เคยคุยกับผู้รู้ท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า เราจะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้นั้น จะต้องศึกษาพระอภิธรรมด้วย ถ้าจะฝึกวิปัสสนาเองโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจที่ได้จากพระอภิธรรมก็จะไม่พอ ตรงนี้ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก คือ คิดว่าถ้าได้ศึกษาก็ดี คือ จะได้หลักการและเหตุผลของการปฏิบัติด้วย แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้ว ปฏิบัติให้ต่อเนื่องตามที่ครูอาจารย์แนะนำไว้ (ในกรณีของผมคือคุณแม่สิริ และหลวงพ่อโชดกวัดมหาธาตุ) ก็น่าจะก้าวหน้าได้เช่นกัน อย่างไรก็ดีช่วงนี้กำลังเริ่มสนใจศึกษาพระอภิธรรมแล้ว มีแผ่น mp3 ของบ้านธัมมะหลายแผ่น ไม่ทราบว่าจะเริ่มฟังจากแผ่นไหน และเรียงลำดับอย่างไร ขอให้ผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ตรงนี้ช่วยแนะนำด้วยครับ
การศึกษาพระธรรมไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนย่อมเป็นประโยชน์ทั้งนั้น พระอภิธรรมก็เป็นคำสอนอีกส่วนหนึ่งที่จะเกื้อกูลให้ปัญญาเจริญขึ้น mp3 ที่ได้ไปจะฟังแผ่นไหนก็ได้ แต่จิตปรมัตถ์เป็นคำบรรยายเรื่องปรมัตถธรรม
อภิธรรม หรือ ปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้
สำหรับการศึกษาพระธรรมทุกๆ ส่วนในพระไตรปิฏกนั้น ย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษา เพราะเป็นคำสอนเรื่องสัจธรรม ฉะนั้นการศึกษาพระอภิธรรมทำให้เราได้เข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง ที่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถึงแม้จะยังไม่ประจักษ์ตามความเป็นจริงแต่ก็รู้ตามที่ทรงแสดงไว้ ย่อมเป็นอุปนิสัยและหนทางที่จะทำให้ประจักแจ้งในภายภาคหน้าได้ เพราะการจะรู้แจ้งอริยสัจจะขาดการศึกษา คือ ปริยัติไม่ได้
สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดง พระอภิธรรมมีความสำคัญอย่างไร ขอคัดข้อความบางตอนจากพระไตรปิฎกให้ท่านได้พิจารณา ดังนี้
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 63
ผู้คัดค้านพระอภิธรรมชื่อว่าทำลายชินจักร บุคคลเมื่อคัดค้านพระอภิธรรม ชื่อว่าย่อมให้การประหารในชินจักรนี้ ย่อมคัดค้านพระสัพพัญญุตญาณ ย่อมหมิ่นเวสารัชชญาณของพระศาสดา ย่อมขัดแย้งบริษัทผู้ต้องการฟัง ย่อมผูกเครื่องกั้นอริยมรรคจักปรากฏในเภทกรวัตถุ ๑๘ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ควรแก่อุเขปนิยกรรมนิยสกรรม ตัชชนียกรรม
ศาสนาเสื่อมเพราะเหตุใด ขอท่านได้โปรดพิจารณาพระพุทธพจน์ ดังนี้....
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑
ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑
รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑
ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้วปฏิบัติ จะปฏิบัติวิปัสสนาอย่างไร
วิปัสสนาเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดนั้น สัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิก ก็ตรึก คือ จรดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณาลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น ความรู้จะเกิดขึ้นและเจริญขึ้นได้จากการพิจารณา รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปรากฏในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไปเร็วเหลือเกิน บางทีก็ยังไม่ทันจะพิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้นเลย เช่น ขณะได้ยิน สติเกิดระลึกรู้สภาพได้ยินนิดเดียว แต่ยังไม่ทันศึกษาพิจารณารู้ว่าเป็นสภาพรู้เสียง สภาพได้ยินก็หมดไปแล้ว แม้ว่าในตอนต้นปัญญาจะไม่เกิดขึ้นรู้ชัดในลักษณะของสภาพได้ยินก็เป็นธรรมดาที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะไม่มีใครสามารถยึดจับเสียงหรือนามธรรมที่ได้ยินเอามาทดลอง เอามาพิสูจน์พิจารณาได้ แต่ว่าสภาพได้ยินก็จะต้องเกิดอีก ผู้อบรมเจริญสติและปัญญาจึงระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ได้ยินในคราวต่อไปอีกได้
ขณะนี้สติจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางหนึ่งทางใดก็ได้ ทีละลักษณะและพิจารณาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม สามารถที่จะแยกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมที่ได้ยินกับเสียง ฯลฯ ในที่สุดก็จะชินกับสภาพของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น เมื่อชินแล้วความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็เพิ่มขึ้นอีก ไม่ว่านามธรรมใดรูปธรรมใดจะเกิด ณ สถานที่ใด สติและปัญญาก็สามารถเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้นได้ตามปรกติตามความเป็นจริง การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญสติปัญญา ความรู้ใดที่ได้อบรมให้เกิดขึ้นแล้ว ความรู้นั้นก็จะเพิ่มขึ้นและละคลายความไม่รู้ให้ลดน้อยลงไปด้วย
ทำไมต้องศึกษาอภิธรรม
ศึกษาอย่างไรชื่อว่าศึกษาอภิธรรม? รู้ชื่อเยอะใช่ไหม หรือศึกษาเพื่อเข้าใจว่าสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ก็คืออภิธรรม ศึกษาเพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่เรา จึงเกื้อกูลต่อการปฏิบัติ คือเจริญสติปัฏฐาน
ในเมื่อตรัสรู้เองไม่ได้ ก็ต้องศึกษาในสิ่งที่ตรัสรู้
พระอภิธรรมไม่ใช่อยู่ในพระไตรปิฎก แต่พระอภิธรรมก็คือขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัสทางกาย (เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง ตีง-ไหว) นั่นเอง และขณะคิดนึกหลังเห็น ได้ยิน ฯลฯ หรือคิดนึกโดยไม่เห็น ไม่ได้ยิน ฯลฯ เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้จักและเข้าใจตัวเองก็ต้องศีกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด
MP3 ของอาจารย์สุจินต์ ชุดบารมีในชีวิตประจำวันก็ดีค่ะ ฟังแล้วเข้าใจดีมาก เพราะอาจารย์บรรยายง่ายๆ ดิฉันฟังมาตลอดเกือบทุกวัน เพราะถ้าไม่ฟังชอบหลงลืมสติ
ดีจัง อนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ บารมี ๑๐ สำคัญมาก ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน พร้อมๆ กับการเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ฟังต่อไป
อนุโมทนาครับ
หากไม่เข้าใจพระอภิธรรมก็ไม่เข้าใจปรมัตถธรรมไม่เข้าใจปรมัตถธรรมก็ไม่เข้าใจความเป็นอนัตตา
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาครับ