เคยอ่านเจอในหนังสือว่า ในบรรดาการพูดทั้งหมด คนเราจะอดทนไม่ค่อยได้ หากตนเองโดนคนมาพูดบ่นตัดพ้อในเชิงตำหนิ และกระทบกระเทียบ ประชดประชัน เสียดสี แต่ถ้าตนเองโดนใครมาพูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ พูดโกหก พูดคำหยาบคาย กลับอดทนได้มากกว่า ที่เป็นแบบนี้ เพราะทุกคนมีมานะคือสำคัญว่าตนดี และหากโดนใครมาพูดบ่น ตัดพ้อในเชิงตำหนิ ประชดประชัน เสียดสี จะโกรธมากกว่าคำพูดแบบอื่น เพราะเป็นการตำหนิตัวตน ที่ลึกและละเอียดกว่าการกล่าวคำด่าหยาบคาย จึงไม่ค่อยมีใครทนฟังได้ ก็เลยนำมาทบทวนตนเอง ที่ผ่านมาพบว่าถ้าตนเองถูกเพื่อนหรือคนรัก พูดบ่น ตัดพ้อ เสียดสี, ประชดประชันบ่อยๆ ดิฉันจะโกรธเคืองได้มากกว่าการพูดแบบอื่นและทนคบไม่ได้ ดิฉันนำมาพิจารณา เข้ากับหัวข้อธรรมะ เรื่องของการพูดส่อเสียด (ปิสุณาวาจา)
ดิฉันมีความรู้สึกว่า การพูดบ่น ตัดพ้อ ในเชิงตำหนิ การพูดประชดประชัน ก็คือการพูดส่อเสียดนั่นเอง ถ้าเป็นแบบนั้น เราสามารถสรุปได้ไหมว่า การพูดส่อเสียดน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนเราเป็นที่เบื่อหน่ายและถูกเกลียดชังได้ง่าย หรือทำให้คนใกล้ชิดตีตัวออกห่างได้ง่ายที่สุด
การพูดส่อเสียด คือการพูดด้วยเจตนามุ่งร้ายให้เขาแตกกัน หรือเจตนาให้ผู้อื่นไม่รักคนนั้น มารักตนแทน เป็นต้น ส่วนการพูดกระทบเสียดสีเป็นการพูดด้วยเจตนา ว่าหรือด่าว่า ด้วยการพูดกระทบกระเทียบ ซึ่งเป็นผรุสวาจา การกล่าวคำหยาบคาย เป็นวาจาที่มุ่งจะด่าว่าเขาแต่ไม่เป็นการพูดส่อเสียด ครับ
แต่อย่างไรก็ดี เพราะอาศัยการพูดไม่ดี ด้วยวาจาอะไรก็ตามย่อมไม่เป็นที่รักของคนอื่นโดยมาก แม้แต่การพูดเสียดสี เพราะแม้ตนเองก็ไม่ชอบวาจาเหล่านี้ คนอื่นจะชอบได้อย่างไร ก็ทำให้ไม่เป็นที่รักของคนที่ได้ยินวาจาเหล่านี้ด้วยครับ
ส่วนการพูดส่อเสียด ผลของกรรมเล็กน้อย ทำให้เป็นผู้ที่แตกจากมิตรเสมอ เพราะตนเองปรารถนาให้คนอื่นแตกกัน และก็ไม่เป็นที่รักของคนโดยมากด้วยเช่นกัน ครับ
การถูกเกลียดชังจึงมีมาจากหลายสาเหตุ ทั้งกรรมในอดีตคือผิดศีลข้อ ๓ และกรรมที่ทำในปัจจุบัน คือการเป็นคนที่ไม่ประพฤติตามศีลในข้อต่างๆ ด้วยครับ
ผู้ที่พิจารณาด้วยปัญญา ย่อมเห็นว่า วาจาใดไม่ดีเป็นอกุศล เป็นโทษแม้กับตนเองที่พูด ไม่ต้องกล่าวถึงผู้อื่นก็ยิ่งไม่ควรพูด และวาจาใดที่ตนเองไม่ชอบคนอื่นก็ไม่ชอบเช่นกัน ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อจิตใจไม่สะอาด เป็นอกุศล คำพูดก็ไม่สะอาด เป็นไปตามจิตที่เป็นอกุศล ซึ่งจะแตกต่างไปจากคำพูดที่เกิดจากกุศลจิตอย่างสิ้นเชิง เป็นคำพูดที่ไพเราะ น่าฟัง เป็นประโยชน์ ไม่มีการประชดประชัน เสียดสี เหน็บแนม เป็นต้น พระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสของตนเองไปทีละเล็กทีละน้อย เตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะกิเลสที่สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยนี้เอง ในที่สุดก็จะมีกำลังจนถึงขั้นที่จะกระทำอกุศลกรรมได้ ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาครับ