... เมตตา ...
ครั้งที่ ๙๑๗
: ขณะที่กำลังเห็นใคร มีความรู้สึกดูหมิ่นหรือเปล่าคะ หรือว่าไม่ชอบคนนั้น นึกชังในอาการที่ปรากฏ ในกิริยาท่าทางบ้างไหม
: ก็มีอยู่ครับ
: นั่นไม่ประกอบด้วยเมตตาค่ะ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะประกอบด้วยเมตตา คือมีความรู้สึกเป็นมิตร มีไมตรีกับคนนั้นด้วยใจจริง ไม่มีความรู้สึกเป็นเราเป็นเขาไม่รังเกียจหรือ ไม่ขุ่นเคืองใจในกิริยาท่าทางของบุคคลนั้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะแสดงกิริยาอาการอย่างหนึ่งและไม่ชอบในกิริยาอาการอีกอย่างหนึ่ง แต่ในขณะนั้น ถ้าสติเกิดจะรู้ได้ว่าไม่ประกอบด้วยเมตตา
!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!
ขณะที่ไม่ชอบในกิริยาท่าที อาการ กิริยาของบุคคลอื่น หรือ ในขณะที่ถือตัว หรือว่าดูหมิ่นคนอื่นในขณะนั้นก็ไม่ประกอบด้วยเมตตา แม้เพียงการเห็นหรือว่าการได้ยินก็มีวาจาต่างๆ ที่กระทบหู แล้วก็รู้ความหมายของคำนั้น ถ้าสติเกิดก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นมีจิตที่ (เป็นไปกับโทสะ) โกรธหรือไม่โกรธ ถ้าสามารถที่จะมีขันติ ความอดทน ความอดกลั้น มีความไม่โกรธ มีการให้อภัย มีความเป็นมิตรด้วยในบุคคลนั้น ในขณะนั้นก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา นี่คือทางตา ทางหู
!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!
ทางจมูก บางแห่งกลิ่นไม่สะอาด มีไหมคะ แล้วบางคนยังคิดว่าอันนี้เป็นกลิ่นไทย อันนั้นเป็นกลิ่นเทศต่างๆ ในขณะนั้นก็ไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยเมตตา
ทางลิ้น รสต่างๆ มีการถือเขาถือเรา มีการดูถูกดูหมิ่นลักษณะอาการอย่างนั้น ไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยเมตตา
!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!
ในขณะที่คิดนึก ไม่ใช่ท่องค่ะ แต่ว่าไม่ว่าจะนึกถึงใครก็คิดในทางที่จะเกื้อกูล อนุเคราะห์ช่วยเหลือคิดที่จะทำอะไรให้ใครเป็นสุขบ้างไหม คิดที่จะช่วยเหลือเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือว่าคนที่อยู่ในบ้านให้เขามีความสุข ความสบายใจขึ้นบ้างไหม ไม่ใช่ท่องนะคะ แต่คิดที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลอื่น ให้เขาได้รับความสุขความสบาย ในขณะนั้นไม่ใช่การท่องเลย แล้วแต่คิดที่จะให้ คิดที่จะช่วย คิดที่จะอภัย ทั้งหมดเหล่านั้นเป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา
: อันนี้ก็เป็นเหตุผลอยู่ แต่ว่าถ้าเราถูกแกล้งล่ะครับ เราถูกแกล้ง เมตตาของเรามีจำกัด ถ้าถูกแกล้งนิดๆ หน่อยๆ เมตตาของเรา ความอดทนของเรา ก็พอจะทนได้ พอจะคิดได้ว่า ที่เราถูกแกล้งนี้เพราะวิบากของเราบ้าง หรือจะพิจารณาโดยความดีของเขาบ้าอะไรก็พิจารณากันไป แต่ว่าถ้าถูกแกล้งครั้งที่ มันคิดไม่ได้เสียแล้วครับ แล้วก็ทนไม่ได้เสียแล้วในเมื่อกำลังกายของเรายังมีอยู่ หรือว่ากำลังวาจาของเรายังมีอยู่ มันอาจจะใช้กำลังกายหรือวาจาไม่เหมาะไม่ควรกับคนที่มาแกล้ง ขณะนั้นเมตตาของเราก็ให้ไปหมดแล้ว ขันติก็หมดแล้ว ทีนี้จะทำอย่างไร
: นี่แสดงให้เห็นว่า แม้เมตตาในชีวิตประจำวันก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดง่าย กุศลทั้งหมดไม่ใช่ว่าจะเกิดได้โดยง่ายเพราะฉะนั้น จึงต้องอบรมเจริญกุศล เพราะว่าทุกคนยังมีอกุศลอยู่ แต่ในการฟังธรรม ก็เพื่อที่จะพิจารณาให้เข้าใจในเหตุในผล ในสภาพธรรมที่กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล จนกว่าจะเห็นโทษของอกุศลจริงๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่อกุศลกำลังเกิด
!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!
เพราะถ้าพูดถึงโทษของอกุศล บางท่านอาจจะอธิบายได้มากมายเหลือเกินค่ะ โทษของโลภะมีมากมายเหลือเกิน แล้วก็ดับหรือละได้ยาก แล้วก็ช้าด้วยแล้วก็ไม่ปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวัน ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ตามปกติเลย ไม่รู้ตัวเลยว่า มีโลภะอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้น คนที่จะพรรณนาโทษของโลภะ สามารถที่จะพรรณนาตามได้ว่า โลภะมีโทษโดยประการต่างๆ แต่ที่จะเห็นโทษของโลภะในขณะที่โลภะกำลังเกิดขึ้น ปรากฏจริงๆ นี่คือการปฏิบัติธรรมที่จะต้องอบรม จึงจะเป็นปัญญาที่รู้แจ้งฉันใด เวลาที่โทสะกำลังเกิดแล้วอภัยให้ไม่ได้ เป็นขณะที่สติสัมปชัญญะต้องระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่ปราศจากเมตตา
ครั้งที่ ๙๑๘
: เมตตาเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับความโกรธ ตรงกันข้ามกับความพยาบาท ตรงกันข้ามกับความผูกโกรธเพราะฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดในขณะนั้น เห็นโทษของความโกรธ ไม่ใช่ไปพรรณนาโทษของความโกรธเวลาอื่น แต่เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ไม่เห็นเลยว่าเป็นโทษ ถ้าเป็นโดยลักษณะอย่างนั้นแล้วละก็เมตตาก็เจริญไม่ได้ แต่เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้แล้ว สติสัมปชัญญะเห็นความโกรธนั้นว่า เป็นอกุศลที่ควรละด้วยเมตตา เมตตาจึงจะเจริญขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ริษยา มัจฉริยะ ที่จะเห็นโทษจริงๆ ได้ ต้องในขณะที่กำลังเกิดขึ้น
บรรยายโดย ท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์ข้อความบางตอนจากแนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๙๑๗ และ ๙๑๘
กุศลทั้งหมด มิใช่ว่าจะเกิดได้โดยง่าย.
การฟังธรรม ก็เพื่อที่จะพิจารณา ให้เข้าใจในเหตุผลในสภาพธรรม ที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็ป็นอกุศลจนกว่าจะเห็นโทษของอกุศลจริงๆ ซึ่งเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่อกุศล กำลังเกิด
ขออนุโมทนาค่ะ.
สาธุ
... เมตตา ...
เมตตา มีความเป็นไปโดยอาการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นลักษณะ มีความนำเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลเป็นรส (คือเป็นกิจ) มีการกำจัดความโกรธ ความอาฆาตเป็นปัจจุปัฎฐาน (คือเป็นอาการที่ปรากฎ) มีการมองเห็นสิ่งที่น่าพอใจของสัตว์ทั้งหลาย (คือไม่เป็นศัตรู) เป็นปทัฎฐาน (คือเป็นเหตุใกล้ให้เกิด) เมตตามีความสงบระงับความพยาบาทเป็นสมบัติ มีความเกิดเสน่หาเป็นวิบัติ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
เมตตาธรรม...
เมื่อเราเมตตาคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เราบ้าง เราก็จะเห็นได้ว่า ชีวิตเราเริ่มดำเนินไปอย่างมีความสุขขึ้น และสบายขึ้น เราจะมองคนอื่นอย่างเป็นมิตรในขณะนั้นๆ (ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นคนที่เราไม่รู้จักก็ตาม) แทนที่เราจะดูคนอื่นแบบจับผิด
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
เมตตา เป็นพรหมวิหารหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ซึ่ง ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา คำว่า พรหมวิหาร นั้น แปลว่า ธรรมอันเป็น เครื่องอยู่อันประเสริฐ หรือไม่มีโทษ ก็ธรรม เหล่านี้มีเมตตาเป็นต้น จัดว่าเป็นเครื่องอยู่อันประเสริฐ ก็เพราะความที่เป็นการปฏิบัติชอบ ในสัตว์ทั้งหลาย
"เวลาที่จิตประกอบด้วยเมตตา คือมีความรู้สึกเป็นมิตร มีไมตรีกับคนนั้นด้วยใจจริง ไม่มีความรู้สึกเป็นเราเป็นเขา ไม่รังเกียจหรือไม่ขุ่นเคืองใจ..."
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เมตตา คือ ความเป็นเพื่อนเป็นมิตร
ขออนุโมทนาในความมีเมตตาในกุศลจิตและในกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ
ผู้ที่มีปกติเจริญเมตตา ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ