อยากทราบความหมายของคำว่า น้อมจิต และ โยนิโสมนสิการ
โดย natural  14 พ.ย. 2555
หัวข้อหมายเลข 22054

ขอความกรุณาจากผู้รู้อธิบายคำว่า "น้อมจิต" และ "โยนิโสมนสิการ" เนื่องจากเข้าใจว่าจิตมีสภาพเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ จิตเกิดดับ เป็นไปด้วยเหตุปัจจัย ทางธรรม น้อมจิตเป็นสภาพจงใจหรือโยนิโสมนสิการหรือเป็นไปตามธรรมชาติหรืออย่างไรคะ



ความคิดเห็น 1    โดย natural  วันที่ 14 พ.ย. 2555

ขอเพิ่มเติม ถามความหมายของคำว่า "น้อมบุญ" เนื่องจากมีผู้หนึ่ง เมื่อกลับจากปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆ มักกล่าวว่า "น้อมบุญให้" ทุกครั้ง ที่ได้ยินไม่เข้าใจว่า น้อมบุญได้หรือไม่อย่างไร

เหมือนการอุทิศส่วนกุศลหรือไม่ จึงไม่ได้กล่าวอนุโมทนา เพราะไม่เข้าใจในความหมาย

ขอบพระคุณค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 15 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นการได้ยินคำใด สิ่งสำคัญเสมอ คือ ย้อนกลับมาที่ตัวปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง สําหรับ การน้อมจิตนั้น ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เมื่อจิตเกิด จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ครับ เพราะฉะนั้น คำว่าน้อมจิตจึงหมายถึง จิตที่น้อมไปตามสภาพธรรม คือเจตสิกที่เกิดขึ้น ครับ ซึ่งจิตมีมากมายหลายประเภท เพราะอาศัยสัมปยุตตธรรม คือสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิตคือเจตสิกที่มีหลายประเภท เพราะฉะนั้น จิตจึงน้อมไปตามเจตสิกที่เกิดขึ้น ซึ่งเจตสิก ก็มีทั้งที่เป็นเจตสิกที่ดีและไม่ดี เพราะฉะนั้น จิตก็น้อมไปตามเจตสิกแต่ละประเภทที่เกิดขึ้น จึงไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ที่จะน้อมจิตไป แต่เป็นสภาพธรรม คือจิตที่เป็นไปตามเจตสิกที่เกิดขึ้นที่น้อมจิตไปตามเจตสิกนั้น เพราะฉะนั้น น้อมจิตจึงมีทั้งที่เป็นการน้อมจิตไปในทางที่ดีและการน้อมจิตไปในทางที่ไม่ดี ในพระไตรปิฎกก็จะแสดงครับว่า การน้อมจิตไปในทางที่ดี คือน้อมจิตไปเพื่อดับกิเลส น้อมจิตไปในการระลึกชาติได้

ถามว่ามีใครรน้อมไปได้ไหม ไม่ได้ ครับ เพราะธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยและเป็นอนัตตา เพียงแต่ว่า เพราะอาศัยเหตุปัจจัยคือมีปัญญาและกุศลธรรมที่สะสมมามาก ทำให้เป็นผู้น้อมจิตไปในการดับกิเลส หรือน้อมจิตไปเพื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าไม่เที่ยง เป็นทกุข์และเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น จึงหมายถึงกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาและเจตสิกที่ดีอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยทำให้จิตน้อมไปที่จะรู้ความจริงนั้นครับ โดยไม่มีตัวเราที่จะน้อมหรือบังคับให้น้อมจิตไปได้ ครับ นี่คือ ความละเอียดของคำว่า น้อมจิต

- ส่วน โยนิโสมนสิการ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งองค์ธรรม คือ มนสิการเจตสิก หากเป็นการใส่ใจด้วยดีที่เกิดกับจิตที่ดี ก็เป็นโยนิโสมนสิการ ส่วนการใส่ใจไม่ดีคือเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอโยนิโสมนสิการ ซึ่งขณะที่เป็นโยนิโสมนสิการคือขณะที่จิตที่ดีเกิดขึ้น มีกุศลจิต เป็นต้น มีโยนิโสมนสิการแล้ว โดยไม่มีเราที่จะไปโยนิโส ไปทำโยนิโสมนสิการ แต่เมื่อใดกุศลจิตเกิด แสดงแล้วว่ามีโยนิโสมนสิการ หากไม่ใส่ใจด้วยดีกุศลจิตก็เกิดไม่ได้

โดยนัยตรงกันข้าม ขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่ได้คิดเลยว่าจะทำอโยนิโส แต่อโยนิโสมนสิการก็เกิดแล้ว แสดงถึงการทำหน้าที่ของธรรมและเป็นอนัตตาที่บังคับบัญชาไม่ได้เลย ครับ


ขอเพิ่มเติมถามความหมายของคำว่า "น้อมบุญ" เนื่องจาก มีผู้หนึ่งเมื่อกลับจากปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆ มักกล่าวว่า "น้อมบุญให้" ทุกครั้งที่ได้ยิน ไม่เข้าใจว่าน้อมบุญได้หรือไม่ อย่างไร เหมือนการอุทิศส่วนกุศลหรือไม่ จึงไม่ได้กล่าวอนุโมทนา เพราะไม่เข้าใจในความหมาย


- ในความเป็นจริง ไม่มีใครน้อมบุญหรือเอาบุญของตนเองให้ใครได้ บุญของใครก็ของคนนั้น ดังนั้นการใช้คำที่ถูกต้องก็จะไม่ทำให้เข้าใจพระธรรมผิดไปด้วย ดังนั้นแทนที่จะบอกว่า น้อมบุญให้ ก็กล่าวถึงบุญกุศลให้อนุโมทนาจึงจะควร เพราะกุศลของใครก็ของคนนั้น หากเกิดจิตอนุโมทนาก็เป็นกุศลใหม่ที่ไม่ใช่กุศลของผู้ที่บอก แล้วก็เป็นคนละบุญกัน เพราะจิตเมื่อเกิดขึ้นและดับไป ใหม่เสมอ จึงไม่สามารถจะเอาบุญเก่าที่เกิดกับตนเองและดับไปหมดแล้ว จะ (มาให้) มาน้อมบุญให้กับคนอื่นได้เลย ครับ ซึ่งควรจะมาพิจารณาให้ถูกต้องครับว่า ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น คําว่า น้อมบุญ หมายถึง อะไร

น้อมบุญในที่นี้ ที่ถูกต้องหมายถึงการระลึกถึงบุญของตนเอง น้อมไปเพื่อเป็นไปเพื่อการดับกิเลส เป็นต้น เช่น การให้ทาน ก็น้อมบุญนี้ไปเพื่อถึงการดับกิเลส การฟังธรรมก็น้อมบุญที่เกิดจากการฟังธรรม น้อมไปเพื่อถึงการดับกิเลสในอนาคต อันเป็นการแสดงถึงบุญที่เป็น บารมี เพราะน้อมบุญไปเพื่อถึงการดับกิเลส ครับ

ดังเช่น พระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ที่ทำกุศล (บุญ) แล้วย่อมน้อมบุญไปเพื่อถึงอนุตตรสัมมมาสัมโพธิญาณ คือเพื่อเป็นเสบียง เพื่อให้ถึงการดับกิเลสเป็นพระพุทธเจ้า ครับ

[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ 631

พระโพธิสัตว์กระทำอภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่กัลยาณมิตร ผู้ดํารงอยู่ในฐานะครูตลอดเวลา. อนึ่งการทำการบำรุงกัลยาณมิตรเหล่านั้นตลอดเวลา. ทำการช่วยเหลือคนไข้ทั้งหลาย. ฟังบทสุภาษิตแล้ว ทำสาธุการ. พรรณาคุณของผู้มีคุณธรรม อดทนในการทำความเสียหายของคนอื่น. ระลึกถึง ผู้ทำอุปการะ. อนุโมทนาบุญ. น้อมบุญของตน เพื่อสัมมาสัมโพธิญาณ. อยู่ในความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดกาล. เมื่อมีโทษ เห็นโดยความเป็นโทษแล้ว แจ้งแก่สหธรรมิกเช่นนั้นตามความเป็นจริง. บำเพ็ญสัมมาปฏิบัติให้ยิ่งโดยชอบ.


ดังนั้น จากที่กล่าวมา การน้อมบุญจึงไม่ใช่การน้อมบุญของตนมาให้ผู้อื่น แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้น น้อมบุญ คือระลึกถึงบุญของตนเองที่ได้ทำ เพื่อเป็นไป เพื่อการดับกิเลส เป็นต้น ชื่อว่า การน้อมบุญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 3    โดย natural  วันที่ 15 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมมากค่ะ และอนุโมทนาในกุศลจิตที่ช่วยให้เข้าใจขึ้นค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 15 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 5    โดย nopwong  วันที่ 15 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 15 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่ธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ มีแต่ความเป็นไปของสภาพธรรมที่มีจริงเท่านั้นเอง

การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ในสิ่งที่กำลังฟัง บ่อยๆ เนืองๆ สังขารขันธ์ย่อมปรุงแต่งน้อมไปให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ตัวตนที่น้อมไป และขณะที่กำลังฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมนี้ ย่อมมีการน้อมไปในทางที่ถูกที่ควร เป็นการอบรมความเห็นถูก เข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเท่านั้น

ดังนั้น การน้อมจิตไป ไม่มีตัวตนที่จะน้อมไป แต่เป็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นไป น้อมไปในกุศลธรรมทั้งหลายนั่นเอง ซึ่งต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อยังกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อมได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่องของ ทาน ศีล และ การอบรมเจริญปัญญา และประการที่สำคัญ ขณะที่กุศลเจริญขึ้นนั้น ย่อมเป็นการละคลายขัดเกลากุศลด้วย และในขณะนั้น ก็เป็นการใส่ใจอย่างถูกต้อง แยบคายด้วย เพราะเป็นกุศล ครับ

- ในประเด็นที่ ๒ นั้น ลักษณะของการน้อมบุญไป ก็ต้องตามที่อาจารย์ผเดิม ได้กล่าวไว้แล้ว สำหรับในบางครั้ง เวลาที่ได้เจริญกุศลอะไรมา มีการฟังพระธรรม ให้ทาน เป็นต้น ก็มีกุศลจิตเกิด ประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนาด้วย ก็มีการบอกว่าได้ทำอะไรมา เป็นต้น ซึ่งเป็นความปรารถนาดีที่จะให้ผู้อื่นเกิดกุศลจิตอนุโมทนา สำคัญที่ความเข้าใจถูก เห็นถูก ว่าไม่ใช่นำบุญหรือความดีของเราไปให้คนอื่น เพราะกุศลของใครก็เป็นของคนนั้น แต่ผู้นั้นเกิดกุศลจิตอนุโมทนาด้วย ก็เป็นกุศลจิตของผู้อนุโมทนา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 7    โดย wannee.s  วันที่ 15 พ.ย. 2555

น้อมจิต หรือ โยนิโสมนสิการ เป็นการคิดด้วยความแยบคายที่ทำให้กุศลเกิดขึ้นหรือกุศลเจริญขึ้น และ ประกอบด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่ไปบังคับบัญชาแบบจิตสั่ง ค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย natural  วันที่ 15 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่น และทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย nong  วันที่ 16 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย เมตตา  วันที่ 16 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิต อ. คำปั่น, อ.ผเดิม

และทุกๆ ท่านด้วยค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย natre  วันที่ 18 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 13    โดย rrebs10576  วันที่ 19 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 15    โดย jaturong  วันที่ 28 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 16    โดย chatchai.k  วันที่ 20 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ