การทำบุญ
โดย oom  8 ต.ค. 2551
หัวข้อหมายเลข 10088

มีน้องที่ทำงาน มีความศรัทธาในการทำบุญมาก เมื่อลาออกจากงาน ได้เงินมาก้อนหนึ่งก็นำเงินไปบริจาควัดแห่งหนึ่งที่เขาศรัทธาทั้งหมด โดยไม่ได้เก็บไว้ใช้เลย ความที่เขามีความศรัทธาอย่างมาก ก็พยายามชวนให้คนใกล้ชิดไปทำบุญมากๆ เหมือนที่เขาทำเพื่อจะได้บุญมาก จนบางคนเบื่อ ไม่อยากพูดคุยด้วย ดิฉันเคยเตือนเขาว่าควรบอกบุญแต่พอประมาณและไม่ต้องชักจูงใครๆ มากนัก ถ้าเขามีศรัทธาเขาคงทำเอง การที่ดิฉันเตือนน้องนั้น ดิฉันทำผิดหรือไม่ เพราะเตือนเขาด้วยความหวังดี ไม่อยากให้คนอื่นมีอคติกับเขา



ความคิดเห็น 1    โดย prachern.s  วันที่ 9 ต.ค. 2551

การดำเนินชีวิตของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน พระพุทธองค์ทรงแนะนำสาวกทั้งหลายให้รู้จักใช้ทรัพย์ที่หามาได้ตามสมควร คือ บางส่วนใช้สำหรับประกอบอาชีพ บางส่วนทำบุญบางส่วนเก็บสะสมไว้เพื่อไว้ใช้เมื่อมีอันตราย บางส่วนใช้บริโภคเอง เลี้ยงมารดาบิดา บุตร ภรรยา เพื่อน คนใช้คนงานให้มีความสุข ดังนั้นตามนัยของพระธรรมส่วนนี้คฤหัสถ์ที่มีหน้าที่อันต้องรับผิดชอบ เมื่อได้ทรัพย์มาแล้วนำไปบริจาคทำบุญทั้งหมดจึงไม่ถูกต้อง ถ้าหากเรามีเพื่อนที่ทำไม่ถูกต้อง ควรแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องจึงจะควรครับ


ความคิดเห็น 2    โดย suwit02  วันที่ 9 ต.ค. 2551

สาธุ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 9 ต.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของคฤหัสถ์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโภคทรัพย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเป็นเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน (ซึ่งแตกต่างไปจากเพศบรรพชิต เพราะเพศบรรพชิต ไม่มีเงินทอง เนื่องจากท่านเว้นจากการรับเงินรับทอง) โภคทรัพย์นั้นนอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับตนเองแล้ว ยังสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นๆ ด้วย ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงหลักของการใช้จ่ายทรัพย์ไว้หลายนัย อย่างเช่น ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สิงคาลกสูตร โดยสรุปได้ว่าคฤหัสถ์ พึงแบ่งโภคสมบัติออกเป็น ๔ ส่วน คือ พึงใช้สอยโภคทรัพย์ด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน และ พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ใช้ในยามที่มีอันตราย ความดีทั้งหลายเป็นสิ่งที่ควรทำในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าทำตามสมควร พอเหมาะ พอดีย่อมเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรกระทำ แต่ถ้านำทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดไปทำบุญ โดยไม่เหลือไว้เลยนั้น กล่าวได้ว่าเป็นการกระทำบุญที่เกินตัว จนอาจจะทำให้เกิดความทุกข์ยาก ลำบาก เดือดร้อนในภายหลัง พร้อมทั้งเป็นภาระให้กับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ขาดความรอบคอบ ขาดเหตุผลย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควร ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เป็นมิตรจะคอยแนะนำให้เขาเข้าใจในสิ่งที่ควรคือ แนะนำในความพอดี ซึ่งจะทำให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในภายหลังอีกด้วย และในความเป็นจริงแล้วมีความดีหลายประการด้วยกันที่ไม่ต้องใช้ทรัพย์ เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน การขวนขวายในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น การฟังธรรม การแสดงธรรม ให้บุคคลอื่นเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นต้น

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย เมตตา  วันที่ 9 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย pornchai.s  วันที่ 9 ต.ค. 2551

ในปัตตกัมมสูตร พระพุทธเจ้าได้แสดงการใช้ทรัพย์อย่างเหมาะสม 4 ประการ คือ

1. เลี้ยงตน เลี้ยงมารดาบิดา บุตร ภริยาบ่าว ไพร่ คนอาศัย เพื่อนฝูง ให้เป็นสุขเอิบอิ่ม สำราญดีด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่นขยัน ได้มาโดยธรรม (ถูกต้อง) นี้เป็นการใช้ทรัพย์ที่สมควรข้อที่ 1

2. บำบัดอันตรายทั้งหลายที่เกิดแต่ไฟก็ดี เกิดแต่น้ำก็ดี เกิดแต่พระราชาก็ดี เกิดแต่โจรก็ดี เกิดแต่ทายาทผู้เกลียดชังกันก็ดี ย่อมทำตนให้สวัสดี (จากอันตรายเหล่านั้น) ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้โดยธรรม (ถูกต้อง)

3. สงเคราะห์ญาติ ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ราชพลี (ช่วยราชการ) เทวตาพลี (ทำบุญอุทิศให้เทวดา) ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม

4. (บริจาค) ทักษิณาทานอย่างสูงที่จะอำนวยผลดีเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นทางสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เว้นไกลจากความมัวเมาประมาทด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบธรรม


ความคิดเห็น 6    โดย pornchai.s  วันที่ 9 ต.ค. 2551

เห็นได้ว่าการใช้โภคทรัพย์ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ต้องให้อย่างเดียวเท่านั้น ต้องรู้จักเก็บบาง ส่วนไว้คราวมีอันตราย คราวจำเป็น บางส่วนสำหรับให้ราชการ เป็นต้น และที่สำคัญก็ต้องใช้ทรัพย์ในการบำรุงให้ตนเองเป็นสุขด้วย ไม่ใช่เก็บหรือใช้จนตัวเองลำบาก ดังนั้น การเตือนด้วยอธิบายเหตุผล โดยเฉพาะจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้น้องเขาฟังเป็นสิ่งที่ดี ว่าควรให้อย่างไร อธิบายว่า บางคนเขาก็ไม่ได้มีศรัทธาไปทุกคน ดังนั้น การชวนทำบุญจึงต้องรู้จักบุคคลนั้นพอสมควรด้วยครับ การอธิบายให้ตรง ตามพระธรรมจึงเป็นกาแนะนำที่ดีแล้วครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 9 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย จำแนกไว้ดีจ๊ะ  วันที่ 9 ต.ค. 2551

กุศลที่เป็นญาณสัมปยุตได้ชื่อว่า กุศล ถึง ๓ อย่าง คือด้วยอรรถว่าไม่มีโรค ด้วยอรรถว่าไม่มีโทษ ด้วยอรรถว่าเกิด แต่ความฉลาดกุศลที่เป็นญาณวิปปยุต ได้ชื่อว่า กุศล เพียง ๒ อย่างเท่านั้น


ความคิดเห็น 9    โดย wirat.k  วันที่ 10 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาครับ

แนะนำเขาตามกาล โอกาสที่จะเอื้ออำนวย ด้วยจิตเมตตาปราถนาดี แต่ถ้าเขาไม่รับฟัง ก็คงต้องนิ่ง คอยช่วยเหลือตามสถานการณ์เท่าที่จะทำได้ครับ


ความคิดเห็น 10    โดย pornpaon  วันที่ 10 ต.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย เซจาน้อย  วันที่ 13 ต.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 12    โดย oom  วันที่ 14 ต.ค. 2551

วันที่ 16 ต.ค 51 เป็นวันตักบาตรเทโวตามประเพณี เพื่อนดิฉันชวนดิฉันไปใส่บาตรเนื่องจากเขาหยุดงาน ดิฉันปฏิเสธไป เพราะต้องทำงาน ไม่สะดวก เพื่อนดิฉันก็ผิดหวัง ดิฉันแนะนำว่า ใส่บาตรที่ไหนก็ได้ที่เราสะดวกไม่ต้องไปไกล ดิฉันทำผิดหรือเปล่าที่ไม่ไปเป็นเพื่อนเขา เพราะดิฉันคิดว่าการทำบุญ ทำที่ไหนก็ได้ขอให้เราสะดวกไม่ต้องไปแออัด เบียดเสียดกัน


ความคิดเห็น 13    โดย wannee.s  วันที่ 14 ต.ค. 2551

จิตเลื่อมใสที่ไหนก็ทำบุญที่นั้น อยู่ที่เจตนาเราแนะนำสิ่งที่ดีให้เพื่อน เราไม่ได้ทำ ผิด ถ้ากุศลจิตเกิด การไปเป็นเพื่อน อยู่เป็นเพื่อน ทำธุระให้เพื่อน เป็นเพื่อนที่ดีค่ะ


ความคิดเห็น 14    โดย paderm  วันที่ 14 ต.ค. 2551

กุศลไม่ได้มีแค่ขั้นทาน ที่สำคัญ ใส่บาตรก็ใส่ที่ไหนก็ได้แล้วแต่สะดวกครับ บุญอยู่ที่ จิตเป็นสำคัญ

ขออนุโมทนา