ไม่คลุกคลีด้วยใจ
โดย talaykwang  13 มี.ค. 2565
หัวข้อหมายเลข 42822

อยากสอบถามความละเอียดลึกซึ้ง ของประโยคที่ว่า "การไม่คลุกคลีด้วยใจ" ค่ะ ความห่วงใยที่มีต่อบุคคลอื่น หรือ คนในครอบครัว ถือเป็นการคลุกคลีทางใจด้วยมั้ยคะ // กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 13 มี.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความคลุกคลี หมายถึง ความคลุกคลีด้วยอำนาจกิเลส ยินดีในการคลุกคลี ลักษณะของการคลุกคลีมี 5 ประการ คือ

คลุกคลีอันเกิดจากการเห็น เช่น เมื่อได้เห็นรูปอันสวยงามก็เกิดความยินดีพอใจในสิ่งนั้น เมื่อกิเลสเกิดขึ้นก็ชื่อว่า คลุกคลี คลุกคลีอันเกิดจากการได้ยิน เช่น เมื่อได้ยินถึงเรื่องราวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็เกิดความยินดีพอใจในบุคคลนั้น แม้เพียงได้ยินก็ชื่อว่า คลุกคลี เพราะกิเลสเกิดขึ้นคลุกคลีอันเกิดจากการสนทนาปราศัย คลุกคลีอันเกิดจากการแลกเปลี่ยนสิ่งของ เช่น เมื่อมีการให้ของซึ่งกันและกันก็เกิด ความสนิมสนม เกิดความยินดีพอใจก็ชื่อว่า คลุกคลีคลุกคลีอันเกิดจากการสัมผัสกาย คำว่ายินดีด้วยความไม่คลุกคลีคือ ไม่ยินดีด้วยอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้นจากเห็น ได้ยิน เป็นต้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าแม้อยู่กับคนหมู่มากก็ชื่อว่า ไม่คลุกคลีครับ

ซึ่งการไม่คลุกคลีแม้ด้วยใจ เพราะมีใจ จึงการคลุกคลี และการคลุกคลีที่มีโทษคือ คลุกคลีกับความเห็นผิด ผู้ที่มีปัญญา จึงไม่เสพคุ้น ไม่นึกถึง บุคคลที่เห็นผิด และความเห็นผิด นั่นคือไม่คลุกคลีแม้ด้วยใจ ครับ

คลิกอ่านที่นี่ครับ

อันตรายที่สุด คือ คลุกคลีกับความเห็นผิด

เชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมในเรื่องความคลุกคลีได้โดยตรงจากพระไตรปิฎกที่นี่

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 404

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรม เรื่องการคลุกคลี และการไม่คลุกคลีไว้มากทีเดียว เช่น ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า "ผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกันประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่ ย่อมไม่งามเลย" (มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มหาสุญญตสูตร) และตรัสเตือนพระภิกษุทั้งหลายว่า "ถ้าภิกษุทั้งหลาย จักไม่มีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะเป็นที่มายินดี จักไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ จักไม่ประกอบเนืองๆ ในความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ตลอดกาลเพียงไร ก็พึงหวังความเจริญอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้เลย" (ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร) เป็นต้น จะเห็นว่าความคลุกคลีเกี่ยวข้องเป็นเรื่องของกิเลส การเห็นมีจริง เป็นผลของกรรมการได้ยินก็มีจริงเป็นผลของกรรม การสนทนาก็มีการเห็น การได้ยินก็มีผลของกรรมในขณะนั้น การให้ แลกเปลี่ยนกันก็ต้องมีวิบากที่จะได้รับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และสุดท้ายคือ การรับกระทบสัมผัสทางกาย ก็เป็นผลของกรรม ดังนั้นการเกี่ยวข้อง สนิมสนม คลุกคลี ไม่ใช่ขณะที่เป็นผลของกรรมที่เป็นวิบาก แต่เป็นขณะที่ติดข้อง ยินดีพอใจ ด้วยกิเลสที่เป็นโลภะ ขณะนั้นคลุกคลีแล้ว สนิทสนมแล้วด้วยกิเลสที่เกิดขึ้นคือ ความติดข้องครับ ความคลุกคลี เกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องของกิเลสที่เป็นโลภะ ความติดข้องนั่นเอง

ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง เห็นความต่างกันระหว่างกุศล กับ อกุศล เพราะว่า การคลุกคลีกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ก็ทำให้เกิดอกุศลประการต่างๆ ได้ทั้งนั้น กล่าวคือ โลภะบ้าง โทสะบ้าง และทุกครั้งที่จิตเป็นอกุศล ก็จะมีโมหะ เกิดร่วมด้วย ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงบังคับใครเลย ความจริงเป็นอย่างไร ก็ทรงแสดงไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา เห็นโทษของอกุศล และประโยชน์ของกุศลธรรมว่า ควรอย่างยิ่งที่จะเกิดแทนที่จะเป็นอกุศล ก็จะค่อยๆ ละเว้นไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่คลุกคลีกับสิ่งที่จะทำให้เกิดอกุศล ซึ่งพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูกของตนเอง ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 13 มี.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คลุกคลี ไม่พ้นไปจากอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นเรื่องของอกุศล ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมเลย และเมื่อคลุกคลีแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้อกุศลธรรมประการต่างๆ เกิดตามมาอีกได้ เช่น เกิดโทสะ ความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นต้น เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความไม่คลุกคลี ไม่เป็นไปกับด้วยกิเลส นั่นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ทรงแสดงโทษของความคลุกคลี และคุณประโยชน์ของการไม่คลุกคลี เพื่อประโยชน์เกื้อกูลอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น จะเห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสโดยตลอด ครับ


ผู้ที่เห็นโทษของการปล่อยจิตให้คลุกคลีอยู่กับอกุศล ก็ย่อมจะเป็นผู้ไม่ละทิ้งการฟังพระธรรม

อ้างอิงจาก ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓

กุศลไม่คลุกคลี อยู่ด้วยเมตตา ขณะนั้นไม่คลุกคลี จะปราศจากการคลุกคลีได้ ก็ด้วยกุศลธรรม

อ้างอิงจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๑

แม้แต่มิตรสหายก็ไม่ควรคบคลุกคลีจนเกินไป จนพร่ำเพรื่อ เพราะเหตุว่าจะเป็นไปในเรื่องของการติดข้อง หรือทำให้เกิดโทษ

อ้างอิงจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๗๔

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

การคลุกคลี ๕ อย่าง

... ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 13 มี.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย talaykwang  วันที่ 14 มี.ค. 2565

กราบขอบพระคุณ​และขอ​อนุโมทนา​ในกุศลยิ่งค่ะ