อย่างใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค อินทริยกถา มีข้อความว่า
ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เป็นไฉน
ประการที่ ๑ ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นของเที่ยง ๑
ประการที่ ๒ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นทุกข์ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นสุข ๑
ประการที่ ๓ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นอนัตตา ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นอัตตา ๑
ประการที่ ๔ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความสิ้นไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นก้อน ๑
ประการที่ ๕ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเสื่อมไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความประมวลมา ๑
ประการที่ ๖ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความแปรปรวน ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยั่งยืน ๑
ประการที่ ๗ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นสภาพหานิมิตมิได้ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยเป็นสภาพนิมิต ๑
ประการที่ ๘ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพไม่มีที่ตั้ง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยสภาพมีที่ตั้ง ๑
ประการที่ ๙ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพสูญ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยึดมั่น ๑
ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เหล่านี้ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เหล่านี้
รับฟัง และ อ่านรายละเอียด
ปุถุชนเจริญวิปัสสนา
ขออนุญาตสอบถามเกี่ยวกับวิปัสสนาญาณหน่อยครับ
กระผมทราบมาว่าเมื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วได้วิปัสสนาญาณ แต่ยังไปไม่ถึงขั้นที่ 16 หากเว้นจากการปฏิบัติไปช่วงหนึ่ง เมื่อพบเจอเรื่องราวทางโลก ญาณเหล่านั้นอาจเสื่อมได้เพราะยังไม่ถึงความเป็นอริยบุคคล เป็นเพียงจุลโสดาบันอยู่ แต่หากได้มีโอกาสเจริญกรรมฐาน ญาณที่เสื่อมไปสามารถกลับคืนมาได้เร็วกว่าคนที่ปฏิบัติครั้งแรก กระผมมีความเข้าใจผิด-ถูก ประการใดขอผู้รู้ชี้แนะขยายความให้กระผมด้วยครับ
วิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่รู้อย่างแจ่มแจ้งแทงตลอดสภาพธรรม มีเป็นลำดับขั้น ถ้าหากไม่มีความเข้าใจตั้งแต่ต้นแล้ว วิปัสสนาญาณย่อมไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย สำคัญที่การเริ่มต้นฟังให้เข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้
วิปัสสนาญาณเป็นเรื่องที่ไกล ปัญญาจะมีมาก จนกระทั่งสมบูรณ์ สามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นได้นั้น ต้องอาศัยการสะสมปัญญา ไปทีละเล็ก ทีละน้อย เป็นเรื่องของความเข้าใจโดยตลอด ปัญญาที่สะสมไม่เสื่อม หรือสูญหายไปไหน ครับ
เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม ก็ไม่ควรลืมว่า ในแต่ละภพในแต่ละชาติ มีชีวิตอยู่ก็เพื่อได้ฟังพระธรรม ได้สะสมอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกยิ่งขึ้น ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาต่อไป ครับ