[เล่มที่ 49] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 17
๒. สูกรเปตวัตถุ
ว่าด้วยกายงามปากเหม็น
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 49]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 17
๒. สูกรเปตวัตถุ
ว่าด้วยกายงามปากเหม็น
ท่านพระนารทะถามเปรตตนหนึ่งว่า
[๘๗] กายของท่านล้วนมีสีเหมือนทองคำ รัศมีกายของท่านสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ แต่หน้าของท่านเหมือนหน้าสุกร เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้
เปรตนั้นตอบว่า
ข้าแต่พระนารทะ เมื่อก่อนข้าพเจ้าได้สำรวมกาย แต่ไม่ได้สำรวมวาจา เพราะเหตุนั้น รัศมีกายของข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นกันที่ท่านเห็นอยู่นั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน สรีระของข้าพเจ้าท่านเห็นเองแล้ว ขอท่านอย่าทำบาปด้วยปาก อย่าให้หน้าสุกรเกิดมีแก่ท่าน.
จบ สูกรเปตวัตถุ
อรรถกถาสูกรเปตวัตถุ ๒
เมื่อพระศาสดาทรงอาศัยกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ในพระเวฬุวันกลันทกนิวาปวิหาร ทรงปรารภเปรตผู้มีหน้าเหมือนสุกรตนหนึ่ง จึงตรัสคำเริ่มต้นว่า กาโย เต สพฺพโส วณฺโณ ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 18
ได้ยินว่า ในอดีตกาล ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ ได้มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้สำรวมทางกาย แต่ไม่สำรวมทางวาจา ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย มรณภาพแล้วไปบังเกิดในนรก ไหม้ในนรกนั้นสิ้นพุทธันดรหนึ่ง จุติจากนรก นั้นแล้ว ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดเป็นเปรต ถูกความหิวกระหายครอบงำด้วยเศษวิบากของกรรมนั้นนั่นแล ณ เชิงเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์. ร่างของเปรตนั้นได้มีสีเหมือนทองคำ. แต่หน้าของเปรตนั้นเหมือนหน้าสุกร. ลำดับนั้น ท่านพระนารทะ อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ ชำระร่างกายแต่เช้าตรู่ ถือบาตรและจีวร กำลังเที่ยวบิณฑบาต ยังกรุงราชคฤห์ พบเปรตนั้นในระหว่างทาง เมื่อจะถามถึงกรรมที่เปรตนั้นทำ จึงกล่าวคาถาว่า
กายของท่านล้วนมีสีดุจทองคำ รัศมีกายของท่านสว่างไสวไปทุกทิศ แต่หน้าของท่านเหมือนหน้าสุกร เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาโย เต สพฺพโส วณฺโณ ความว่า กายคือร่างของท่านล้วนมีสีดุจทองคำ คือ คล้ายทองคำที่สุกปลั่ง. บทว่า สพฺพา โอภาสเต ทิสา ความว่า รัศมีกายของเขาว่างไสวโชติช่วงไปโดยรอบทั่วทุกทิศ. อีกอย่างหนึ่ง ในคำว่า บทว่า โอภาสเต นี้ มีเหตุเป็นเครื่องหยั่งลงในภายในเป็นอรรถ พึงเห็นความว่า กายของท่านล้วนมีสีดุจทองคำสว่างไสวโชติช่วงไปทั่ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 19
ทุกทิศ. บทว่า มุขํ เต สูกรสุเสว ได้แก่ ก็หน้าของท่านเหมือนสุกร, อธิบายว่า หน้าของท่านเสมือนหน้าสุกร. ด้วยบทว่า กึ กมฺมมกรี ปุเร ความว่า ท่านพระนารทะถามว่า เมื่อก่อน คือ ในอดีตชาติท่านได้ทำกรรมเช่นไรไว้.
เปรตนั้นถูกพระเถระถามถึงกรรมที่ตนทำอย่างนี้ เมื่อจะตอบด้วยคาถา จึงกล่าวว่า :-
ข้าแต่ท่านนารทะ เมื่อก่อนข้าพเจ้าได้สำรวมทางกาย แต่ไม่สำรวมทางวาจา เพราะเหตุนั้น รัศมีกายของข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นกับที่ท่านเห็นอยู่นั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเยน สญฺโต อาสึ ความว่า ข้าพเจ้าสำรวมด้วยการสำรวมทางกาย คือ ได้เป็นผู้สำรวมด้วยดีด้วยการสำรวมทางกายทวาร. บทว่า วาจายาสมสณฺณโต ความว่า แต่ข้าพเจ้าไม่ได้สำรวมทางวาจา คือ ได้เป็นผู้ประกอบด้วยการไม่สำรวมทางวาจา. บทว่า เตน ได้แก่ เพราะการสำรวมและการไม่สำรวมทั้งสองอย่างนั้น. บทว่า เม แปลว่า ของข้าพเจ้า. บทว่า เอตาทิโส วณฺโณ ได้แก่ รัศมีกายของข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นนี้ คือ เป็นเช่นกับที่ท่านเห็นประจักษ์อยู่นั่นแหละท่านนารทะ. มีวาจาประกอบความว่า ข้าพเจ้ามีกาย มีทรวดทรงเหมือนมนุษย์ มีสีดุจทองคำ แต่มีหน้าเหมือนหน้าสุกร. ก็ วณฺณ ศัพท์ ในคาถานี้ พึงเห็นว่า ใช้ในอรรถว่า ผิวพรรณ และทรวดทรง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 20
เปรตถูกพระเถระถามอย่างนี้ ครั้นแก้คำถามนั้นแล้ว เมื่อจะทำความนั้นนั่นแหละให้เป็นเหตุแล้วตักเตือนพระเถระ จึงกล่าวคาถาว่า :-
ข้าแต่ท่านพระนารทะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวแก่ท่าน สรีระของข้าพเจ้า ท่านเห็นเองแล้ว ขอท่านอย่าได้ทำบาปด้วยปาก อย่าให้หน้าสุกรเกิดมีแก่ท่านเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ แก้เป็น ตสฺมา แปลว่า เพราะเหตุนั้น. บทว่า ติยาหํ ตัดเป็น เต อหํ. เปรตเรียกพระเถระ ด้วยคำว่า นารทะ. บทว่า พฺรูมิ แปลว่า ข้าพเจ้าจะบอก. บทว่า สามํ แปลว่า ข้าพเจ้าเอง. ด้วยบทว่า อิทํ เปรตกล่าวหมายถึง ร่างกายของตน. ก็ในคำนี้มีอธิบายดังนี้ ข้าแต่ท่านพระนารทะผู้เจริญ เพราะเหตุที่ร่างกายของข้าพเจ้านี้ตั้งแต่คอลงไปถึงกายท่อนล่าง มีทรวดทรงเหมือนมนุษย์ กายท่อนบนมีทรวดทรงเหมือนสุกร ที่ท่านเห็นประจักษ์อยู่นั่นแหละ. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะขอกล่าวเตือนท่าน. เพื่อจะเลี่ยงคำถามว่า เธอกล่าวอย่างไร? เปรตจึงกล่าวว่า ขอท่านอย่าได้ทำบาปด้วยปาก อย่าให้หน้าสุกรเกิดมีแก่ท่านเลย.
บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ว่า มา เป็นนิบาตใช้ในอรรถปฏิเสธ. บทว่า มุขสา แปลว่า ด้วยปาก. ศัพท์ว่า โข ใช้ในอวธารณะ ห้ามเนื้อความอื่น, อธิบายว่า ท่านอย่าได้ทำ คือ จงอย่าทำกรรมชั่ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 21
ทางวาจาเลย. ด้วยบทว่า มา โข สูกรมุโข อหุ นี้ เปรตปฏิเสธเฉพาะเหตุ แม้โดยมุ่งถึงการปฏิเสธผลว่า หน้าสุกรเหมือนเรา อย่าได้มีเลย ก็ถ้าว่าท่านเป็นคนปากกล้า พึงทำความชั่วด้วยวาจาไซร้ ท่านก็จะพึงเป็นผู้มีหน้าเหมือนสุกรโดยส่วนเดียว เพราะ ฉะนั้นท่านอย่าทำความชั่วด้วยปากเลย
ลำดับนั้น ท่านพระนารทะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาตภายหลังอาหาร กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระศาสดา ผู้ประทับนั่งท่ามกลางบริษัท ๔. พระศาสดาตรัสว่า นารทะ เมื่อก่อนแลเราได้เคยเห็นสัตว์นั้นแล้ว เมื่อจะทรงประกาศ ทษอันต่ำทรามโดยอาการเป็นอเนก ซึ่งอาศัยวจีทุจริต และอานิสงส์อันเกี่ยวด้วยวจีสุจริต จึงทรงแสดงธรรม. เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้วแล.
จบ อรรถกถาสูกรเปตวัตถุที่ ๒