อยากทราบว่าความสงสารเป็นเมตตา หรือเปล่าคะ อย่างเช่นเวลาที่สุนัขผอมโซตัวนึง เราก็เกิดความสงสาร จึงเอาข้าวไปให้กิน แต่ขณะที่เกิดความสงสารอยู่นั้น ใจก็รู้สึกเศร้าหมองไปด้วย ขณะนั้นไม่ใช่กุศลใช่ไหมคะ ถ้าไม่ใช่แล้วมันเป็นอะไรคะ รบกวนผู้รู้ตอบด้วยค่ะ
ในภาษาไทย คำว่า ความเมตตา ความสงสาร ดูเหมือนว่าจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่โดยสภาพของธรรมะแล้ว เมตตากับความสงสาร (กรุณา) เป็นธรรมะคนละประเภทคือ เมตตา เป็นอโทสเจตสิก ลักษณะของความมีไมตรี ความเป็นเพื่อนความหวังดี ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ส่วนความสงสาร (กรุณา) เป็นกรุณาเจตสิกความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์, ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ เป็นกุศลจิต แต่ความรู้สึกเศร้าใจ โทมนัสเป็นอกุศลเป็นโทสะ ซึ่งพระพุทธองค์แสดงไว้ว่า โทสะความโทมนัสเป็นข้าศึกใกล้ของกรุณา คือความรู้สึกใกล้เคียงกัน ถ้าขาดความละเอียดแล้ว อาจจะเข้าใจผิดได้ว่า เมื่อเห็นสัตว์อื่นมีความทุกข์ ใจของเราก็เกิดความสงสาร ใจเศร้าหมองซึ่งต่างจากความใคร่จะช่วยเหลือให้เขาพ้นจากทุกข์นั้น
ขออนุโมทนาครับ
สาธุ
* * * ขออนุโมทนาค่ะ * * *
ขณะเมตตา เอาอาหารให้สัตว์นั้นกิน เป็นกุศล แน่นอน
แต่ขณะที่เศร้าหมองด้วยความสงสาร ขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นโทสะ
จิตคนละขณะกัน แต่ด้วยความรวดเร็วของการเกิดดับของจิต
เราจึงคิดว่าเป็นขณะเดียวกัน
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
กรุณาคือเห็นสัตว์อื่นเป็นทุกข์ จึงเกิดความสงสาร
เมตตาคือ สัตว์อื่นแม้ไม่เป็นทุกข์ แต่ก็ปรารถนาให้สัตว์นั้นมีความสุข โดยการนำประโยชน์เข้าไปให้ ความทุกข์ใจเป็นอกุศล (โทสะ) เมตตาและกรุณาเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นความจริงทุกประการ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เพราะเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อเข้าใจในเหตุในผลของธรรมแล้ว ความหวั่นไหวก็จะลดน้อยลงไม่คล้อยตามกับคำพูดที่ไม่เป็นความจริง หรือไม่ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้
ความสงสาร ที่ใช้ในภาษาไทย ความหมายอาจจะเป็นในลักษณะของความเศร้าใจหดหู่ใจ เมื่อเห็นสัตว์ประสบกับความทุกข์ ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่เศร้าใจ ทุกข์ใจ นั้นเป็นอกุศล (ประเภทของโทสะ) ไม่ใช่กุศล แต่ความสงสารที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เป็นกุศลธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี เป็นกรุณาเจตสิกที่เมื่อเห็นสัตว์ประสบกับความทุกข์แล้ว มีความปรารถนาที่จะทำการช่วยเหลือเพื่อให้สัตว์นั้นพ้นจากความทุกข์ ในชีวิตประจำวันไม่ค่อยจะได้พบเห็นสัตว์ที่ประสบทุกข์บ่อยนัก จึงเป็นโอกาสของการอบรมเจริญเมตตา คือความเป็นมิตร เป็นเพื่อน มีไมตรีจิตที่ดีต่อกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นและดับไปรวดเร็วมากเดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศลเกิดดับสลับ
อย่างรวดเร็ว แต่ในชีวิตปัจจุบันจิตที่เกิดดับสือต่อส่วนมากเป็นอกุศลจิต จึงต้องเป็น
ผู้ตรงว่าจิตขณะใดเป็นกุศล จิตขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดจิตเป็นเมตตา เป็นกรุณา
จริงๆ หรือ จิตเป็นโลภ เป็นโทสะ ขุ่นข้องใจ เศร้าใจ จึงต้องศึกษาพระธรรมให้
เข้าใจจริงๆ ว่าลักษณะสภาพธรรมใดเป็นกุศล ลักษณะสภาพธรรมใดเป็นอกุศล
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
เมตตาคือความรู้สึกเป็นมิตร ปรารถนาดี ต่างจากกรุณา คือความสงสาร เห็นเขาได้รับ
ความทุกข์ก็อยากจะช่วยเหลือ ถ้าช่วยเขาไม่ได้ เราควรจะรักษาใจไม่ให้เป็นไปใน
อกุศล และพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ค่ะ
เมตตาไม่ทำร้ายใจเรา
แล้วก็ไม่ทำร้ายคนอื่นด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนา กับคำอธิบายของทุกท่านค่ะ ทั้งที่รู้ว่าความเศร้าหมองเป็นอกุศลจิต แต่ก็อดไม่ได้ทุกครั้งที่เห็นสุนัขจรจัดผอมโซ หรือลูกแมวจรจัดวิ่งเล่นวิ่งหลบรถอยู่ข้างทาง ซี่งเราไม่สามารถนำเค้าไปเลี้ยง ได้แต่ให้อาหารเป็นครั้งคราวและก็รู้ว่าเป็นกรรมของเค้าที่ทำให้เค้าต้องเกิดมาเป็นแบบนี้แต่ทุกครั้งที่เห็นก็อดเศร้าหมองไม่ได้ ไม่ทราบว่ามีวิธีตั้งจิตไม่ให้เศร้าหมองในขณะเห็นสัตว์ทุกข์ยาก หรือขณะให้ทานมั้ยคะ รบกวนผู้รู้เมตตาแนะนำด้วยค่ะ
ก่อนอื่นผมขออนุโมทนาในความปราถนาดี อยากช่วยให้สัตว์พ้นจากความทุกข์ยากทางกายครับ มีคนไม่น้อยที่ขาดความกรุณา มักเบียดเบียนผู้อื่น เมื่อเปรียบเทียบจิตที่เศร้าหมองในขณะเห็นสัตว์ทุกข์ยาก กับจิตที่ปราศจากความกรุณา คิดเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ผมเห็นว่า จิตที่เศร้าหมองนั้น ยังละเอียดกว่าประณีตกว่า จิตที่คิดเบียดเบียนผู้อื่นครับ ตามที่คุณเล่ามา จิตที่เศร้าหมองนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่คุณตระหนักว่า ไม่สามารถช่วยสัตว์เหล่านั้นได้ หรือได้พยายามช่วยแล้วแต่ไม่ได้ผลสมบูรณ์เท่าที่หวังไว้ และที่จริงคุณก็ทราบอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน แต่ใจก็ยังเศร้าหมอง
ผมได้ยินมาว่า หมอที่ดีมักเสียน้ำตาให้กับคนไข้รายแรกๆ ที่หมอช่วยชีวิตไว้ไม่ได้ แต่เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น หมอที่ดีก็ยังคงทำหน้าที่ของตนด้วยความกรุณาอย่างสม่ำเสมอ คือเมื่อได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว หากไม่สามารถช่วยชีวิตคนไข้ไว้ได้ หมอก็จะทราบตามความเป็นจริงว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ใจก็จะไม่เศร้าหมอง ไม่โทษตัวเองและตั้งใจรักษาคนไข้ รายอื่นๆ ด้วยความกรุณาต่อไป
ผมเห็นว่า น่าจะนำวิธีการนี้ไปใช้ในกรณีของคุณได้ คือพยายามช่วยสัตว์เหล่านั้นเท่าที่ทำได้ตามสมควร หากไม่ได้ผลสมบูรณ์ตามที่หวังไว้ก็ปล่อยวาง โดยพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน คือเจริญอุเบกขาตามกาลอันควรครับ ในเมื่อความกรุณายังเกิดขึ้นได้เอง ในขณะเห็นสัตว์ทุกข์ยาก โดยไม่มีการบังคับ หรือจงใจสร้างขึ้นมา การเจริญอุเบกขาตามกาลอันควร จนถึงขั้นที่ทำให้ใจผ่องใสไม่เศร้าหมอง จึงอยู่ในวิสัยที่คนมี ปกตูปนิสัยที่ดีอย่างคุณจะฝึกหัดอบรมได้โดยไม่ยาก
อนึ่ง สติเป็นธรรมกั้นกระแสอกุศล อันเศร้าหมองทั้งปวง หากไม่มีเรา ไม่มีสัตว์กำลังเดือดร้อนกระวนกระวายอยู่ ใจก็จะไม่เศร้าหมอง
ขออนุโมทนาครับ
อันว่าความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
เป็นสิ่งดีสองชั้น พลันปลื้มใจ แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล
ขอแสดงความเห็นอันเนื่องมาจาก คห. ที่ ๑๔ ตามความเข้าใจส่วนตัวลองนำไปพิจารณาดูนะคะ.
วิธีตั้งจิตไม่ให้เศร้าหมอง ไม่ใช่ทางที่สมควรค่ะเพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ.
หากเข้าใจเรื่องกรรม อย่างละเอียดจากการศึกษาพระธรรมที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสไว้ดีแล้ววิธีที่ถูกและตรง และแก้ปํญหาได้อย่างแท้จริงคือการ อบรม เจริญ ปัญญาหรือการเจริญสติ ปัฏฐานซึ่งก็คือ มรรคมีองค์ ๘ (ทางดับทุกข์) การเจริญสติปัฏฐาน คือการที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดในขณะนี้ (ไม่ใช่ในอดีต หรือ อนาคต) ตามปกติ ตามความเป็นจริง.
ขณะที่ประสบเหตุ เช่น เกิดความเศร้าหมองใจ ความเศร้าหมองในขณะนั้นมีลักษณะอย่างไร? (ไม่ชอบ ไม่อยากประสบ อยากหาวิธีหนีให้พ้นไป?) แตกต่างจากขณะที่เมตตา กรุณา มุทิตา (จิตขณะนั้น อ่อนโยน เกื้อกูล ยินดีที่สัตว์นั้นๆ ได้รับความสุข?) ความรู้สึกเป็นเช่นนั้น หรือเปล่า?.
สภาพธรรมใดเกิดขึ้นก็เรียนรู้ "ลักษณะ"ของสภาพธรรมนั้น เท่าที่ กำลังของสติจะเกิดทำกิจระลึกรู้สภาพธรรมี่กำลังปรากฏ
หากอบรมสะสมการเจริญสติจนมีกำลังเป็นอุปนิสสัย เป็นปัจจัยที่มีกำลัง (ปกตูปนิสสยปัจจัย) สติ ทำกิจรู้ ลักษณะที่แตกต่างของสภาพธรรมต่างๆ เช่น สภาพธรรมใดเป็นอกุศลหรือกุศลเมื่อรู้จักและเห็นความแตกต่าง และปัญญาทำกิจรู้ว่าสภาพธรรมใด ควรสะสมสภาพธรรมใด ไม่ควรสะสมอย่างนี้จึงเป็นประโยชน์.
ขณะที่ความเศร้าหมองเกิดขึ้นไม่มีใครชอบความเศร้า ความไม่สบายใจ แต่ทุกคน (ยกเว้นผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี และพระอรหันต์) ก็ยังต้องประสบสิ่งที่คุณประสบเหมือนกันทุกคน ตามอุปนิสสัยที่แต่ละคนสะสมมาแล้วแต่ว่าบุคคลนั้น สะสมมาที่จะรัก พอใจ ยึดมั่นในสิ่งใดมากเมื่อสิ่งนั้น ไม่เป็นไปตามความปรารถนาจึงมีความไม่สบายใจมาก เศร้าหมองมากเป็นธรรมดา.
แต่วิธีไม่ใช่หนี ไม่ใช่ห้าม ไม่รับรู้เพราะเมื่อสภาพธรรมใดๆ มีปัจจัยเกิดก็ต้องเกิดต้องรู้แต่ควรเผชิญหน้าด้วยความรู้ คือเจริญสติรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นๆ จนกว่าชิน จนกว่าจะเห็นว่า เป็นปกติ ธรรมดาซึ่งต้องอบรมเป็นเวลานาน และต้องด้วยความเห็นถูกเท่านั้นโดยการศึกษาพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ เช่น ฟัง อ่าน พิจารณา พระธรรม.
แต่สิ่งที่สำคัญ คือควรเข้าใจก่อนว่าอนัตตา หมายถึงอะไร ปรมัตถธรรม หมายถึงอไร จึงจะไม่หลงทางว่ามีเราที่เข้าไปจัดการสิ่งต่างๆ ได้.
......................................
ในชีวิตใดชีวิตหนึ่ง ต้องประสบกับสภาพธรรม ตามเหตุ ปัจจัยที่ชีวิตนั้นๆ ได้สะสมมาแล้วในอดีต ผู้ที่มีความสงสัยในความจริงของชีวิตหากไม่ได้พบพระสัทธรรมจะไม่มีทางได้คำตอบที่แท้จริง.
การศึกษาพระธรรมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากโดยต้องศึกษาพระธรรมด้วยตนเอง จนกว่าจะเป็นปัญญาของตนเองและการมีกัลยาณมิตรก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะพระธรรมไม่ใช่จะเข้าใจได้ง่ายๆ
...................................
แม้ศึกษาพระธรรมแล้วก็ต้องเข้าใจจุดประสงค์ว่าเพื่อเข้าใจก่อน แล้วมีความมั่นคงเท่าที่จะเป็นไปตามเหตุปัจจัย บางครั้งสิ่งที่เคยสงสัย ก็ได้คำตอบจากการศึกษาพระธรรม.
บางครั้ง สิ่งที่เคยสงสัยแต่ยังไม่ได้คำตอบก็หายสงสัย จากการศึกษาพระธรรม.
บางครั้ง สิ่งที่ยังไม่เคยแม้แต่จะสงสัยก็ได้คำตอบ จากการศึกษาพระธรรม.
การศึกษาพระธรรม เป็น จิรกาลภาวนา
ขออนุโมทนาในกุศลจิต
ขออนุโมทนาค่ะ
ได้อ่านเรื่องหมอรักษาคนใข้ที่คุณ Suwit02 กรุณายก ตย. มาก็เคยรู้สึกอะไรทำนองนั้นเหมือนกันค่ะ แต่ก็ไม่แน่ใจว่า คิดเข้าข้างตัวเองและคิดถูกหรือเปล่า
สำหรับคำแนะนำที่ว่า "การเจริญอุเบกขาตามกาลอันควร จนถึงขั้นที่ทำให้ใจผ่องใสไม่เศร้าหมองจึงอยู่ในวิสัยที่คนมีปกตูปนิสัย " ขอน้อมรับไปศึกษาและปฎิบัตินะคะ
จากข้อความของคุณปริศนาที่ว่า
"แล้วแต่ว่าบุคคลนั้น สะสมมา ที่จะรัก พอใจ ยึดมั่นในสิ่งใดมาก เมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามความปรารถนาจึงมีความไม่สบายใจมาก เศร้าหมองมาก เป็นธรรมดา"
เป็นจริงค่ะ และรู้ตัวดีว่ายังยึดติดกับตัวตน สัตว์ บุคคลอยู่ ยังไม่สามารถละวางได้ เพราะมันเหมือนเป็นอุปนิสัย (ความเคยชิน) ที่สั่งสมมา
และอีกข้อความที่ว่า
"แต่วิธี...ไม่ใช่หนี ไม่ใช่ห้าม ไม่รับรู้ เพราะเมื่อสภาพธรรมใดๆ มีปัจจัยเกิด ก็ต้องเกิดต้องรู้ แต่ควรเผชิญหน้าด้วยความรู้คือเจริญสติรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นๆ จนกว่าชิน จนกว่าจะเห็นว่า เป็นปกติ ธรรมดาซึ่งต้องอบรมเป็นเวลานาน" อืมแม่นจังค่ะ คุณปริศนาเหมือนเห็นเลยนะคะ เพราะตอนนี้ก็พยายามหนี และเลี่ยงที่จะเดินผ่านจุดที่พวกเค้าอยู่ เพื่อที่จะไม่ต้องเห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น คงต้องขอเวลาศึกษา
พระธรรมและฟังบรรยายจากท่านอาจารย์สุจินต์ และวิทยากรท่านอื่นๆ เพื่อขัดเกลานานหน่อยค่ะ ขอบคุณมากๆ ค่ะ คุณ Suwit02 และคุณปริศนา ที่เมตตาให้ความรู้ช่วยเติมปัญญาอันน้อยนิดให้เห็นถูกกว่าที่เป็นอยู่ หากติดข้องอะไรหวังว่าจะได้รับความกรุณาอีกนะคะขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอีกครั้งค่ะ
ขอเชิญอ่านกระทู้ที่เกี่ยวข้อง
10066
ปกตูปนิสสยปัจจัย....กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อกุศล.
โดย ปริศนา
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ
ขอบคุณในเมตตาจิตคะ คุณsuwit02 กำลังหาคำอธิบายอยู่พอดีสาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนามิ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ