ. 2557

ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นปกติที่มีกำลัง ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย papon  วันที่ 22 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย papon  วันที่ 24 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 9 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ