โพธิปักขิยธรรม กับ มรรคจิต
โดย นิรมิต  23 มี.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 22667

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

กราบขอเรียนถามความสงสัยข้อที่ว่า ในขณะที่มรรคจิตเกิด ขณะนั้นถึงพร้อมด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ อยากขอเรียนถามว่า ก็โพชฌงค์ ๗ อันเป็นหนึ่งในองค์ของโพธิปักขิยธรรม มีปีติและอุเบกขา ในมรรคจิตขณะนั้นจะมีปีติและมีอุเบกขาเกิดร่วมกันหรือครับ ปีติกับอุเบกขาเป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันได้ด้วยหรือครับ

กราบขอบพระคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 24 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า อุเบกขา มีหลายหลายนัย คือ อุเบกขาหมายถึงเวทนาเจตสิกก็ได้ อุเบกขาหมายถึง วิริยเจตสิก อุเบกขาหมายถึงปัญญา และ อุเบกขาหมายถึงตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ก็ได้ ซึ่งโพชฌงค์ ๗ เป็นธรรมที่เป็นองค์ธรรมที่เป็นเครื่องตรัสรู้ ๗ อย่าง หมายถึง การอบรมวิปัสสนาภาวนาจนสภาพธรรม ๗ อย่างมีกำลังมาก ใกล้ต่อการตรัสรู้ องค์ของการตรัสรู้ ๗ อย่าง ได้แก่

๑. สติสัมโพชฌงค์ คือ สติเจตสิก

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ ปัญญาเจตสิก

๓. วิริยสัมโพชฌงค์ คือ วิริยเจตสิก

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ คือ ปีติเจตสิก

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ กายปัสสัทธิเจตสิกและจิตตปัสสัทธิเจตสิก

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์ของการตรัสรู้ คือ เอกัคคตาเจตสิก

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์ของการตรัสรู้ คือ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก

ซึ่ง โดยทั่วไปแล้ว สภาพธรรม ในการเจริญโพชฌงค์ ๗ ไม่ใช่ว่าจะต้องเจริญไปตามข้อ ๑ ถึง ข้อที่ ๗ แต่ สภาพธรรมทั้งหลาย ๗ อย่างเหล่านี้ เกิดขึ้นพร้อมกัน เพียงแต่ทำกิจหน้าที่แตกต่างกันไปเท่านั้น ซึ่ง ปีติสัมโพชฌงค์ ก็คือ ปิติเจตสิก ส่วน อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่เวทนาเจตสิกที่เป็นความรู้สึกเฉยๆ ที่เป็นอุเบกขา แต่เป็นการวางเฉยที่เป็นตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ที่เป็นการวางเฉย ไม่เอนเอียงเอียงไปด้วยอำนาจอกุศล อันเป็นการวางเฉยด้วยกุศลธรรม จึงไม่ใช่ความรู้สึกเฉยๆ ที่เป็นอุเบกขา แต่ เป็นเจตสิกที่ดี ที่ทำหน้าที่วางเฉย วางเฉยด้วยกุศล ครับ

เพราะฉะนั้น ปิติเจตสิกก็ไม่ใช่เวทนาเจตสิกด้วย ปิติเจตสิกจึงสามารถเกิดร่วมกับตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ที่เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ได้ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย ใฝ่รู้  วันที่ 24 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 24 มี.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่เป็นองค์ของการตรัสรู้ ๗ อย่าง ที่เป็นโพชฌงค์ ๗ เป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ปีติสัมโพชฌงค์ คือ ปีติเจตสิก อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์ของการตรัสรู้ คือ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ดังนั้น ถ้ากล่าวถึงองค์ธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้แล้ว อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่อุเบกขาเวทนา แต่เป็นความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปด้วยอำนาจของอกุศล เพราะเป็นไปกับด้วยปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อว่าโดยองค์ธรรม (ความเป็นจริง) ของอุเบกขาสัมโพชฌงค์แล้ว ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้น ก็ประกอบพร้อมด้วยปีติและอุเบกขา

[สำหรับ อุเบกขา นั้น มีหลายนัย ขึ้นอยู่กับว่า ในที่นั้น มุ่งหมายถึงอุเบกขา ในนัยอะไร ถ้าเป็นอุเบกขา โดยนัยที่เป็นเวทนา คือ ความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ แล้ว จะไม่เกิดกับปีติ ครับ]

ปัญญาจะต้องเจริญขึ้นไปตามลำดับ จะหาความเจริญสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้จากที่ไหนถ้าไม่เริ่มตั้งแต่ขั้นต้น ด้วยการฟัง ด้วยการศึกษาพระธรรม ศึกษาในสิ่งที่มีจริง เพื่อเข้า ใจถูก เห็นถูก ตามความเป็นจริง ซึ่งจะเห็นได้ว่าองค์ธรรมที่เป็นไปในฝักฝ่ายของการตรัสรู้นั้น ไม่ขาดปัญญาเลย ไม่ว่าจะเป็นหมวดใดก็ตาม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 24 มี.ค. 2556

ต้องเริ่มต้นจากการฟังธรรมให้เข้าใจก่อน มีสัญญาที่มั่นคงในหนทางการเจริญอริยมรรคมีองค์แปด ค่อยๆ อบรมจนกว่าปัญญาจะถึงโพชฌงค์ ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย นิรมิต  วันที่ 24 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณท่านวิยากรครับ

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมเล็กน้อยครับ

1. ปีติ เป็นเจตสิกอย่างไรหรือครับ เพราะเข้าใจมาตลอดว่า ปีติเป็นเวทนา เป็นลักษณะที่มีกำลังของโสมนัสเวทนาที่เกิดได้ทั้งกุศลและอกุศล

2. มรรคจิตและผลจิตที่เป็นโลกุตตรจิต มีเวทนาเป็นอะไรได้บ้างครับ? เป็นได้ทั้งอุเบกขา และโสมนัสหรือเปล่าครับ

กราบขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 6    โดย daris  วันที่ 25 มี.ค. 2556

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 25 มี.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

1. ปีติ เป็นเจตสิกอย่างไรหรือครับ เพราะเข้าใจมาตลอดว่า ปีติเป็นเวทนา เป็นลักษณะที่มีกำลังของโสมนัสเวทนาที่เกิดได้ทั้งกุศลและอกุศล

ปีติเจตสิก เป็นเจตสิกที่ปลาบปลื้ม เอิบอิ่ม ร่าเริง จึงเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาเท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับเวทนาอื่นๆ เลย ปีติเจตสิกเกิดร่วมกับจิตที่มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ๕๑ ดวง คือ กามโสมนัสจิต ๑๘ ดวง ปฐมฌานจิต ๑๑ ดวง ทุติยฌานจิต ๑๑ ดวง ตติยฌานจิต ๑๑ ดวง จิตที่มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วยนั้นมี ๑๑ ดวง คือ จตุตถฌานจิต ๑๑ ดวง ทั้งนี้เพราะจตุตถฌาน จิตประณีตกว่าตติยฌานซึ่งมีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

2. มรรคจิตและผลจิตที่เป็นโลกุตตรจิต มีเวทนาเป็นอะไรได้บ้างครับ เป็นได้ทั้งอุเบกขาและโสมนัสหรือเปล่าครับ

- ถูกต้องครับ ได้ทั้งอุเบกขาเวทนา และ โสมนัสเวทนา

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 8    โดย orawan.c  วันที่ 23 พ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย umpaikanit  วันที่ 2 ธ.ค. 2563

จากคำตอบอ.เผดิม ในความเห็นที่ 7 ขออนุญาตถามเรื่องเวทนาของมรรคจิตและผลจิตที่เป็นโลกุตตรจิต อจ.ตอบว่าเป็นได้ทั้งอุเบกขาเวทนาและโสมนัสเวทนา

เดิมเข้าใจว่าการเกิดมรรคจิตผลจิตของพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์จะเกิดเพียง 1 ครั้งในสังสารวัฏฏ์ และเมื่อมีจิต 1 ดวงจะมีเวทนาเจตสิก 1 ประเภทคืออุเบกขาหรือโสมนัส ดังนั้นเวทนาจะเป็นได้ทั้งอุเบกขาและโสมนัสอย่างไรคะ


ความคิดเห็น 10    โดย paderm  วันที่ 2 ธ.ค. 2563

เรียน ความเห็นที่ 9 ครับ

ที่กล่าวว่า มรรคจิตและผลจิตที่เป็นโลกุตตรจิต เวทนาเป็นได้ทั้งอุเบกขาหรือโสมนัส ความหมายคือ บางท่าน ก็เกิดมรรคจิต ผลจิต เป็นโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วยก็ได้ มรรคจิตที่มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วยนั้น มรรคจิต มีโสดาปัตติมรรคจิต เป็นต้น ก็เกิดครั้งเดียว และเป็นโสมนัสเวทนาในบางท่าน

ส่วนบางท่าน มรรคจิตและผลจิต เกิดกับอุเบกขาเวทนาก็ได้ เช่น โสดาปัตติมรรคจิตของบางท่าน เกิดกับอุเบกขาเวทนาซึ่งขณะนั้น ไม่ได้มีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย และก็เกิดขณะเดียวแล้วหมดไปไม่เกิดอีก

ดังนั้น ความหมายของคำว่า มรรคจิตและผลจิต ที่เป็นโลกุตตรจิต เกิดกับโสมนัสเวทนาก็ได้ อุเบกขาเวทนาก็ได้ คือ มรรคจิต ผลจิตเกิดกับอุเบกขาเวทนาได้ หรือ เกิดกับโสมนัสเวทนาก็ได้ แต่ไม่ใช่ไปเกิดพร้อมกัน ขณะเดียวกัน คือ ไม่ใช่อุเบกเขาเวทนาไปเกิดพร้อมโสมนัสเวทนา ซึ่ง มรรคจิตผลจิตที่เกิดกับอุเบกขาเวทนา หรือ โสมนัสเวทนา จึงแบ่งไปตามบุคคล แต่ละท่าน บางท่านก็เกิดกับอุเบกขา บางท่านก็เกิดกับโสมนัส เป็นต้น ครับ


ความคิดเห็น 11    โดย chatchai.k  วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ