มีข้อความในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องของอัทธาน การเดินทางไกล ที่กล่าวถึงเรื่องนี้เพื่อที่จะให้เห็นว่า ก่อนปรินิพพานนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกลไปสถานที่ใดบ้าง เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์
ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร มีข้อความว่า
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ แม้นั้นทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า
อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา
สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวสวะ อวิชชาสวะ
จะเห็นได้ว่า เมื่อทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงธรรมเหล่านี้เป็นอันมากแก่ภิกษุ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในพระนครราชคฤห์ แล้วตรัสเรียกพวกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกร อานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังอัมพลัฏฐิกา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงอัมพลัฏฐิกาแล้ว ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกา แม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในอัมพลัฏฐิกา แล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกร อานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังบ้านนาลันทคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงหมู่บ้านนาลันทคามแล้ว ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในปาวาทิกอัมพวัน ในบ้าน นาลันทคามนั้น ทรงแสดงธรรม คือ ธรรมีกถาในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญาเป็นอันมาก
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในบ้านนาลัทคามแล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกร อานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังปาฏลิคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงปาฏลิคามแล้ว พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามไปเฝ้ากราบทูลให้ทรงรับเรือนสำหรับพัก แล้วก็จัดแจงปูลาด แต่งตั้งอาสนะ ตั้งหม้อน้ำไว้ ตามประทีป
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปประทับพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ แล้วก็ทรงแสดงธรรมแก่อุบาสก ในเรื่องของศีลวิบัติ ศีลสมบัติ จนสว่าง
พวกอำมาตย์ผู้ใหญ่ในแคว้นมคฤไปเฝ้า กราบทูลให้ทรงรับภัตตาหารพร้อมด้วยภิกษุ เสวยเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ มีความว่า
บัณฑิตยชาติสำเร็จการอยู่ในประเทศใด ย่อมเชื้อเชิญท่านผู้มีศีล ผู้สำรวมแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริโภคในประเทศนั้น เทวดาเหล่านั้นได้รับบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบเขา ได้รับความนับถือแล้ว ย่อมนับถือตอบเขา แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์เขา เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรซึ่งเกิดแต่อก ฉะนั้น บุรุษผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ
จากนั้นเสด็จไปโกฏิคาม ประทับ ณ ที่นั้น รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้
เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เป็นไฉน
เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราและพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้ว ตัณหาในภพเราถอนเสียแล้ว ตัณหาอันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี
ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคาม แม้นั้นทรงกระทำธรรมีกถา
นี่เป็นการเสด็จดำเนินก่อนที่จะปรินิพพาน และได้ทรงแสดงธรรมพร่ำสอนเป็นอันมาก ซึ่งมีข้อความเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแสดงไว้ชัดทีเดียว
จากนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังนาทิกะคาม ทรงพยากรณ์คติและภพเบื้องหน้าของภิกษุที่เป็นอริยสาวก และของอุบาสกอริยสาวกในนาทิกะคาม และได้ทรงกระทำธรรมีกถาในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอันมาก
จากนั้นเสด็จไปยังเมืองเวสาลี ประทับในอัมพปาลีวัน ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา รับสั่งว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี่เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีสติ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำความรู้ตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในกายเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉัน ในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง อย่างนี้แลภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอ
ข้อนี้ก็คงจะทำให้หายสงสัยว่า มีสติคืออย่างไร
มีสติ คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
มีสัมปชัญญะอย่างไร มีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก เป็นต้น
เวลานี้แลอยู่หรือไม่ เหลียวหรือไม่ คู้เข้าบ้างไหม เหยียดออกบ้างไหม เป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะไหม ในการก้าว ในการถอย ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว
และพยัญชนะของการเป็นผู้มีสติกำกับไว้ว่า
อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
ในขณะที่ก้าว มีเวทนาไหม มีจิตไหม มีรูปไหม อยู่ในหมวดใดในมหาสติปัฏฐาน ๔
ทางตา อะไรปรากฏ อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางหู อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางจมูก อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางลิ้น อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางกาย อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางใจ นามอะไรปรากฏ รูปอะไรปรากฏ
ไม่ใช่ให้เจาะจงไปสร้างอะไรขึ้น แต่ทุกขณะที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียด คู้ พูด นิ่ง คิด เป็นผู้มีการรู้สึกตัว พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 56
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...
อัทธานปลิโพธ คือ การเดินทางไกล ไม่ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน
เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย