[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 60
๑๑. เรื่องพระอุชฌานสัญญีเถระ [๑๙๒]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 60
๑๑. เรื่องพระอุชฌานสัญญีเถระ [๑๙๒]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเถระรูปหนึ่งชื่อ อุชฌานสัญญี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส" เป็นต้น.
คุณวิเศษให้เกิดแก่ผู้เพ่งโทษผู้อื่น
ได้ยินว่า พระเถระนั้นเที่ยวแส่หาแต่โทษของภิกษุทั้งหลายเท่านั้นว่า "ภิกษุนี้ ย่อมนุ่งอย่างนี้, ภิกษุนี้ ย่อมห่มอย่างนี้". พวกภิกษุ กราบทูลแด่พระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระชื่อโน้น ย่อมกระทำอย่างนี้."
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในข้อวัตรกล่าวสอนอยู่อย่างนี้ ใครๆ ไม่ควรติเตียน, ส่วนภิกษุใด แสวงหาโทษของชนเหล่าอื่น เพราะความมุ่งหมายในอันยกโทษ กล่าวอย่างนี้แล้วเที่ยวไปอยู่, บรรดาคุณวิเศษมีฌานเป็นต้น คุณวิเศษแม้อย่างหนึ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น. อาสวะทั้งหลายเท่านั้น ย่อมเจริญอย่างเดียว" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
๑๑. ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺิโน อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อารา โส อาสวกฺขยา.
"อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ผู้คอยดูโทษของบุคคลอื่น ผู้มีความมุ่งหมายในอันยกโทษเป็นนิตย์, บุคคลนั้น เป็นผู้ไกลจากความสิ้นไปแห่ง อาสวะ."
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 61
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุชฺฌานสญฺิโน ความว่า บรรดาธรรมทั้งหลายมีฌานเป็นต้น ธรรมแม้อย่างหนึ่ง ย่อมไม่เจริญแก่บุคคลผู้ชื่อว่ามากไปด้วยการยกโทษ เพราะความเป็นผู้แส่หาโทษของชนเหล่าอื่นว่า "ควรนุ่งอย่างนั้น, ควรห่มอย่างนี้" เป็นต้น โดยที่แท้อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้อยู่ไกล คือแสนไกลจากความสิ้นไปแห่งอาสวะ กล่าวคือพระอรหัต.
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องพระอุชฌานสัญญีเถระ จบ.