[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 72
ปฐมปัณณาสก์
สุมนวรรคที่ ๔
๓. อุคคหสูตร
ว่าด้วยหน้าที่ของภรรยาที่ดี
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 72
๓. อุคคหสูตร
ว่าด้วยหน้าที่ของภรรยาที่ดี
[๓๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ ชาติยาวัน ใกล้เมืองภัททิยะ ครั้งนั้นแล ท่านอุคคหเศรษฐี ผู้เป็นหลานท่านเมณฑกเศรษฐี ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุ ๓ รูป จงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 73
ในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ ด้วยดุษณีภาพ ท่านอุคคหเศรษฐี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคม ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ถือบาตรจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ ของท่านอุคคหเศรษฐี ประทับนั่งบนอาสนะ ที่เขาแต่งตั้งไว้ ครั้งนั้น ท่านอุคคหเศรษฐี หลานของเมณฑกเศรษฐี ได้อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนีย โภชนียาหารอย่างประณีต ด้วยมือของตนเอง เมื่อทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเสวยเสร็จแล้ว ทรงชักพระหัตถ์ จากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารีเหล่านี้ ของข้าพระองค์ จักไปอยู่สกุลสามี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกล่าวสอน ทรงพร่ำสอนกุมารีเหล่านั้น ซึ่งจะพึงเป็นประโยชน์สุข แก่กุมารีเหล่านั้น ตลอดกาลนาน.
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสสอนกุมารีเหล่านั้น ต่อไป ดังนี้ว่า ดูก่อนกุมารี เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า มารดาบิดาของสามี ที่เป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ หวังความเกื้อกูลอนุเคราะห์ ด้วยความเอ็นดู เราทั้งหลาย จักตื่นก่อนท่าน นอนที่หลังท่าน คอยรับใช้ท่าน ประพฤติเป็นที่พอใจท่าน พูดคำเป็นที่รักต่อท่าน ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใด เป็นที่เคารพของสามี คือ มารดา บิดา หรือสมณพราหมณ์ เราทั้งหลาย จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เมื่อท่านมาถึงที่ ก็จักต้อนรับ ด้วยที่นั่งหรือน้ำ ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า การงานภายในบ้านของสามี คือ การทำขนสัตว์ หรือการทำผ้า เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้าน ในการงานนั้นๆ จักประกอบด้วยปัญญา เครื่องพิจารณา อันเป็นอุบายในการงาน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 74
นั้นๆ อาจทำ อาจจัด ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักรู้การงาน ที่อันโตชนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกร ทำแล้วว่าทำแล้ว ที่ยังไม่ได้ทำ ว่ายังไม่ได้ทำ จักรู้คนป่วยไข้ว่ามีกำลังหรือไม่มีกำลัง และจักแบ่งของเคี้ยวของบริโภค ให้ตามเหตุที่ควร ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ ว่า เราทั้งหลายจักยังทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทอง ที่สามีหามาได้ ให้คงอยู่ ด้วยการรักษาคุ้มครอง จักไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูก่อนกุมารีทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายเทวดาเหล่ามนาปกายิกา.
สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ย่อมไม่ดูหมิ่น สามีผู้หมั่นเพียร ขวนขวายอยู่เป็นนิตย์ เลี้ยงตนอยู่ทุกเมื่อ ให้ความปรารถนาทั้งปวง ไม่ทำสามีให้ขุ่นเคือง ด้วยประพฤติแสดงความหึงหวงสามี และย่อมบูชา ผู้ที่เคารพทั้งปวงของสามี เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน สงเคราะห์คนข้างเคียงของ สามี ประพฤติเป็นที่พอใจของสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ นารีใดย่อมประพฤติ ตามความพอใจของสามีอย่างนี้ นารีนั้นย่อมเข้าถึง ความเป็นเทวดา เหล่ามนาปกายิกา.
จบอุคคหสูตรที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 75
อรรถกถาอุคคหสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในอุคคหสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ภทฺทิเก แปลว่า ใกล้ภัททิกนคร. * บทว่า ชาติยาวเน ได้แก่ ในป่าชัฏที่เกิดขึ้นเอง เขามิได้ปลูกแล้ว เป็นอันเดียวกันกับป่าหิมพานต์. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเข้าไปอาศัยนครนั้น ประทับอยู่ในป่านั้น. บทว่า อตฺตจตุตฺโถ ได้แก่ มีพระองค์เป็นที่ ๔.
ถามว่า ก็เพราะเหตุไร อุคคหเศรษฐี หลานชายเมณฑกเศรษฐีนั้น จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระองค์เป็นที่ ๔ มีภิกษุไปด้วย ๓ รูปเล่า?
ตอบว่า ได้ยินว่า ในเรือนของท่านเศรษฐีนั้น ได้มีงานมงคลใหญ่ ด้วยการจัดงานใหญ่ ผู้คนเป็นอันมาก ก็มาชุมนุมกัน ในเรือนนั้น ท่านคิดว่า ผู้อังคาสเลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ คงจักสงเคราะห์ยึดใจ ผู้คนเหล่านั้นได้ยาก จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระองค์เป็นที่ ๔ เท่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ท่านมีความดำริ อย่างนี้ว่า เมื่อพระศาสดา ทรงโอวาทอยู่กลางภิกษุหมู่ใหญ่ สาวรุ่นทั้งหลาย มัวแต่ดูเสีย ก็ไม่สามารถจะรับเอาพระโอวาทได้. ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ท่านจึงนิมนต์เฉพาะ พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระองค์เป็นที่ ๔ เท่านั้น.
บทว่า โอวทตุ ตาสํ ภนฺเต ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดโอวาท คือ สั่งสอนสาวรุ่นเหล่านั้น. ที่จริง คำว่า ตาสํ เป็นฉัฏฐีวิภัติ ใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัติ. บทว่า ยํ ตาสํ ได้แก่ โอวาทานุศาสน์ สำหรับสาวรุ่นเหล่านั้น. ก็แลท่านเศรษฐีนั้น ครั้นกราบทูลแล้ว อย่างนี้ คิดว่า สาวรุ่นเหล่านี้ เมื่อได้รับโอวาทในสำนักของเรา พึงให้นำไปสกุลสามี ดังนี้ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็หลีกไป.
* บาลีเป็น ภัททิยนคร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 76
บทว่า ภตฺตุ คือ สามี. บทว่า อนุกมฺปํ อุปาทาย ได้แก่ อาศัยความเอ็นดู. บทว่า ปุพฺพุฏฺายินิโย ได้แก่ ปกติตื่นก่อนเขาหมด. บทว่า ปจฺฉานิปาตินิโย ได้แก่ ปกตินอนหลังเขาหมด. ก็หญิงบริโภคแล้วขึ้นที่นอน นอนก่อนไม่ควร. แต่ให้คนในครัวเรือนทั้งหมด บริโภคแล้ว จัดสิ่งของที่เป็นอุปกรณ์ รู้ว่าโคเป็นต้น ที่มาแล้ว และยังไม่มา สั่งการงาน ที่จะพึงทำในวันรุ่งขึ้น ถือลูกกุญแจไว้ในมือ ถ้าอาหารมีก็บริโภค ถ้าไม่มีก็ให้คนอื่นหุงหา แล้วเลี้ยงคนทั้งหมด ให้อิ่ม แล้วนอนในภายหลัง จึงควร. แม้นอนแล้ว จะนอนจนตะวันขึ้น ก็ไม่ควร แต่ลุกก่อนเขาทั้งหมด แล้วให้เรียกทาส และคนงานมา แล้วสั่งงานว่า ท่านจงทำงานอันนี้ๆ ให้รีดนมแม่โค ทำกิจที่ควรทำทั้งหมด ในเรือนไว้ เป็นพนักงานของตน จึงควร. พระผู้มีพระภาคเจ้า หมายถึงข้อความนั้น จึงตรัสว่า ปุพฺพฺฏฺายินิโย ปจฺฉานิปาตินิโย ตื่นก่อนนอนหลัง ดังนี้.
บทว่า กึการปฏิสฺสาวินิโย ความว่า มีปกติมองหน้ากันแล้ว ตรวจดูว่า เราจะทำอะไร เราจะทำอะไรดังนี้. บทว่า มนาปจาริณิโย ได้แก่ ปกติทำกิริยา แต่ที่น่าพอใจ. บทว่า ปิยวาทินิโย ได้แก่ พูดแต่ถ้อยคำที่น่ารัก. บทว่า ปูชิสฺสาม ได้แก่ บูชาด้วยปัจจัย ๔. บทว่า อพฺภาคเต ได้แก่ ท่านผู้มาถึงสำนักของตน. บทว่า อาสโนทเกน ปฏิปูเชสฺสาม ความว่า ต้อนรับด้วยอาสนะ และน้ำล้างเท้า. แต่ในข้อนี้ ควรทำสักการะทุกวัน แก่มารดาบิดา. ส่วนสำหรับสมณพราหมณ์ ผู้มาถึงแล้วควรถวายอาสนะน้ำล้างเท้า และควรทำสักการะ.
บทว่า อุณฺณา คือ ขนแกะ. บทว่า ตตฺถ ทกฺขา ภวิสฺสาม ความว่า จักเป็นผู้ฉลาดในการสางและซัก การย้อมและจัดให้เป็นฟ่อนสำหรับ ขนแกะทั้งหลาย และในการปั่น แผ่ ยี และกรอเป็นต้น สำหรับฝ้าย. บทว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 77
ตตฺรุปายาย ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา อันเป็นอุบาย ในการจัดขนสัตว์ และฝ้ายนั้น ที่เป็นไปแล้ว อย่างนี้ว่า เราควรทำงานนี้ ในเวลานั้น ดังนี้. บทว่า อลํ กาตุํ อลํ สํวิธาตุํ ได้แก่ ตนทำเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นทำก็ดี ก็ควรทั้งนั้น อธิบายว่า จักชื่อว่า เป็นผู้สามารถได้ ดังนี้.
บทว่า กตญฺจ กตโต ชานิสฺสาม อกตญฺจ อกตโต ความว่า เราจักรู้อย่างนี้ว่า เราควรให้สิ่งนี้ และทำกิจนี้ แก่ผู้มาทำงานชื่อนี้ ตลอดทั้งวัน ผู้มาทำงานชื่อนี้ ครึ่งวัน แก่ผู้เสร็จงาน แก่ผู้นั่งอยู่ในเรือน ดังนี้. ด้วยบทว่า คิลานกานญฺจ พลาพลํ ท่านแสดงว่า ก็ถ้าว่าเขาให้ยา และอาหารเป็นต้น แก่คนเหล่านั้น ในเวลาเจ็บไข้ ไม่ทำให้แสลงแก่โรค คนเหล่านี้ ย่อมทำสิ่งที่ตนปรารถนาในเวลาเราไม่มีโรค ในเวลาเจ็บไข้ ก็ไม่รู้ว่าเรามีอยู่ ดังนั้น เขาเป็นผู้เหนื่อยหน่าย ไม่ทำกิจทั้งหลาย ในภายหลัง หรือทำกิจที่ควรทำ เพราะฉะนั้น เจ้าทั้งหลาย พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักรู้ความมีกำลัง และไม่มีกำลัง ของคนเหล่านั้นแล้ว จักรู้สิ่งที่พึงให้ และกิจที่ควรทำ.
บทว่า ขาทนียํ โภชนียํ จสฺส ได้แก่ จักแจกจ่าย ของเคี้ยว และของกิน แก่คนภายใน. บทว่า ปจฺจยํเสน คือ ตามส่วนที่เขาควรจะได้ อธิบายว่า ตามสมควรแก่ส่วนอันตนพึงได้. บทว่า สํวิภชิสฺสาม คือ จักให้. บทว่า สมฺปาเทสฺสาม คือ จักให้ถึงพร้อม. บทว่า อธุตฺตี ได้แก่ ไม่เป็นหญิงนักเลง โดยเป็นนักเลงผู้ชาย และนักเลงสุรา. บทว่า อเถนี คือ ไม่เป็นหญิงขโมย ไม่เป็นหญิงโจร. บทว่า อโสณฺฑี คือ ไม่เป็นนักเลง มีนักเลงสุรา เป็นต้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า จบพระสูตรอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อทรงสรุปด้วย คาถาทั้งหลาย จึงตรัสคำ เป็นต้นว่า โย นํ ภชติ สพฺพทา ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภรติ ได้แก่ หาเลี้ยง บำรุง. บทว่า สพฺพกามหรํ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 78
คือ ให้สิ่งน่าใคร่ทั้งปวง. บทว่า โสตฺถี แปลว่า เป็นหญิงที่ดี. บทว่า เอวํ วตฺตติ ได้แก่ ประพฤติวัตรประมาณเท่านี้ ให้บริบูรณ์. บทว่า มนาปา นาม เต เทวา ได้แก่ เทวดาชั้นนิมมานรดี. ก็จริงอยู่ เทวดาเหล่านั้น เรียกกันว่า นิมมานรดี และมนาปา เพราะเนรมิตรูป ที่ตนปรารถนาๆ แล้ว อภิรมย์.
จบอรรถกถา อุคคหสูตรที่ ๓