กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน
อยากจะขอเรียนถามว่า การรู้ในสิ่งที่ควรหรือในสิ่งที่ไม่ควร ถือเป็นปัญญาเจตสิกหรือเปล่าครับ? หรือจะใช่ก็ได้ ไม่ใช่ก็ได้? แล้วอย่างกรณีไหนจึงใช่ กรณีไหนจึงไม่ใช่? เพราะมักได้ยินอธิบายไว้ในอรรถกถาทำนองนี้ด้วยคำว่า เพราะท่านผู้นั้นๆ ผู้นี้ๆ เป็นผู้มีปัญญามาก จึงมีการกระทำอย่างนั้นๆ อย่างนี้ๆ ที่เป็นการรู้สิ่งที่ควรและสิ่งที่ไม่ควร เช่น นางวิสาขามิคารมารดา สมัยที่ท่านอายุ 7 ปี ก่อนที่ท่านจะไปฟังธรรมและบรรลุธรรม ก็มีอธิบายไว้ว่า โดยแรกท่านไปด้วยยาน แต่ด้วยเพราะท่านเป็นผู้มีปัญญามาก เมื่อไปด้วยยาน ก็ไปเท่าที่ยานจะไปได้เท่านั้น ต่อนั้นจึงลงจากยานแล้วไปด้วยเท้า เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคฯ ดังนี้
จึงสงสัยว่า ขณะนั้นเป็นปัญญาเจตสิกหรือ? หรือเป็นได้ไม่เป็นก็ได้ ไม่ได้ก็ได้?
ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นสัจจะ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะใช้คำอะไร หากมุ่งตรงต่อสภาพธรรม ก็ต้องมีลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อกล่าวถึงปัญญาเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรมที่มีความเห็นถูก เข้าใจถูก เป็นลักษณะ แต่จะต้องเป็นความเห็นถูกที่ตรงต่อสัจจะความจริง ที่ไม่ใช่ดังเช่นเรื่องราวทางโลก ดังนั้น ความเห็นถูกที่เป็นปัญญา แบ่งได้ 5 ระดับดังนี้ ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรม ปัญญาที่เป็นขั้นสมถภาวนา ปัญญาขั้นวิปัสสนา ปัญญาขั้นมรรค และปัญญาขั้นผล
นี่กล่าวโดยกว้างๆ ว่า ปัญญา คือ ความเห็นถูกที่ตรงตามสัจจะ ความจริง ที่ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นเรื่องราว สมมติบัญญัติทางโลกที่กล่าวมา ครับ ซึ่งปัญญาที่เป็นความเห็นถูกนั้น ย่อมคิดถูกต้อง คิดตรงต่อสัจจะความจริงด้วย ซึ่งปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์ ก็จะมีกล่าวว่า การรู้ในสิ่งที่ควร หรือ ไม่ควร ก็จะต้องพิจารณาว่า การรู้ในสิ่งที่ควรในที่นี้ คือ ควรที่จะเป็นไปในการเจริญกุศล ละอกุศล เป็นต้น สิ่งใดที่ควรทำ อันเป็นไปเพื่อความเจริญในบารมี อีก 9 ประการ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปในทางกุศล และ รู้ในสิ่งที่ไม่ควร คือ รู้ตามความเป็นจริงว่า อะไรที่ทำให้อกุศลเจริญ อะไรที่ไม่ควรทำ ก็งดเว้นจากสิ่งนั้น เพื่อความเจริญขึ้นของบารมีอีก 9 บารมี คือ เพื่อความเจริญของกุศลประการต่างๆ มากขึ้น ครับ
ซึ่งความเป็นผู้มีปัญญามากนี้เอง ก็จะทำให้คิดไตร่ตรองถูกในการกระทำต่างๆ ในชีวิตประจำวัน คือ เป็นผู้ละเอียดขึ้น แต่การคิดละเอียดขึ้นได้ ก็เพราะสะสมปัญญามามาก แต่ไม่ได้หมายความว่า ขณะที่คิดละอียด เช่น จะทำอะไรให้เหมาะสมตามมารยาทของสังคม การเดินทางโดยรถ โดยยาน อย่างไรเหมาะสม ขณะนั้น จิตจะเป็นกุศล เพราะต้องไม่ลืมว่า ปัญญาเจตสิก เป็นโสภณเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดีงามที่จะต้องเกิดกับจิตที่ดีงาม มี กุศลจิต เป็นต้น จะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้น การคิดว่าควรทำมารยาทอย่างนี้ ก็เกิดจากจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ แต่เป็นความละเอียดของความคิดที่เกิดจากการมีปัญญา เป็นเหตุ แต่ไม่ได้เป็นปัญญาในขณะนั้นก็ได้ เพราะขณะที่เป็นปัญญาที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นไปในกุศลจิตที่คิดถูกในเรื่องกรรมและผลของกรรม ในเรื่องสมถภาวนา วิปัสสนา สติปัฏฐาน เป็นต้น ครับ แต่เพราะอาศัยความเป็นผู้มีปัญญาในอดีตที่สะสมมา ทำให้คิดละเอียดขึ้น ครับ ทำอะไรก็ไตร่ตรอง ละเอียดรอบคอบ ตามปัญญาที่มากตามไปด้วย
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
เพราะอาศัยปัญญาที่เจริญขึ้น มีโยนิโสมนสิการเกิดบ่อย พิจารณาธรรมเนืองๆ ทำให้มีอุปนิสัยที่ละเอียด รอบคอบ จึงเป็นปัจจัยให้ เมื่อแม้มีการคิดนึงเรื่องราวต่างๆ ด้วยอกุศลจิต อกุศลจิตเหล่านั้นโน้มเอียง เอนเอียง ที่จะเกิดดับสืบต่อโดยนัยเดียวกัน คือมีความละเอียดในสิ่งต่างๆ หรือที่เรียกว่ามีลักษณะที่เรียกว่าเฉโก อย่างนี้หรือเปล่าครับ?
ขอบพระคุณครับ
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
เพราะอาศัยปัญญาที่สะสมมามาก ทำให้สามารถคิดเรื่องอื่นๆ ที่ละเอียดรอบคอบมากขึ้น ตามความละเอียดรอบคอบในเรื่องสภาพธรรม แต่การคิดละเอียดรอบคอบในเรื่องต่างๆ ไม่ได้หมายถึง จะต้องเป็นเฉโก ที่หมายถึงฉลาดแกมโกง ความไม่ตรงที่มีอกุศลเป็นเหตุสำคัญ ครับ ขออนุโมทนา
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ชีวิตของแต่ละบุคคลก็เป็นไปตามการสะสมจริงๆ แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย และเป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด สำหรับผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่ดี น้อมไปในทางที่เป็นกุศลอยู่เสมอ ก็จะต้องมีความแตกต่างไปจากผู้สะสมมาไม่ดี มากไปด้วยอกุศล สำหรับผู้สะสมมาไม่ดีการที่จะคิด ไตร่ตรองในสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ก็ย่อมไม่เหมือนกับผู้ที่มีปัญญา ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นอกุศลหรือเป็นกุศล เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น โดยไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะเปลี่ยนให้ปัญญาไม่ให้เป็นปัญญาก็ไม่ได้ หรือจะเปลี่ยนสภาพธรรมอื่นๆ ให้เป็นปัญญา ก็ไม่ได้ เพราะสิ่งที่มีจริงเป็นจริงแต่ละอย่าง โดยไม่ปะปนกันจริงๆ
ประการที่สำคัญจะต้องไม่ลืมว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีกิเลสเกิดขึ้น ยังมีอกุศลเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่ว่าจะมีแต่กุศลอยู่ตลอด ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ประโยชน์จริงๆ ก็คือ เข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ปัญญามีสองอย่าง ปัญญาทางโลก และ ปัญญาทางธรรม ปัญญาทางโลกเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ไม่ได้ขัดเกลากิเลส ส่วนปัญญาในธรรม คือ รู้หนทางที่จะขัดเกลากิเลสที่จะออกจากวัฏฏะ รู้ว่ากุศลสิบประการควรเจริญ ควรอบรมให้ยิ่งขึ้นไป ค่ะ
ขณะที่มีความเห็นถูก จิตมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ความเห็นถูกจะทำให้รู้ คิด ทำ พูดในสิ่งที่ควร ปัญญาที่เป็นไปในทานย่อมรู้ว่าการให้ควรหรือไม่ควร เป็นประโยชน์กับผู้รับ ไม่เบียดเบียนใคร ปัญญาที่เป็นไปในศีล ย่อมรู้ในสิ่งที่ควรประพฤติทางกาย วาจา กิริยาที่ควร การอ่อนน้อม การสนทนา การทักทาย วาจาที่ควร สุภาพ มีประโยชน์
ส่วนการอบรมภาวนาย่อมต้องอาศัยปัญญาความเห็นถูกจึงรู้หนทาง และข้อปฏิบัติที่ควร ที่ถูกต้องขณะที่ปัญญาเกิดร่วมกับกุศลจิต (หรือกิริยาจิต) ย่อมคิด ทำ พูดในสิ่งที่ควร
ผมเข้าใจอย่างนี้ถูกผิดประการใดกรุณาแนะนำด้วยครับ
เรียนความเห็นที่ 7 ครับ
ถูกต้อง ครับ ขออนุโมทนาในความเห็นถูก ครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ