๗. สังขตสูตร ว่าด้วยลักษณะแห่งสังขตธรรม ๓ ประการ
โดย บ้านธัมมะ  20 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38669

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 204

ปฐมปัณณาสก์

จูฬวรรคที่ ๕

๗. สังขตสูตร

ว่าด้วยลักษณะแห่งสังขตธรรม ๓ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 204

๗. สังขตสูตร

ว่าด้วยลักษณะแห่งสังขตธรรม ๓ ประการ

[๔๘๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขตลักษณะของสังขตธรรม ๓ นี้ ๓ คืออะไร คือ ความเกิดขึ้น (ในเบื้องต้น) ย่อมปรากฏ ความเสื่อมสิ้นไป (ในที่สุด) ย่อมปรากฏ เมื่อยังตั้งอยู่ ความแปรไปย่อมปรากฏ ภิกษุทั้งหลาย สังขตลักษณะของสังขตธรรม ๓ ประการนี้แล.

จบสังขตสูตรที่ ๗

อรรถกถาสังขตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสังขตสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สํขตสฺส ความว่า อันปัจจัยทั้งหลายมารวมกันสร้าง (ปรุงแต่ง). เครื่องหมายที่เป็นเหตุให้หมายรู้ว่า สิ่งนี้อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ชื่อว่า สังขตลักษณะ. บทว่า อุปฺปาโท ได้แก่ ความเกิด. ความแตกดับ ชื่อว่า ความเสื่อม ความแก่ ชื่อว่าความแปรไปของผู้ที่ดำรงอยู่แล้ว

ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่า สังขตะ ในบทว่า สงฺขตสฺส นั้น. แต่มรรคผล พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสไว้ในพระสูตรนี้ เพราะไม่เข้าถึงการ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 205

พิจารณา. การเกิดขึ้นเป็นต้น ชื่อว่าสังขตลักษณะ. บรรดาลักษณะทั้ง ๓ นั้น ความเกิดขึ้นมีในอุปปาทขณะ. ความแก่มีในขณะที่ตั้งอยู่ (ฐีติขณะ). ความเสื่อมมีในภังคขณะ. ลักษณะเครื่องหมายไม่ใช่สังขตะ (สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง) สังขตะ (สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง) ก็ไม่ใช่ลักษณะ (เครื่องหมาย). แต่สิ่งที่เป็นสังขตะ ถูกกำหนดด้วยลักษณะ. ลักษณะของช้าง ม้า โค และกระบือ เป็นต้น ที่เป็นเหตุให้จำได้หมายรู้ เช่น หอก หลาว เป็นต้น ไม่ใช่ (ตัว) ช้างเป็นต้น ถึง (ตัว) ช้างเป็นต้น ก็ไม่ใช่ลักษณะเหมือนกัน แต่ช้าง ม้า โค และกระบือเป็นต้นเหล่านั้น (เรา) รู้กันว่า เป็นช้างของคนโน้น ม้าของคนโน้น หรือช้างชื่อโน้น ม้าชื่อโน้น ก็ด้วยลักษณะทั้งหลายฉันใด ข้ออุปไมยนี้ ก็พึงทราบฉันนั้น.

จบอรรถกถาสังขตสูตรที่ ๗