๓. เรื่องภิกษุชื่อโกกาลิกะ [๒๕๔]
โดย บ้านธัมมะ  26 ก.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35061

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 353

๓. เรื่องภิกษุชื่อโกกาลิกะ [๒๕๔]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 353

๓. เรื่องภิกษุชื่อโกกาลิกะ [๒๕๔]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุชื่อโกกาลิกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย มุขสญฺโต" เป็นต้น.

พระโกกาลิกะเกิดในนรกเพราะด่าพระอัครสาวก

เรื่องมาแล้วในพระสูตร (๑) ว่า "ครั้งนั้นแล ภิกษุชื่อโกกาลิกะ ได้เข้าไปเฝ้าโดยสถานที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่" เป็นต้น. แม้เนื้อความแห่งเรื่องนั้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ แล้วในอรรถกถานั่นแล.

ก็เมื่อพระโกกาลิกะเกิดในปทุมนรก, ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "โอ! ภิกษุชื่อโกกาลิกะ ถึงความพินาศแล้ว เพราะอาศัยปากของตน, ก็เมื่อเธอด่าพระอัครสาวกทั้งสองอยู่นั้นแล, แผ่นดินได้ให้ช่องแล้ว."

พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไร ในกาลบัดนี้" เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้" จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อโกกาลิกะ ฉิบหายเพราะอาศัยปากของตนในบัดนี้เท่านั้น หามิได้, แม้ในกาลก่อน โกกาลิกะก็ฉิบหายแล้วเพราะอาศัยปากของตนเหมือนกัน" อันภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่จะสดับเนื้อความนั้นทูลอ้อนวอนแล้ว เพื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ได้ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัส) ว่า:-


(๑) สํ. ส. ๑๕/๒๑๙. ขุ. สุ. ๒๕/๔๕๘.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 354

หงส์สองตัวพาเต่าผู้สหายไปถ้ำของตน

ในอดีตกาล เต่าอาศัยอยู่ในสระแห่งหนึ่ง ในหิมวันตประเทศ. ลูกหงส์สองตัวเที่ยวไปเพื่อหากินอยู่ ทำความคุ้นเคยกับเต่านั้น เป็นผู้สนิทสนมอย่างแน่นแฟ้น ในวันหนึ่ง จึงถามเต่าว่า "เพื่อนเอ๋ย ที่อยู่ของพวกเราในถ้ำทอง บนพื้นแห่งภูเขาชื่อจิตตกูฏ ในหิมวันตประเทศ เป็นประเทศที่น่ารื่นรมย์, ท่านจักไปกับพวกเราไหม"

เต่า. ฉันจักไปได้อย่างไร

หงส์. พวกเราจักนำท่านไป, ถ้าว่าท่านสามารถเพื่อจะรักษาปากไว้ได้.

เต่า. เพื่อนเอ๋ย ฉันจักอาจ, ขอท่านทั้งหลายจงพาฉันไปเถิด.

หงส์ทั้งสองพูดว่า "ดีละ" แล้วให้เต่าคาบท่อนไม้ท่อนหนึ่ง ส่วนตนคาบปลายทั้งสองแห่งท่อนไม้นั้น แล้วบินไปสู่อากาศ.

เต่าหลุดจากท่อนไม้ที่คาบตกลงตาย

พวกเด็กชาวบ้าน เห็นเต่าถูกหงส์นำไปอยู่อย่างนั้น จึงพูดกันว่า "หงส์สองตัวนำเต่าไปอยู่ด้วยท่อนไม้." เต่าใคร่จะพูดว่า "ผิว่าสหาย ทั้งสองนำเราไปอยู่, ประโยชน์อะไรของพวกเอง ในเพราะข้อนี้ อ้ายพวกเด็กเปรตชั่วร้าย" จึงปล่อยท่อนไม้จากที่ตนคาบไว้ในเวลาถึงส่วนเบื้องบนพระราชนิเวศน์ ในพระนครพาราณสี เพราะความที่หงส์ทั้งสองเป็นสัตว์มีกำลังเร็ว จึงตกลงไปในพระลานหลวงแตกเป็นสองภาค.

การพูดมากไม่ถูกเวลาให้โทษ

พระศาสดาครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว ทรงยังพหุภาณิชาดก (๑) ในทุกนิบาตนี้ให้พิสดารว่า :-


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๒๗๙. กัจฉปชาดก. อรรถกถา. ๓/๒๓๕.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 355

"เต่าเปล่งวาจา ได้ฆ่าตนแล้วหนอ, เมื่อท่อนไม้ที่ตนคาบไว้ดีแล้ว, ก็ฆ่า (ตน) ด้วยวาจาอันเป็นของๆ ตน. ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้าประเสริฐใน หมู่คน บุคคลเห็นเหตุแม้นั่นแล้ว ควรเปล่งวาจาที่ดี ไม่ควรเปล่งวาจาที่ล่วงเลยเวลา. พระองค์ย่อมทอดพระเนตรเห็นเต่าตัวถึงความฉิบหายเพราะพูดมาก (มิใช่หรือ) "

แล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมปากประพฤติสม่ำเสมอ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๓. โย มุขสญฺโต ภิกฺขุ มนฺตภาณี อนุทฺธโต อตฺถํ ธมฺมญฺจ ทีเปติ มธุรํ ตสฺส ภาสิตํ.

"ภิกษุใด สำรวมปาก มีปกติกล่าวด้วยปัญญาไม่ฟุ้งซ่าน แสดงอรรถและธรรม, ภาษิตของภิกษุนั้น ย่อมไพเราะ."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุขสญฺโต ความว่า ชื่อว่าผู้สำรวมแล้วด้วยปาก เพราะไม่พูดคำเป็นต้นว่า "เจ้าเป็นคนชาติชั่ว เจ้าเป็นคนทุศีล" แม้กะคนทั้งหลายมีทาสและคนจัณฑาลเป็นต้น.

บทว่า มนฺตภาณ ความว่า ปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า มันตา, ผู้มีปกติพูดด้วยปัญญานั้น.

บทว่า อนุทฺธโต ได้แก่ ผู้มีจิตสงบแล้ว.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 356

บาทพระคาถาว่า อตฺถํ ธมฺมญฺจ ทีเปติ ความว่า ย่อมแสดงอรรถแห่งภาษิตและธรรมคือเทศนา.

บทว่า มธุรํ ความว่า ภาษิตของภิกษุเห็นปานนั้น ชื่อว่าไพเราะ.

ส่วนภิกษุใด ให้อรรถอย่างเดียวถึงพร้อม, ไม่ให้พระบาลีถึงพร้อม ให้พระบาลีอย่างเดียวถึงพร้อม, ไม่ให้อรรถถึงพร้อม ก็หรือไม่ให้ทั้งสองอย่างถึงพร้อม, ภาษิตของภิกษุนั้น หาชื่อว่าเป็นภาษิตที่ไพเราะไม่.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุชื่อโกกาลิกะ จบ.