การเกิดดับของรูป-นาม
โดย นิรมิต  8 ธ.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 22145

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

มีความสงสัยว่า รูปทั้งหมด จิต-เจตสิกทั้งหมด ในสากลจักรวาล เกิดดับพร้อมกันหรือไม่พร้อมกันครับ อย่างเช่น เห็นขณะหนึ่งๆ ของบุคคลนี้ กับของอีกบุคคลอื่น เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน หรือไม่ เช่น ขณะที่จิตคนนี้เป็นอุปาทขณะ ของอีกคนก็เป็นอุปาทขณะเสมอ หรือเป็นขณะอื่นเช่น ฐีติขณะ ก็ได้เช่นเดียวกับรูปเช่นกัน

ขอบพระคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 9 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจได้ว่า แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้วก็ไม่พ้นไปจาก ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม (จิตและเจตสิก) และสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สภาพรู้คือรูปธรรม ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงเหล่านี้เลย

จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกแต่ละประเภทก็เกิดกับจิตตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ จิตและเจตสิกเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีอายุที่สั้นแสนสั้นคือเพียงแค่ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ตั้งอยู่และขณะที่ดับไปเท่านั้น เมื่อจิต (พร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ขณะหนึ่งดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิกของใคร ก็เป็นเช่นนี้

รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สภาพรู้ ตัวอย่างรูป เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น รูปธรรม เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน รูปมีมากมาย มีทั้งรูปที่เป็นภายในและภายนอก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทยอยกันเกิด ทยอยกันดับ รูปแต่ละกลุ่มจะไม่ปะปนกัน กล่าวคือ รูปที่เกิดจากกรรมไม่ใช่รูปกลุ่มเดียวกันกับรูปที่เกิดจากจิต เป็นต้น และที่สำคัญ รูป จะไม่ปะปนกันกับนามธรรมอย่างเด็ดขาด อายุของรูปเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ มีอายุที่ยาวนานกว่าจิต (และเจตสิก) เพราะจิตมีขณะย่อย ๓ อนุขณะ คือ ขณะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สั้นแสนสั้นจริงๆ ไม่มีใครที่จะสามารถหยุดยั้งความเป็นไปของสภาพธรรมได้เลย ความเป็นจริงของธรรม ก็เป็นเช่นนี้ ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตาม ที่ได้ฟังได้ศึกษาก็เพื่อความเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เท่านั้นเอง ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 9 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือ จิต เจตสิกและรูป เมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องดับไป เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะอยู่ในโลกไหน จักรวาลไหน สภาพธรรมไม่ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะ อยู่ในกฎไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แต่รูปแต่ละรูป จิตแต่ละจิต เจตสิกแต่ละเจตสิกก็เกิดดับ แต่เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น รูป เกิดได้เพราะอาศัย สมุฏฐาน ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร เพราะฉะนั้น รูปบางรูปก็เกิดดับ แยกจากรูปที่อยู่ที่อื่น และเกิดจากสมุฏฐานอื่นไม่เกี่ยวกันเลย และก็ดับตามสมุฏฐานนั้นไม่เกี่ยวกันอีกเช่นกัน ส่วนจิตและเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ดับพร้อมกันและรู้อารมณ์เดียวกัน จิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นก็ต่างจิตต่างใจ ความหมายก็คือ เป็นจิตที่ทยอยกันเกิด ทยอยกันดับ ไม่เกี่ยวกัน และจิตของบุคคลอื่นก็ต่างจิตต่างใจ ไม่เกี่ยวกับจิตของอีกคน จึงเกิดดับต่างๆ กันไป ที่เกิดดับต่างๆ กันไปก็ไม่พ้นจากอำนาจของความเป็นปัจจัย คือปัจจัย ๒๔ ที่มีความแตกต่างกันไป ทั้งรูปและนาม ที่เป็นปัจจัยที่แตกต่างกันทำให้เกิดดับแตกต่างกันไป ครับ โดยไม่สามารถมาวัดได้ว่าเกิดพร้อมกันหรือไม่ เพราะอาศัยปัจจัยต่างๆ กัน

เพราะฉะนั้น ตามตัวอย่างที่ยกมา จิตเห็นของอีกคน กับจิตเห็นของอีกคนเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันหรือไม่

- ซึ่งตามที่กล่าวแล้วครับว่า จิตของแต่ละคน ก็อาศัยปัจจัยที่แตกต่างกันไป จึงไม่จำเป็นจะต้องเกิดพร้อมกันและดับพร้อมกันเสมอไป ครับ เพราะจิตเห็นอาศัยปัจจัยคือกัมมปัจจัยและอาศัยปัจจัยอื่นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อปัจจัยที่สะสมมาแตกต่างกัน การเกิดการดับจึงไม่จำเป็นที่จะพร้อมกันแม้จะเป็นรูปเดียวกัน แต่รูปนั้นก็มีอายุและเกิดดับสืบต่อกันไป ๑๗ ขณะจิต และก็เกิดขึ้นใหม่ แต่จิตเห็นของแต่ละคนก็เกิดดับไม่พร้อมกันได้ ครับ

ที่สำคัญ ประโยชน์ของการเข้าใจพระธรรม ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผู้ไปรู้จิตของผู้อื่น เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้ครับว่า เธอจงเป็นผู้ฉลาดในการรู้จิตของตนเอง อย่างไร คือต้องเข้าใจว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองก็เป็นแต่เพียงธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูปที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรา การเข้าใจจิตของตนเองด้วยปัญญา ย่อมจะได้สาระและประโยชน์ เพราะเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดจากกิเลสได้ แต่หากไม่เข้าใจจิตของตนเอง ก็ยากที่จะเข้าใจจิตของผู้อื่น เพราะไม่มีปัญญาที่จะรู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง ครับ

การศึกษาพระธรรมในเรื่องจิต เจตสิก รูป จึงไม่ใช่เป็นการรู้เรื่องจำนวนที่เป็นเรื่องราว ไม่เป็นสาระสำคัญของการศึกษา แต่สาระคือเข้าใจจิต เข้าใจเจตสิก เข้าใจรูปที่กำลังเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 3    โดย นิรมิต  วันที่ 10 ธ.ค. 2555

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนา อ.คำปั่น และ อ.ผเดิม ครับ

อยากขอรบกวนเรียนถามเพิ่มเติมอีกนิดครับ จิต-เจตสิกและรูปทั้งหมด มีอายุเท่ากันใช่ไหมครับ คือ จิต-เจตสิก ก็เกิดดับพร้อมกันโดยมีอายุ ๓ ขณะ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ โดย ๓ ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นจิตดวงไหน ที่ไหน อย่างไร ก็มีอายุ ๓ ขณะนี้เท่ากันหมด ไม่มีที่ดวงไหนดวงหนึ่ง จะมีฐีติขณะมากกว่าดวงอื่น ใช่ไหมครับ เช่นเดียวกับรูป ก็มีฐีติขณะ เท่ากับ ๑๗ ขณะของจิต เกิดดับทุกรูป ไม่มีรูปไหนมีฐีติขณะเกินกว่านี้ เพราะเคยได้ยินว่าเมื่อเทียบเวลาบนสวรรค์กับมนุษย์ สวรรค์ที่ว่านานกว่า คือนานกว่าด้วยการเกิดดับของจิตบนนั้น มีอายุยืนกว่าของมนุษย์ คือฐีติขณะของจิตบนนั้นนานกว่าในมนุษย์ ข้อนี้ ไม่จริง ถูกต้องใช่ไหมครับ


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 10 ธ.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ

รูป มีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะจิต หรือ ๕๑ ขณะย่อย ไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิใด นรก สวรรค์ มนุษย์ รูปก็มีอายุเท่ากัน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามภพภูมิ ครับ

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย นิรมิต  วันที่ 10 ธ.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ