มี แล้วไม่มี แล้วหามีไม่
โดย ใหญ่ราชบุรี  9 ส.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23319

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียนขอ คำอธิบาย นะคะ มี แล้วไม่มี แล้วหามีไม่ ข้อความนี้ หมายความถึง ขณะใดบ้าง ของ จิต และ รูป (นามธรรม + รูปธรรม) ข้อความนี้ หมายความอย่างไร มีปรากฏใน พระไตรปิฎก ส่วนใด ช่วยยก ตัวอย่าง ด้วยค่ะ

ขอขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนา ใน ความอนุเคราะห์ นะคะ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 9 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

“ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่” แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุ ปัจจัยและเมื่อเกิดแล้ว ก็จะต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เช่น ก่อน เห็นเกิดขึ้น ไม่มีเห็น แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น และเมื่อเห็นเกิดขึ้น ก็มีความดับไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นตั้งอยู่เพียงขณะสั้นๆ เท่านั้น ตามข้อจาก ...

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้า ๑๐๓ ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขารแม้ทั้งปวงในภพทั้งหลาย มีกามภพเป็นต้น เป็นสภาพไม่เที่ยงเลย เพราะอรรถว่า มีแล้วไม่มี”


ตามความเป็นจริงแล้ว ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริง เป็นปรมัตถธรรม ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เพราะเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง อารมณ์ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป และทุกขณะของชีวิตไม่มีขณะใดเลยที่จะ ปราศจากจิต

เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) ก็เป็นสภาพธรรมมีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิด พร้อมกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ซึ่ง เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ สติ (สภาพที่ระลึกเป็น ไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้เกิดแล้วก็ดับไป

รูป หรือ รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร รู้อารมณ์อะไรๆ ไม่ได้ เพราะไม่ใช่นามธรรม รูปธรรมก็เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วก็ดับไปเช่นเดียวกัน

จึงควรที่จะได้เข้าใจว่าไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แต่สภาพธรรมเกิดแล้ว มีแล้ว ในขณะนี้จากที่ไม่มี แล้วเกิดมีเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่มีอะไรเหลือ มุ่งถึงสภาพ ธรรมที่เป็นสังขารธรรม (สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง) เท่านั้น เพราะเป็นสภาพธรรมที่ ไม่เที่ยง (เพราะเกิดดับ) เมื่อไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ (เพราะทนอยู่ไม่ได้ คือเกิดแล้วก็ต้อง ดับไป) และเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ทั้งสิ้น)

สภาพธรรมทั้งปวง เป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง เพราะเป็นชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ มีจริงเป็นของจริง และสิ่งที่มีจริงทั้งหลายเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้ง บรรลุถึงความ เป็นพระอริยบุคคล ดับกิเลสทั้งหลายได้ สำคัญอยู่ที่ปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูกตรงตามความเป็นจริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 9 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่

ควรเข้าใจความจริงว่า มีแต่ธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้นคำว่าไม่มี ก็ไม่ได้หมายถึง เรื่องราว ไม่ได้หมายถึง พระนิพพาน แต่กำลัง หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก รูป ที่ยังไม่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ขณะนี้ หากไม่มีปัจจัยให้ การเห็นเกิดขึ้น เห็นก็ไม่เกิด เช่น เพราะ ไม่มีจักขุปสาทรูป คือ ไม่ มีตา ก็ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดการเห็น จึงชื่อว่าไม่มี แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม คือ สภาพ ธรรมหลายๆ อย่าง ประชุมรวมกัน ทั้งมีตา มีแสงสว่าง มีรูปที่ปรากฎทางตา ที่เป็นสี และ มีกรรมที่จะให้ผล ก็ทำให้เกิด จักขุวิญญาณ คือ การเห็น เกิดขึ้น เรียกว่า มีแล้ว จากไม่มีการเห็น ก็เกิดจาการเห็น เกิดขึ้น ไม่มีแล้ว มี คือ จากไม่มีสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วจึงมีสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป อย่างใด อย่างหนึ่ง มีจักขุวิญญาณ การเห็น เป็นต้นเกิดขึ้น และเมื่อการเห็นเกิดขึ้นที่เป็นจิตซึ่ง เป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องดับไป เมื่อดับไปแล้ว จึง กล่าวได้ว่า หามีไม่

ความหมายของคำว่า หามีไม่ หมายถึง ไม่มีสภาพธรรมนั้นอีกเลย คือ ดับไปแล้ว ก็หมดไปอย่างสิ้นเชิง ไม่กลับมาอีก และ ก็ไม่ได้ไปอยู่ที่ไหน ครับ

เพราะฉะนั้น คำว่า ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ จึงมุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุง แต่ง ที่เป็นสังขารธรรม เท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูปที่มีการเกิดขึ้นและดับไป จึงสามารถ กล่าวได้ว่า ไม่มี คือ ยังไม่เกิด แล้ว มี คือ สภาพธรรมนั้นเกิด แล้ว หามีไม่ คือ ดับไป ไม่เหลือเลย

ซึ่งคำว่าไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ แสดงถึงสภาพธรรม กฎธรรมชาติที่เป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา อย่างไร คือ เพราะมีแล้วก็หามีไม่ คือ ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ไม่ได้ คือ ไม่สามารถที่จะเกิดแล้ว ไม่ดับไป และเป็นอนัตตา คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้เลย คือ ไม่สามารถบังคับให้ ไม่ให้มี เกิดขึ้น จากสภาพธรรมนั้นจะเกิดก็ต้องเกิด และ ไม่สามารถให้สภาพธรรมนั้นตั้งอยู่ ตลอดไป ก็ต้องดับไป ไมเหลือเลย และไม่มีสัตว์ บุคคล เป็นอนัตตา เพราะเป็นแต่จิต เจตสิก รูปที่เกิดขึ้น และ ดับไปเท่านั้น ครับ

การเข้าใจคำว่า ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ ประโยชน์ เพื่อละคลายความยึดถือ ว่ามี เรา มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม และบังคับบัญชาไม่ได้ เพื่อละคลายความเห็นผิด ว่ามีเรา มีใครอยู่ในนั้น และ ที่สำคัญ เข้าใจว่า จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครไปบังคับ ได้เลย หากไม่มีเหตุปัจจัย สภาพธรรมนั้นก็ไม่เกิด คือ ไม่มี และ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็มี เกิดขึ้น และ ก็ต้องดับไป เพราะ หมดเหตุปัจจัยที่จะดำรงอยู่ ครับ

การศึกษาพระธรรมทุกคำ ประโยชน์ คือ เพื่อเข้าใจความจริงในขณะนี้ว่าเป็น ธรรมไม่ใช่เรา เพราะ พระธรรมทุกคำ ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้นั่นเอง ครับ และ ผู้ถามขอตัวอย่างที่แสดงถึง สภาพธรรม ที่ ไม่มี แล้ว ก็มี แล้วหามีไม่ เชิญอ่าน ครับ

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ -หน้าที่ 682

ชื่อว่าการมา โดยรวมเป็นกอง โดยความสะสม ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่เกิดขึ้น ชื่อว่า การไปสู่ทิศน้อยใหญ่ ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับ ชื่อว่าการตั้งลงโดยรวมเป็นกอง โดยสะสม โดยเก็บไว้ในที่แห่งหนึ่ง ย่อมไม่มีแม้แก่ขันธ์ที่ดับแล้ว เหมือนนักดีดพิณ เมื่อเขาดีดพิณอยู่เสียงพิณก็เกิด มิใช่มีการสะสมไว้ก่อนเกิด เมื่อเกิดก็ไม่มีการ สะสม การไปสู่ทิศน้อยใหญ่ออกเสียงพิณที่ดับไปก็ไม่มี ดับแล้วไม่ว่าที่ไหนก็ไม่ สะสมตั้งไว้ ที่แท้แล้วพิณก็ดี นักดีดพิณก็ดีอาศัยความพยายามอันเกิดแต่ความพยายามของลูกผู้ชายไม่มีแล้วยังมีได้ ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ฉันใด ธรรมมีรูปและไม่มีรูปแม้ทั้งหมดก็ฉันนั้นไม่มีแล้วยังมีได้ ครั้นมีแล้วยังเสื่อมได้ พระโยคาวจร ย่อมเห็นด้วยประการฉะนี้แล


เชิญคลิกอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

ไม่มี...แล้วมี...แล้วหามีไม่

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 24 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ