ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๓
~ ธรรม ทำให้เป็นคนตรง สิ่งใดถูกก็คือถูก สิ่งใดผิดก็คือผิด เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่จะให้คนอื่นได้รับทราบ ก็คือ ไม่ควรทำสิ่งที่ผิด และขณะนั้นก็เป็นการลบหลู่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ถ้าใครได้กระทำในสิ่งที่ผิด
~ ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง จึงเป็นภิกษุ ซึ่งจะต้องสละเพศคฤหัสถ์ทั้งหมดเลย เหมือนตายแล้วจากเพศคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ระวังสภาพของจิตใจในเมื่อมีความตั้งใจที่จะขจัดขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต จะกระทำเหมือนอย่างคฤหัสถ์ ก็เป็นโทษ
~ ใครก็ตามที่ไม่เข้าใจธรรมแล้วบวช (ย่อมเป็น) บาป เพราะไม่เข้าใจ แล้วไปถือเพศที่สูงตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร
~ ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น พระภิกษุรับเงินทองไม่ได้ จะอ้างอย่างนั้น จะอ้างอย่างนี้ ก็ไม่ได้
~ ความเข้าใจธรรมก็ทำให้เกิดปัญญาที่จะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดและเป็นผู้ที่ตรง เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ให้เงินกับพระภิกษุ คิดดู ส่งเสริมความติดข้อง เอาเงินนั้นไปทำอะไร เอาเงินนั้นไปเมื่อไหร่ ก็ไม่ใช่ภิกษุ เพราะเหตุว่านำเงินนั้นไปทำอะไร เพราะไม่ใช่ภาระหรือหน้าที่ของพระภิกษุเลยทั้งสิ้นที่จะเกี่ยวกับเงินนั้น
~ คฤหัสถ์มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา จะทำอะไร จะสร้างวัดวาอารามวิหารอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่อย่ามอบเงินให้กับพระภิกษุ เพราะว่าพระภิกษุ ท่านรับไม่ได้ และพระภิกษุท่านก็ไม่มีหน้าที่ที่จะเกี่ยวข้องอย่างนั้นด้วย เพราะชีวิตของท่านดำรงอยู่เพื่อที่จะศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิตเท่านั้น นอกจากนั้น ไม่ใช่กิจของพระภิกษุ
~ ไม่รู้ จึงได้เข้าใจผิด หลงผิด ทำผิด แต่เมื่อได้ฟังสิ่งที่เป็นพระธรรมวินัยที่ถูกต้องแล้ว ไม่ยอมรับ ก็มี ซึ่งเป็นโทษอย่างยิ่ง แต่ผู้ที่ยอมรับ ก็สามารถที่จะเป็นคนดีและประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลส แล้วแต่ว่าจะยังคงเป็นเพศพระภิกษุต่อไป รักษาสิกขาบทไม่รับเงินรับทอง ประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสตามพระธรรมวินัย หรือว่า ลาสิกขาบท (สึกไปเป็นคฤหัสถ์) เพราะรู้ตัวว่า อยู่ต่อไปก็เหมือนคฤหัสถ์ที่อยู่ในผ้าเหลืองเท่านั้นเอง
~ พระวินัย ลึกซึ้งโดยกิจ ไม่ว่าจะเป็นกิจเล็ก กิจใหญ่ประการใดก็ตามของบรรพชิตแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้โดยละเอียด ด้วยพระปัญญาที่เห็นว่า กิจใดสมควรแก่เพศบรรพชิต และกิจใดไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น การที่ผู้ใดจะเลื่อมใส ก็ต้องเลื่อมใสโดยการพิจารณาความลึกซึ้งของพระวินัยว่าลึกซึ้งโดยกิจ ที่สมควรของบรรพชิต ซึ่งต่างกับกิจของฆราวาส
~ คำใดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ตรัสไว้ แล้วผู้นั้น ก็กล่าวคำที่ตรงกันข้ามกับคำที่พระองค์ตรัสไว้ ผู้นั้นลบหลู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ คนที่หวังดี ก็ต้องศึกษาธรรมให้เข้าใจอย่างถูกต้องอย่างถ่องแท้ แล้วก็ปรึกษาหารือกันเพื่อความถูกต้อง
~ ยอมรับไหม อะไรถูกคือถูก อะไรผิดคือผิด ถ้าไม่ยอมรับ ก็คือ ลบหลู่คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ด้วยความเคารพ เห็นคุณอย่างยิ่งว่าเป็นบุญที่ได้สะสมไว้แต่ปางก่อน จึงมีโอกาสที่จะได้ฟังคำ แต่ประมาทไม่ได้ ต้องพิจารณาไตร่ตรองโดยละเอียดว่า ผู้กล่าวเป็นใคร เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะฉะนั้น พระปัญญาของพระองค์เหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น ทุกคำต้องศึกษาด้วยความเคารพ มิฉะนั้นแล้ว เมื่อกล่าวผิด ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด ก็เป็นโทษอย่างใหญ่หลวง เพราะเหตุว่า เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการลบหลู่พระรัตนตรัย
~ จะตอบแทนคุณใคร ไม่ใช่ด้วยอกุศล จะตอบแทนคุณใคร ก็ต้องด้วยคุณความดี ทำความดีเท่าไหร่ ก็คือการตอบแทนคุณซึ่งเขาได้ทำให้กับเรา เพราะฉะนั้น ทางเดียวก็คือเป็นคนดี และก็ทำดี นั่นคือ การตอบแทนคุณ
~ พระพุทธศาสนา คือ สภาพที่เป็นหลักของจิตใจ ธรรมที่เป็นหลักของจิตใจ ถ้าไม่มีเลย จิตใจก็ต้องตกไปสู่ฝ่ายต่ำทุกอย่าง เพราะฉะนั้น สมควรอย่างยิ่ง คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องมีกำลังใจ ที่จะช่วยกันเข้าใจธรรมและความถูกต้อง
~ เบิกบาน ที่ได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่ามีกิเลสมาก อย่าหวังว่าจะไม่รู้อะไรแล้วจะไปดับกิเลส
~ ปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ใครได้ไหม แต่คำของพระองค์ทุกคำต่างหาก ที่เป็นคำที่ทำให้คนฟังไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูก
~ ความหวังดี จะทำให้เราพูดดี เพราะคิดดีแล้วก็ใจดี เพราะฉะนั้น ความหวังดี ก็คือว่า ให้เขาได้เข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้
~ อกุศลละอกุศลไม่ได้ แต่กุศลสามารถที่ละอกุศลได้
~ ช่วยเขาด้วยกุศลจิตที่มีเมตตาที่หวังดี ที่จะให้เขาได้เห็นคุณประโยชน์ของการที่จะเป็นผู้ที่ไม่ทำลายพระพุทธศาสนา เพราะมีความเข้าใจถูกต้อง
~ ใครที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ด้วยความไม่รู้ เราก็จะกล่าวข้อความในพระธรรมวินัยให้พิจารณาให้ไตร่ตรอง เมื่อรู้แล้ว ยอมรับสิ่งที่ถูกต้องไหม หรือว่าไม่ยอมรับ แล้วเราจะทำอะไรเขาได้ แต่ทำสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต คือ ให้ความเข้าใจถูกเท่าที่เราสามารถจะให้ได้
~ จิตดี ทำให้คิดดี ทำให้พูดดี และทำให้ทำดี
~ ถ้าธรรมฝ่ายดีไม่เกิด อะไรจะทำให้อกุศลหายไป ลดน้อยลง
~ พระธรรมให้ประโยชน์กับคนพูดด้วย ก็ไม่ใช่ว่ากล่าวธรรมเพื่อให้ประโยชน์แก่คนฟังเท่านั้น แต่พระธรรม ต้องให้ประโยชน์กับคนพูดด้วย
~ ความไม่รู้ก็ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคำไม่จริงก็ทำลายจริง ทำให้คนหลงผิด แล้วคนที่หลงผิดอย่างนั้นมีหรือที่สามารถที่จะเข้าใจความจริงได้ ด้วยเหตุนี้ ธรรมเตชะ (เดชของพระธรรม) พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำทำให้ (จาก) คนที่เคยเข้าใจผิด ได้เข้าใจถูกขึ้น เพราะฉะนั้น ก็รอดพ้นจากการที่จะหลงผิด ที่จะนำไปสู่อบายภูมิ ถ้ากระทำตามๆ กันด้วยการกระทำที่ผิด เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะช่วยให้พ้น ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ยังติดตามไปถึงชาติต่อๆ ไปที่สามารถที่จะได้ยินได้ฟังและมีความเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้น
~ ประเพณีของชาวพุทธจริงๆ แล้ว คือ ฟังธรรมให้เข้าใจ ไม่ใช่ประเพณีอย่างอื่นเลย
~ สะสมความดีไว้ เพื่อจะได้เป็นคนดียิ่งขึ้นกว่านี้
~ อย่าเข้าใจผิดว่า การทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา คือ ทะนุบำรุงวัด แต่ต้องเป็นการศึกษาธรรมให้เข้าใจ จึงสามารถที่จะดำรงพระธรรมไว้ได้
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๒
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
กราบอนุโมทนาค่ะ
กราบขอบคุณค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ