ความจริงแห่งชีวิต [156] สมิทธิสูตร - โลก หรือ การบัญญัติ ว่า โลก
โดย พุทธรักษา  20 ก.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 13632

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สมิทธิสูตรที่ ๔ ข้อ ๗๕ ท่านพระสมิทธิทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้า​แต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า โลก โลก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรจึงเป็นโลกหรือบัญญัติว่า​โลก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร สมิทธิ จักขุ รูป จักขุวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งกับจักขุวิญญาณ มีอยู่ ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่า​โลกก็มีอยู่ ณ ที่นั้น ฯลฯ

การที่จะรู้จักโลกได้นั้นก็เพราะมีตา จึงเห็นสีสันวัณณะของโลก มีหูจึงได้ยินเสียงโลก มีจมูกจึงได้กลิ่นโลก มีลิ้นจึงได้รู้รสโลก มีกายจึงรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวของโลก ถ้า​ไม่มีทางเหล่า​นี้เลย โลกจะปรากฏได้ไหม เมื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้โผฏฐัพพะ ไม่คิดนึก โลกไหนจะปรากฏ โลกใดๆ ย่อมไม่ปรากฏ ฉะนั้น ที่ยึดถือว่า​เป็นโลกกำลังปรากฏก็เพราะเห็น เห็นอะไร เห็นโลก สิ่งที่ปรากฏทางตา​เป็นโลก ได้ยินเสียงอะไร เสียงเป็นโลกอีกเหมือนกัน ถ้า​ไม่มีเสียงเลย ไม่มีได้ยินเลยโลกเสียงก็ไม่มี ฉะนั้น โลกซึ่งประกอบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ปรากฏได้เพราะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงไม่ต้องแสวงหา​โลกที่อื่น ไม่ว่า​จะอยู่ ณ โลกไหน โลกนั้นๆ จะปรากฏได้ก็เพราะตา​เป็นปัจจัยให้เห็น หูเป็นปัจจัยให้ได้ยิน จมูกเป็นปัจจัยให้ได้กลิ่น ลิ้นเป็นปัจจัยให้ลิ้มรส กายเป็นปัจจัยให้รู้โผฏฐัพพะ และใจคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเอง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร สมิทธิ จักขุ รูป จักขุวิญญาณ ธรรมที่พึงรู้แจ้งกับจักขุวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่า​โลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯลฯ ใจ ธัมมายตนะ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งกับมโนวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่า​โลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์



ความคิดเห็น 1    โดย พุทธรักษา  วันที่ 21 ก.ย. 2552

พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า
"ดูกร สมิทธิ จักขุ รูป จักขุวิญญาณธรรม ที่พึงรู้แจ้งด้วยจักขุวิญญาณไม่มี ณ ที่ใดโลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น ฯลฯ ใจ ธัมมายตนะ มโนวิญญาณ ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณไม่มี ณ ที่ใด โลกหรือการบัญญัติว่าโลกก็ไม่มี ณ ที่นั้น

ขอเรียนถามว่าข้อความที่ขีดเส้นใต้ หมายถึงอะไรคะ.?

ขอขอบพระคุณอย่างสูง.


ความคิดเห็น 2    โดย prachern.s  วันที่ 21 ก.ย. 2552

คำว่า ธรรม ที่พึงรู้แจ้งด้วยจักขุวิญญาณ ในอรรถกถา ท่านอธิบายว่าหมายถึง เจตสิกที่ประกอบในจักขุวิญญาณ และ ธรรม ที่พึงรู้แจ้งด้วยมโนวิญญาณ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ หมายถึง เจตสิกที่เกิดร่วมกับมโนวิญญาณ ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย พุทธรักษา  วันที่ 21 ก.ย. 2552

คำว่า "รู้แจ้ง" ในที่นี้ อาจจะรวมปัญญาเจตสิก หรือไม่ก็ได้ ใช่ไหมคะ.?


ความคิดเห็น 4    โดย ups  วันที่ 21 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย prachern.s  วันที่ 22 ก.ย. 2552

เรียนความเห็นที่ 3

คำว่า "รู้แจ้ง" ส่วนใหญ่ จะหมายถึงลักษณะของจิต

แต่เจตสิกก็รู้เช่นกัน แต่ลักษณะของปัญญา คือ รู้ทั่ว รู้ชัด ครับ


ความคิดเห็น 6    โดย พุทธรักษา  วันที่ 22 ก.ย. 2552

ขอบพระคุณค่ะ.


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย Jarunee.A  วันที่ 6 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ