การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญา ที่จะค่อยๆ ศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ให้ค่อยๆ เข้าใจให้รู้ตามที่ทรงแสดงไว้ ด้วยสติและสัมปชัญญะที่จะกระทำหน้าที่ของสติและสัมปชัญญะ ไม่ใช่ตัวเราเข้าไปพยายามด้วยความต้องการอยากรู้อยากเห็น แต่สติและสัมปชัญญะกระทำกิจของตน
ความหมาย คือ ต้องรู้ว่า ความจริงคือ มี จิต เจตสิก และรูป ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยกระทำกิจและดับไป สืบต่อกันอย่างรวดเร็วมากจนขณะเห็นและได้ยิน เสมือนเกิดขึ้นพร้อมกัน เห็นก็เข้าใจผิดว่าเป็นเราที่เห็น ได้ยินก็เข้าใจผิดว่าเป็นเราที่ได้ยินหรือรู้สึกว่า รูปธรรม ตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า ตั้งอยู่เป็นแท่งเป็นก้อน จึงเข้าใจผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ว่ามีตัวตน มีเรา ในสภาพธรรมที่เกิดดับทุกขณะตามเหตุตามปัจจัยจึงเห็นผิดไปพยายามด้วยความเป็นเราที่จะทำโน่นทำนี่ อยากที่จะได้กุศลมากๆ (เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเราที่ได้กุศล) อยากที่จะไม่โกรธ (เพราะเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเราที่โกรธ) ฯลฯ แต่การบรรลุอริยสัจจธรรมโดยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นหนทาง"ละ" ไม่ใช่การ "ได้" ดังนั้น จึงต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า "ไม่มีเรา" ประจักษ์แจ้งก่อน จึงจะไม่พยายามด้วยความเป็นเราได้อย่างสมุทเฉจ
ไม่ใช่การตั้งใจจะระลึกสภาพธรรม ไม่ใช่การจดจ้อง แต่เป็นปกติที่เราฟังธรรมเข้าใจแล้วสังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งให้สติเกิดตามเหตุตามปัจจัย