ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “มรณสติ”
คำว่า มรณสติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า มะ - ระ - นะ - สะ - ติ] มาจากคำว่า มรณ (ความตาย, การสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้) กับคำว่า สติ (สภาพธรรมที่ระลึก) รวมกันเป็น มรณสติ แปลว่า สติที่ระลึกถึงความตาย, สติอันปรารภความตายเกิดขึ้น, จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ที่มีปกติเจริญมรณสติ คือ ระลึกว่าตนเองจะต้องตาย ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ย่อมไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ ทั้งในเรื่องของทาน ศีล และการอบรมเจริญปัญญา ย่อมเป็นผู้ละความมัวเมาในชีวิตเสียได้
ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ฐานสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความเป็นจริงของบุคคลผู้มีปกติพิจาณาเนืองๆ ว่า แต่ละคนมีความตายเป็นธรรมดา ดังนี้
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล สตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้”
แต่ละบุคคลที่เกิดมา ล้วนมีความตายเป็นที่สุดด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครหลีกพ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะตายช้าหรือตายเร็วเท่านั้น บุคคลผู้ไม่ระลึกถึงความตายว่าตนเองจักต้องตายแน่นอน ก็เป็นผู้ที่ประมาทมัวเมา ประมาทในชีวิต ไม่เจริญกุศลทุกประการอันจะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง เมื่อถึงคราวใกล้ตาย ย่อมเกิดความกลัวเพราะที่ผ่านมากระทำแต่อกุศลกรรม ไม่ได้สร้างกุศลไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ภพต่อไปย่อมไม่พ้นไปจากอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานนานาประการ เป็นผู้ตายไปอย่างไม่มีที่พึ่ง กล่าวได้ว่าเดือนร้อนในโลกนี้ยังไม่พอ ยังจะต้องเดือนร้อนในโลกหน้า อีกด้วย และที่น่าพิจารณาคือ ชีวิตของผู้ที่ประมาทมัวเมา ไม่ได้เจริญกุศล ไม่ได้สะสมความดี ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ตายไปแล้ว เพราะเหตุว่าบุคคลผู้ที่ตายไปแล้ว ไม่สามารถเจริญกุศล ไม่สามารถฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาได้เลย, ในเรื่องของการไม่ระลึกและระลึกถึงความตายนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบด้วยข้ออุปมาที่เห็นได้ชัดคือ คนที่ประมาทมัวเมาในชีวิต ไม่ระลึกถึงความตายอันจะเป็นเครื่องเตือนให้กระทำความดีนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีเครื่องป้องกัน เปรียบเหมือนกับผู้ที่เห็นอสรพิษเมื่อจวนตัวแล้ว (คืออยู่ใกล้ตัวแล้ว) หมดทางป้องกันมีแต่จะถูกอสรพิษกัดทำร้ายอย่างเดียว ผู้ประมาทในชีวิต ก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต เป็นผู้ที่เจริญกุศล สะสมความดีเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง ย่อมเป็นผู้ไม่หวั่นกลัว หรือไม่เดือดร้อนเมื่อถึงคราวใกล้ตาย เพราะได้กระทำที่พึ่งสำหรับตนเอง กล่าวคือ ได้เจริญกุศลทุกประการไว้พร้อมแล้ว มีเครื่องป้องกันที่ดีแล้ว เนื่องจากว่าตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ นั่นเอง ในข้อนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาเหมือนกับ ผู้ที่เห็นอสรพิษมาแต่ไกล ย่อมมีเวลาที่จะหาทางป้องกันให้ตนเองรอดพ้นจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากอสรพิษดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที
ดังนั้น ในเมื่อทุกคนต้องตายอย่างแน่นอน จึงควรพิจารณาอยู่เสมอว่า ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เราควรทำอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเองอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องรอไปทำความดีเมื่อใกล้ตาย ถ้ารอ ก็แสดงว่าประมาทแล้ว และอาจจะไม่มีโอกาสได้ทำก็ได้, การละอกุศลกรรม (ความชั่ว) แล้วเจริญกุศล (ความดี)บ่อยๆ เนืองๆ ตามกำลังของตนและไม่ละเลยในการอบรมเจริญปัญญา ด้วยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมให้เข้าใจเพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม นั้น เป็นความดีที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะความดีที่ประเสริฐที่สุดนั้น คือ ความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะต้องอาศัยเหตุที่สำคัญคือการฟังพระธรรม เป็นปกติ บ่อยๆ เนืองๆ ในชีวิตประจำวัน เห็นคุณค่าในแต่ละคำที่เป็นวาจาสัจจะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
เห็นบางแห่งเขียนว่า "มรณัสสติ" แบบไหนถูกต้องครับ
ขอบคุณ
เรียน ความคิดเห็นที่ 1 ครับ
บาลีสามารถเขียนได้ ๒ อย่าง ทั้ง มรณสติ และ มรณสฺสติ (มรณัสสติ) ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ