๙. ปลายิชาดก ว่าด้วยขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบ
โดย บ้านธัมมะ  22 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35647

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 422

๙. ปลายิชาดก

ว่าด้วยขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 422

๙. ปลายิชาดก

ว่าด้วยขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบ

[๓๐๗] เมืองตักกสิลาถูกเขาล้อมไว้ทุกด้านแล้ว ด้วยกองพลช้างตัวประเสริฐ ซึ่งร้องคำรนอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพม้าตัวประเสริฐซึ่งคลุมมาลาเครื่องครบอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองพลรถ ดุจคลื่นในมหาสมุทรอันยังฝนคือลูกศรให้ตกลงด้านหนึ่ง ด้วยกองพลเดินเท้าถือธนูมั่นมีฝีมือยิงแม่นอยู่ด้านหนึ่ง.

[๓๐๘] ท่านทั้งหลายจงรีบรุกเข้าไป และจงรีบบุกเข้าไป จงไสช้างให้หนุนเนื่องกันเข้าไปเลย จงโห่ร้องให้สนั่นหวั่นไหวในวันนี้ ดุจสายฟ้าอันซ่านออกจากกลีบเมฆคำรนอยู่ ฉะนั้น.

จบ ปลายิชาดกที่ ๙

อรรถกถาปลายิชาดกที่ ๙

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภปลายิปริพาชก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า คชคฺคเมเฆภิ ดังนี้.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 423

ได้ยินว่า ปริพาชกนั้นท่องเที่ยวไปทั่วชมพูทวีป เพื่อการโต้วาทะ ไม่ได้รับการโต้ตอบวาทะอะไร แล้วจนลุถึงเมืองสาวัตถีโดยลำดับ ถามมนุษย์ทั้งหลายว่า ใครๆ สามารถจะโต้ตอบวาทะกับเรามีบ้างไหม. พวกมนุษย์ต่างพากันสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า พระมหาโคดมผู้สัพพัญญูเลิศกว่าสัตว์สองเท้า ทั้งหลาย ผู้เป็นใหญ่โดยธรรม ย่ำยีวาทะของผู้อื่น เป็นผู้สามารถจะโต้ตอบวาทะกับคนเช่นท่านแม้ตั้งพัน ปราชญ์ผู้มีวาทะขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นในชมพูทวีป แม้ทั้งสิ้นที่จะสามารถล่วงเลยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นมิได้มี. บรรดาวาทะทั้งปวงมาถึงบาทมูลของพระองค์เป็นผุยผงไปดุจคลื่นสมุทรกระทบฝั่งฉะนั้น. ปริพาชกถามว่า ก็เดี๋ยวนี้พระองค์ประทับอยู่ที่ไหน ได้ฟังว่า ที่พระเชตวันมหาวิหาร กล่าวว่า เราจักไปประวาทะกับพระองค์ในบัดนี้ แวดล้อมด้วยมหาชนไปสู่เชตวันมหาวิหาร พอเห็นซุ้ม ประตูเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพระราชกุมารพระนามว่า เชตะ ทรงสละทรัพย์เก้าโกฏิสร้าง ถามว่า นี้คือปราสาทที่ประทับของพระสมณโคดมหรือ ได้ฟังว่า นี้คือซุ้มประตู กล่าวว่า ซุ้มประตูยังเป็นถึงเพียงนี้ คฤหาสน์ที่ประทับจะเป็นเช่นไร เมื่อมหาชนกล่าวว่า ชื่อว่าพระคันธกุฏีประมาณไม่ถูก กล่าวว่า ใครจะโต้ตอบวาทะกับพระสมณโคดมเป็นถึงปานนี้ได้. จึงหนีไปจากที่นั้นเอง. มนุษย์ทั้งหลายต่างอึงคะนึงกันจะเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร พระศาสดาตรัสถามว่า ทำไมจึงมากันผิดเวลา


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 424

กราบทูลความเป็นไปให้ทรงทราบ. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ปริพาชกผู้นี้เห็นซุ้มประตูของเราก็หนีในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็หนีไปแล้วเหมือนกัน พวกมนุษย์เหล่านั้นจึงทูลอาราธนา ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เสวยราชสมบัติในเมืองตักกสิลาในแคว้นคันธาระ. พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี. พระเจ้าพรหมทัตนั้นทรงดำริว่า จักตีเมืองตักกสิลา จึงยกพลนิกายใหญ่ไปตั้งมั่นอยู่ไม่ไกลจากเมืองตักกสิลา ทรงซักซ้อมเสนาว่า จงส่งกองช้างเข้าไปด้านนี้ ส่งกองม้าเข้าไปด้านนี้ ส่งกองรถเข้าไปด้านนี้ ส่งพลราบเข้าไปด้านนี้ เมื่อบุกเข้าไปอย่างนี้แล้ว จงใช้อาวุธทั้งหลาย จงให้ห่าฝนลูกศรให้ตกดังหมู่วลาหกโปรยฝนลูกเห็บฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้ ได้ตรัสสองคาถานี้ว่า :-

เมืองตักกสิลาถูกเขาล้อมไว้ทุกด้านแล้ว ด้วยกองพลช้างตัวประเสริฐ ซึ่งร้องคำรนอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองพลม้าตัวประเสริฐ ซึ่งคลุมมาลาเครื่องครบอยู่ด้านเหนือ ด้วยกองพลรถดุจคลื่นในมหาสมุทรอันยังฝน คือลูกศรให้ตกลงด้านหนึ่ง ด้วยกองพลเดินเท้าถือธนูมั่น มีฝีมือยิงแม่นอยู่ด้านหนึ่ง ท่านทั้งหลายจงรีบบุกเข้าไป และจงรีบบุกเข้าไป จงไสช้างให้หนุนเนื่อง


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 425

กันเข้าไปเลย จงโห่ร้องให้สนั่นหวั่นไหว ในวันนี้ดุจสายฟ้าอันซ่านออกจากกลีบเมฆ คำรน อยู่ฉะนั้น.

พระเจ้าพรหมทัตนั้นทรงตรวจพลปลุกใจเสนาให้คึกคัก ฉะนี้แล้วเคลื่อนทัพไปถึงที่ใกล้ประตูนคร เห็นซุ้มประตูแล้ว ตรัสถามว่า นี้คือพระราชมณเฑียรหรือ เมื่อเหล่าเสนากราบทูลว่า นี้คือซุ้มประตูนคร ยังเป็นถึงปานนี้ พระราชมณเฑียรจะเป็นเช่นไร ได้สดับว่าเช่นกับเวชยันตปราสาท ตรัสว่า เราไม่อาจสู้รบกับพระราชาผู้ถึงพร้อมด้วยยศอย่างนี้ ได้ทอดพระเนตรซุ้มประตูแล้ว เสด็จหนีกลับสู่เมืองพาราณสี.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วทรงประชุมชาดก. พระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น ได้เป็นปลายิปริพาชกในครั้งนี้ ส่วนพระราชาเมืองตักกสิลา คือเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาปลายิชาดกที่ ๙