ตุวฏกสูตรที่ ๑๔ ว่าด้วยมีความเห็นแล้วถือมั่น
โดย บ้านธัมมะ  14 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40217

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 827

สุตตนิบาต

อัฏฐกวรรคที่ ๔

ตุวฏกสูตรที่ ๑๔

ว่าด้วยมีความเห็นแล้วถือมั่น


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 827

ตุวฏกสูตรที่ ๑๔

ว่าด้วยมีความเห็นแล้วถือมั่น

พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า

[๔๒๑] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ผู้สงัดและมีความสงบเป็นที่ตั้ง ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ภิกษุเห็นอย่างไรจึงไม่ถือมั่นธรรมอะไรๆ ในโลก ย่อมดับ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ภิกษุพึงปิดกั้นเสียซึ่งธรรมทั้งปวง อันเป็นรากเหง้าแห่งส่วนของธรรมเป็นเครื่อง ยังสัตว์ให้เนิ่นช้า ซึ่งเป็นไปอยู่ว่า เป็นเราด้วยปัญญา ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งพึงบังเกิดขึ้น ณ ภายใน ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ เพื่อปราบตัณหาเหล่านั้น.

ภิกษุพึงรู้ยิ่งธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ ภายใน หรือภายนอกไม่พึงกระทำความถือตัวด้วยธรรมนั้น สัตบุรุษทั้งหลายไม่กล่าวความดับนั้นเลย.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 828

ภิกษุไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขาหรือเลวกว่าเขา ด้วยความถือตัวนั้น ถูกผู้อื่นถามด้วยคุณหลายประการ ก็ไม่พึงกำหนดตนตั้งอยู่โดยนัย เป็นต้นว่า เราบวชแล้วจากสกุลสูง.

ภิกษุพึงสงบระงับภายในเทียว ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยอุบายอย่างอื่น ความเห็นว่าตัวตน ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สงบแล้ว ณ ภายใน.

อนึ่ง ความเห็นว่าไม่มีตัวตน คือ เห็นว่าขาดสูญ จักมีแต่ที่ไหน คลื่นไม่เกิดที่ท่ามกลางเเห่งสมุทร สมุทรนั้นตั้งอยู่ไม่หวั่นไหว ฉันใด ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหวในอิฏฐผลมีลาภเป็นต้น ฉันนั้น ภิกษุไม่พึงกระทำกิเลสเครื่องฟูขึ้นมีราคะ เป็นต้น ในอารมณ์ไหนๆ.

พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุเปิดแล้ว ขอพระองค์ได้ตรัสบอกธรรมที่ทรงเห็นด้วยพระองค์เอง อันนำเสียซึ่งอันตราย (ขอพระองค์จงมีความเจริญ) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 829

ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อปฏิบัติ และศีล เครื่องให้ผู้รักษาพ้นจากทุกข์หรือสมาธิเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ภิกษุไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุเลย พึงปิดกั้นโสตเสียจากถ้อยคำของชาวบ้าน ไม่พึงกำหนัดยินดีในรสและไม่พึงถือสิ่ง อะไรๆ ในโลกว่า เป็นของเรา.

เมื่อตนอันผัสสะถูกต้องแล้ว ในกาลใด ในกาลนั้น ภิกษุไม่พึงกระทำความร่ำไร ไม่พึงปรารถนาภพในที่ไหนๆ และ ไม่พึงหวั่นไหวในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว.

ภิกษุได้ข้าว น้ำ ของเคี้ยว หรือแม้ผ้าแล้ว ไม่พึงกระทำการสั่งสมไว้และเมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านั้น ก็ไม่พึงสะดุ้งดิ้นรน.

พึงเป็นผู้เพ่งฌาน ไม่พึงโลเลด้วยการเที่ยว พึงเว้นความคะนอง ไม่พึงประมาท อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุพึงอยู่ในที่นั่ง และที่นอนอันเงียบเสียง.

ไม่พึงนอนมาก พึงมีความเพียร เสพความเป็นผู้ตื่นอยู่ พึงละเสียให้เด็ดขาด ซึ่งความเกียจคร้าน ความล่อลวง ความร่าเริง การเสพเมถุนธรรมกับทั้งการประดับ.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 830

ภิกษุผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ไม่พึงประกอบอาถรรพ์ ตำราทำนายฝัน ทำนายลักษณะ นักขัตฤกษ์ การทำนายเสียงสัตว์ร้อง การทำยาให้หญิงมีครรภ์ และการเยียวยารักษา.

ภิกษุไม่พึงหวั่นไหว เพราะนินทา เมื่อเขาสรรเสริญก็ไม่พึงเห่อเหิม พึงบรรเทาความโลภ พร้อมทั้งความตระหนี่ ความโกรธ และคำส่อเสียดเสีย.

ภิกษุไม่พึงขวนขวายในการซื้อการขายไม่พึงกระทำการกล่าวติเตียนในที่ไหนๆ และไม่พึงคลุกคลีในชาวบ้าน ไม่พึงเจรจากะชนเพราะความใคร่ลาภ.

ภิกษุไม่พึงเป็นผู้พูดโอ้อวด ไม่ พึงกล่าววาจาประกอบปัจจัยมีจีวรเป็นต้น ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง ไม่พึงกล่าวถ้อยคำเถียงกัน.

ภิกษุพึงเป็นผู้มีสัมปชัญญะ ไม่พึงนิยมในการกล่าวมุสา ไม่พึงกระทำความโอ้อวด อนึ่ง ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา ศีลและพรต,


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 831

ภิกษุถูกผู้อื่นเสียดสีแล้ว ได้ฟังวาจามากของสมณะทั้งหลายหรือของชนผู้พูดมาก ไม่พึงโต้ตอบด้วยคำหยาบ เพราะสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กระทำความเป็นข้าศึก.

ภิกษุรู้ทั่วถึงธรรมนี้แล้ว ค้นคว้าพิจารณาอยู่ รู้ความดับกิเลสว่าเป็นความสงบ ดังนี้แล้ว พึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม.

ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ครอบงำอารมณ์มีรูปเป็นต้น อันอารมณ์มีรูปเป็นต้นครอบงำไม่ได้ เป็นผู้เห็นธรรมที่ตนเห็นเองประจักษ์แก่ตน เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงนอบน้อมศึกษาไตรสิกขาอยู่เนืองๆ ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทุกเมื่อเทอญ.

จบตุวฏกสูตรที่ ๑๔


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 832

อรรถกถาตุวฏกสูตรที่ ๑๔

ตุวฏกสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ปุจฺฉามิ ตํ ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ดังนี้.

พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?

ในมหาสมัยนั้นอีกนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้เพื่อทรงประกาศความนั้นแก่ทวยเทพบางพวกผู้มีจิตเกิดขึ้นว่า อะไรหนอ คือการปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหัตจึงให้พระพุทธนิมิตตรัสถามโดยนัยก่อนนั่นแล. ในคาถาต้นนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้คำถามด้วยการเทียบเคียงความเห็นในบทนี้ว่า ปุจฺฉามิ ดังนี้. บทว่า อาทิจฺจพนฺธุํ คือ เผ่าพันธุ์พระอาทิตย์. บทว่า วิเวกํ สนฺติปทญฺจ ได้แก่ ผู้สงัดและมีความสงบเป็นที่ตั้ง. บทว่า กถํ ทิสฺวา คือ เห็นด้วยเหตุไร อธิบายว่า เป็นผู้เป็นไปแล้วอย่างไร.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะภิกษุเห็นอย่างใด ย่อมปิดกั้นกิเลสทั้งหลาย เป็นผู้มีทัศนะเป็นไปแล้วเพราะเห็นอย่างนั้น ย่อมดับ ฉะนั้น เมื่อจะทรงทำความนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงทรงชักชวนเทพบริษัทนั้นในการละกิเลส ด้วยประการต่างๆ ได้ตรัสคาถา ๕ คาถา เริ่มว่า มลํ ปปญฺจสาขาย ธรรมทั้งปวงอันเป็นรากเหง้าแห่งส่วนของธรรมเป็นเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้า ดังนี้.

พึงทราบความสังเขปแห่งคาถาต้นในคาถาเหล่านั้นก่อน. กิเลสทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นอันเป็นรากเหง้าแห่งส่วนของธรรมเป็นเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้า เพราะท่านเรียกว่า ปปญฺจา นั้นภิกษุพึงปิดกั้นเสียซึ่งธรรมทั้งปวง


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 833

อันเป็นรากเหง้าแห่งส่วนของธรรมเป็นเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้านั้น ซึ่งเป็นไปอยู่ว่าเป็นเราด้วยปัญญา ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งพึงเกิดขึ้น ณ ภายใน ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ เพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น คือ พึงตั้งสติศึกษา

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงเทศนาประกอบด้วยไตรสิกขาในคาถาที่หนึ่งก่อนอย่างนี้ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตเเล้ว เพื่อทรงแสดงด้วยการละมานะอีกจึงตรัสคาถาว่า ยํ กิญฺจิ ภิกษุรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ เป็นต้น

ในบทเหล่านั้น บทว่า ยํ กิญฺจิ ธมฺมํ อภิชญฺา อชฺฌตฺตํ ภิกษุพึงรู้ยิ่งธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ ภายใน คือ พึงรู้คุณของตนมีความเป็นผู้มีตระกูลสูงเป็นต้น. บทว่า อถวาปิ พหิทฺธา หรือภายนอก คือ พึงรู้คุณของอาจารย์และอุปัชฌาย์ในภายนอก. บทว่า น เตน ถามํ กุพฺเพถ ได้แก่ ไม่พึงทำความถือตัวด้วยคุณนั้น.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงวิธีที่ภิกษุนั้นไม่ควรทำ จึงตรัสคาถาว่า น เตน ดังนี้เป็นต้น.

บทนั้นมีความดังนี้ ภิกษุไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เลวกว่าเขา หรือเสมอเขา ด้วยมานะนั้น ถึงถูกผู้อื่นถามด้วยคุณหลายประการมีความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงเป็นต้น ก็ไม่พึงกำหนดตนตั้งอยู่โดยนัยเป็น ต้นว่า เราบวชแล้วจากตระกูลสูง.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงแม้ด้วยการละมานะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงด้วยการสงบกิเลสทั้งปวง จึงตรัสคาถาว่า อชฺฌตฺตเมว


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 834

ดังนี้. ในบทเหล่านั้นบทว่า อชฺฌตฺตเมว อุปสเม ภิกษุพึงประงับภายใน คือ พึงสงบกิเลสทั้งปวงมีราคะเป็นต้นในตนนั่นเอง. บทว่า น อญฺโต ภิกฺขุ สนฺติเมเสยฺย ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยอุบายอย่างอื่น คือ ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยอุบายอย่างอื่น ยกเว้นสติปัฏฐานเป็นต้น. บทว่า กุโต นิรตฺตํ วา คือ ความเห็นว่าไม่มีตัวตนจักมีแต่ไหน.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความที่พระขีณาสพผู้สงบแล้วในภายในเป็นผู้คงที่ จึงตรัสพระคาถาว่า มชฺเฌ ยถา ดังนี้เป็นต้น. บทนั้นมีความดังนี้ คลื่นย่อมไม่เกิดขึ้นในท่านกลางสมุทรอันตั้งอยู่ในเบื้องบนมหาสมุทร ในท่ามกลางสมุทรประมาณ ๔,๐๐๐ โยชน์ อันเป็นท่ามกลางของส่วนล่างหรือในระหว่างภูเขา สมุทรนั้นตั้งอยู่ไม่หวั่นไหวฉันใด ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง เป็นพระขีณาสพ ไม่หวั่นไหวในลาภเป็นต้นฉันนั้น ภิกษุเช่นนั้น ไม่พึงทำกิเลสเครื่องฟูขึ้นมีราคะเป็นต้น ในอารมณ์ไหนๆ.

บัดนี้ พระพุทธนิมิต เมื่อจะอนุโมทนาพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตนี้ และเมื่อจะทูลถามถึงปฏิปทาเบื้องต้นของพระอรหัตนั้นจึงตรัสพระคาถาว่า อกิตฺตยิ ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อกิตฺตยิ แปลว่า ตรัสบอกแล้ว. บทว่า วิวฏจกฺขุ ผู้มีจักษุเปิดแล้ว คือเป็นผู้ประกอบด้วยจักษุ ๕ เปิดแล้ว คือไม่มีอะไรกั้น. บทว่า สกฺขิธมฺมํ ธรรมที่พระองค์ทรงเห็นด้วยพระองค์เอง. คือ ธรรมที่พระองค์ทรงรู้แจ้งด้วยพระองค์เอง คือประจักษ์แก่พระองค์. บทว่า ปริสฺสยวินยํ คือ กำจัดอันตรายออกไป. บทว่า ปฏิปทญฺจ วเทหิ คือ


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 835

ขอพระองค์ทรงบอกข้อปฏิบัติในบัดนี้เถิด. บทว่า ภทฺทนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระพุทธนิมิต เมื่อตรัสเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภทฺทํ ตว อตฺถุ ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่าขอพระองค์ทรงบอกความเจริญ ความดี อันสมควรของพระองค์เถิด. บทว่า ปาติโมกฺขํ อถวาปิ สมาธึ ศีลอันทำผู้รักษาให้พ้นทุกข์ หรือสมาธิ ที่พระพุทธนิมิต ถามทำลายปฏิปทานั้นนั่นเอง หรือว่าพระพุทธนิมิตทูลถามมรรคปฏิปทาด้วยบทนี้ และทูลถามถึงศีลและสมาธิด้วยบทอื่น.

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะการสำรวมอินทรีย์เป็นการรักษาศีล หรือเพราะเทศนานี้พระองค์ทรงแสดงไปตามลำดับ เป็นที่สบายแก่ทวยเทพ เหล่านั้นๆ ฉะนั้นเมื่อจะทรงแสดงปฏิปทาตั้งแต่การสำรวมอินทรีย์ จึงทรงเริ่มคาถาว่า จกฺขูหิ ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า จกฺขูหิ เนว โลลสฺส ภิกษุไม่เป็นผู้โลเลด้วยจักษุ คือ ภิกษุไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ ด้วยการไม่ควรเห็นรูปที่ไม่เคยเห็นเป็นต้น. บทว่า คามกถาย อาวรเย โสตํ พึงปิดกั้นหูเสียจากถ้อยคำของชาวบ้าน คือจากดิรัจฉานกถา. บทว่า ผสฺเสน ได้แก่ผัสสะคือโรค. บทว่า ภวญฺจ นาภิชปฺเปยฺย ไม่พึงปรารถนาภพ คือไม่พึงปรารถนาภพมีกามภพเป็นต้น เพื่อบรรเทาผัสสะนั้น. บทว่า เภรเวสุ จ น สมฺปเวเธยฺย ไม่พึงหวั่นไหวในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว มีราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้นอันเกิดแต่ผัสสะนั้นเป็นปัจจัย. หรือไม่พึงหวั่นไหวในเพราะอารมณ์ ในฆานินทรีย์ และมนินทรีย์ที่เหลือ เป็นอันท่านกล่าวถึงการสำรวมอินทรีย์ครบบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้.


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 836

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการสำรวมอินทรีย์ด้วยบทก่อนแล้ว ด้วยบทนี้ จึงทรงแสดงว่าภิกษุผู้อยู่ในป่า เห็นหรือฟังสิ่งที่น่ากลัวแล้วไม่พึงหวั่นไหว ดังนี้. บทว่า ลทฺธา น สนฺนิธึ กยิรา ภิกษุได้ข้าวน้ำของเคี้ยวหรือแม้ผ้าแล้วไม่พึงทำการสะสม คือภิกษุคิดว่าการที่จะได้ข้าวเป็นต้นเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยธรรมแล้วอยู่ในเสนาสนะในป่า เป็นการได้ด้วยยาก ดังนี้แล้วไม่ควรทำการสะสม. บทว่า ฌายี น ปาทโลลสฺส คือ พึงเป็นผู้ยินดียิ่งในฌาน ไม่พึงคะนองเท้า (เที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้).

บทว่า วิรเม กุกฺกุจฺจํ นปฺปมชฺเชยฺย พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท คือพึงบรรเทาความคะนองมีความคะนองมือเป็นต้น และไม่พึงประมาทในการสังวรนี้ เพราะเป็นผู้ที่คนอื่นทำด้วยความเคารพ. บทว่า ตนฺทึ มายํ หสฺสํ ขิฑฺฑํ คือพึงละความเกียจคร้าน ความล่อลวง ความร่าเริง การเล่นที่เป็นไปทางกายและทางจิต. บทว่า สวิภูสํ คือ กับทั้งการประดับ. บทว่า อาถพฺพณํ คือการทำอาถรรพ์. บทว่า สุปินํ คือตำราทำนายฝัน. บทว่า ลกฺขณํ คือการทำนายลักษณะด้วยแก้วมณีเป็นต้น. บทว่า โน วิเทเห คือ ไม่พึงประกอบ. บทว่า วิรุตญฺจ ได้แก่ทำนายเสียงสัตว์ร้องมีมฤคเป็นต้น. บทว่า เปสุณิยํ คือคำส่อเสียด. บทว่า กยวิกฺกเย ไม่พึงขวนขวายในการซื้อขาย คือไม่พึงตั้งอยู่ด้วยความหลอกลวงหรือด้วยเห็นแก่ท้องกับสหธรรมิกทั้งหลาย ๕ จำพวก. บทว่า อุปวาทํ ภิกฺขุ น กเรยฺย ภิกษุไม่พึงทำการกล่าวติเตียน คือภิกษุเมื่อยังไม่เกิดกิเลสอันจะทำการกล่าวติเตียนก็ไม่ควรให้การกล่าวติเตียนสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเกิดในตน. บทว่า คาเม จ นาภิสชฺเชยฺย คือไม่พึงคลุกคลีในชาวบ้าน ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์เป็นต้น. บทว่า ลาภกมฺยา ชนํ น ลปเยยฺย คือ ไม่พึงเจรจากะชนเพราะความใคร่ลาภ.


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 837

บทว่า ปยุตฺตํ ได้แก่ วาจาประกอบด้วยจีวรเป็นต้น หรือวาจาประกอบเพื่อสิ่งนั้น. บทว่า โมสวชฺเช น นิเยถ คือภิกษุไม่พึงนิยมในการกล่าวคำเท็จ. บทว่า ชีวิเตน คือด้วยความเป็นอยู่. ภิกษุถูกผู้อื่นเสียดสีกระทบกระทั่ง ได้ฟังการพูดมากของสมณะหรือของชนผู้พูดมาก คือได้ฟังคำพูดที่ไม่พอใจแม้มากของสมณะเหล่านั้น หรือของชนผู้พูดมากเหล่าอื่นมีกษัตริย์เป็นต้น. บทว่า นปฺปฏิวชฺชา คือ ไม่พึงโต้ตอบ. เพราะอะไร. เพราะสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำความเป็นข้าศึก. บทว่า เอตญฺจ ธมฺมมญฺาย คือ ภิกษุรู้ธรรมตามที่กล่าวแล้วนี้ทั้งหมด. บทว่า วิจินํ คือ ค้นคว้าอยู่. บทว่า สนฺตีติ นิพฺพุตึ ตฺวา คือรู้ความดับกิเลสว่าเป็นความสงบราคะเป็นต้น. หากมีคำถามว่า เพราะอะไรจึงไม่ควรประมาท. พึงทราบคาถาว่า อภิภู หิ โส เพราะภิกษุนั้น เป็นผู้ครอบงำอารมณ์มีรูปเป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อภิภู ได้แก่ เป็นผู้ครอบงำอารมณ์มีรูปเป็นต้น. บทว่า อนภิภูโต ได้แก่ อันอารมณ์มีรูปเป็นต้นครอบงำไม่ได้. บทว่า อนีติหมสกฺขิ ธมฺมํ ทสฺสี คือ เป็นผู้เห็นธรรมที่ตนเห็นเองอย่างประจักษ์แจ้งทีเดียว บทว่า สทา นมสฺสมนุสิกฺเข ได้แก่ พึงนอบน้อมศึกษาไตรสิกขาอยู่เนืองๆ ทุกเมื่อ. บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดดีแล้ว. อนึ่ง ในคาถานี้พึงทราบสรูปความ ดังนี้ ท่านกล่าวความสำรวมอินทรีย์ด้วยบทมีอาทิว่า จกฺขูหิ เนว โลโล ภิกษุไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ กล่าวศีลคือการเสพปัจจัย โดยห้ามการสะสมด้วยบทมีอาทิว่า อนฺนานมโถ ปานานํ ภิกษุได้ข้าว น้ำ ไม่พึงทำการสะสม กล่าวศีลคือการสำรวมในปาติโมกข์ ด้วยการเว้นเมถุน ไม่พูดคำเท็จ คำ


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 838

ส่อเสียดเป็นต้น กล่าวอาชีวปาริสุทธศีล ด้วยบทมีอาทิว่า อาถพฺพณํ สุปินํ ลกฺขณํ การทำอาถรรพ์ ทำนายฝันดูลักษณะ, กล่าวสมาธิด้วยบทนี้ว่า ฌายี อสฺส พึงเป็นผู้เพ่ง. กล่าวปัญญาด้วยบทนี้ว่า วิจินํ ภิกฺขุ ภิกษุพึงเป็นผู้ค้นคว้า, กล่าวไตรสิกขาโดยสังเขปด้วยบทนี้ว่า สทา สโต สิกฺเข ภิกษุพึงมีสติศึกษาทุกเมื่อ, กล่าวการช่วยเหลือ ความเสียหาย การสงเคราะห์และการบรรเทาของผู้มีศีลสมาธิปัญญาด้วยบทมีอาทิว่า อถ อาสเนสุ สยเนสุ ฯเปฯ พหุลีกเรยฺย ภิกษุพึงอยู่ ณ ที่นั่งที่นอนอันมีเสียงน้อย ไม่พึงเห็นแก่หลับนอนมากนัก. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสปฏิปทาบริบูรณ์แก่พระพุทธนิมิตอย่างนี้แล้ว จึงทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต.

เมื่อจบเทศนาได้มีผู้บรรลุธรรมเช่นกับที่กล่าวแล้วในปุราเภทสูตรนั้น แล.

จบอรรถกถาตุวฏกสูตรที่ ๑๔ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา