ทรงแสดงสติปัฏฐานไว้เพียง ๔ ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง
โดย สารธรรม  30 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 44435

ข้อความใน ปปัญจสูทนี มีว่า

เพราะอะไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงสติปัฏฐานไว้เพียง ๔ ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง

เพราะเพื่อประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ คือ ในพวกเวไนยสัตว์ที่เป็นตัณหาจริต ทิฏฐิจริต สมถญาณิกะ วิปัสสนาญาณิกะ ก็แตกออกเป็นอย่างละ ๒ คือ อ่อน และกล้า

สำหรับสมถภาวนานั้นก็มีจริต ๖ แต่สำหรับสติปัฏฐานหรือวิปัสสนานั้น มีจริต ๒ คือ ตัณหา และ ทิฏฐิ

ใครเป็นตัณหาจริต จะเจริญอย่างไร ใครเป็นทิฏฐิจริต จะเจริญอย่างไร คงอยากจะแยกอีกแล้วใช่ไหม ทำไมไม่คิดว่า ท่านเองตัณหาก็มาก ทิฏฐิก็มาก ทั้ง ๒ ประการ ความต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่น้อยเลย ทิฏฐิ การยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนก็มากมาย ก็ควรจะทราบข้อความต่อไปที่ว่า

กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างหยาบ เป็นทางบริสุทธิ์แห่งพวกตัณหาจริตอ่อน

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างละเอียด เป็นทางบริสุทธิ์แห่งผู้เป็นตัณหาจริตแรงกล้า

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันไม่ถึงความแตกยิ่ง เป็นทางบริสุทธิ์แห่งผู้เป็นทิฏฐิจริตอ่อน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันถึงความแตกยิ่ง เป็นทางบริสุทธิ์แห่งผู้เป็นทิฏฐิกล้าแข็ง

กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างหยาบ เป็นของผู้เป็นสมถญาณิกะอย่างอ่อน จะบรรลุได้โดยไม่ลำบาก เป็นทางบริสุทธิ์ของคนพวกนี้

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างละเอียด เป็นทางบริสุทธิ์ของพวก สมถญานิกะแรงกล้า เพราะไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์หยาบ

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันไม่ถึงซึ่งความแตกยิ่ง เป็นอารมณ์ เป็นทาง บริสุทธิ์แห่งผู้เป็นวิปัสสนาญาณิกะอย่างอ่อน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันมีการถึงความแตกยิ่งเป็นอารมณ์ เป็นทาง บริสุทธิ์ของวิปัสสนาญาณิกะที่แก่กล้า

เป็นอันว่า ตรัสไว้เพียง ๔ ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ด้วยอาการอย่างนี้

ถ้าจะสงเคราะห์รวมทั้ง ๒ นัย

กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างหยาบ เป็นทางบริสุทธิ์แห่งพวกตัณหาจริตอ่อน ซึ่งเป็นสมถญาณิกะอ่อน

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างละเอียด เป็นทางบริสุทธิ์แห่งพวกตัณหาจริตแรงกล้า เป็นสมถญาณิกะอย่างกล้า

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันไม่ถึงความแตกยิ่ง เป็นทางบริสุทธิ์ของผู้เป็นทิฏฐิจริตอ่อน ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณิกะอย่างอ่อน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันถึงความแตกยิ่ง เป็นทางบริสุทธิ์แห่งผู้เป็นทิฏฐิกล้าแข็ง และเป็นวิปัสสนาญาณิกะแก่กล้า

ยังอยากจะแยกไหมว่า ท่านเป็นทิฏฐิจริตหรือตัณหาจริต อย่างอ่อนหรืออย่างกล้า ลำบากไหมถ้าจะเลือก ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีตัณหามาก ทิฏฐิมาก จะไปเลือกเจาะจงว่า จะไปเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ จะเจริญเฉพาะอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้

อีกนัยหนึ่ง คือ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเจริญเพื่อละสุภวิปลาส คือ ความเห็นว่างาม

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเจริญเพื่อผล คือ การละสุขวิปลาส ความเห็นว่าเป็นสุข

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเจริญเพื่อผล คือ การละความเห็นว่าเที่ยงซึ่งเป็นนิจวิปลาส

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเจริญเพื่อผล คือ การละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน คือ อัตตวิปลาส

วิปลาสทั้ง ๔ คือ มีวิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑

มีใครไม่มีวิปลาสทั้ง ๔ เมื่อมีวิปลาสทั้ง ๔ ก็ต้องเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 139