การเจริญสติปัฏฐานเป็นการอบรมอินทรีย์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น
โดย chatchai.k  12 ต.ค. 2565
หัวข้อหมายเลข 44651

ข้อความในพระสูตรมีว่า

เมื่อภิกษุณีฟังธรรมจากท่านพระนันทกะแล้ว ก็ยินดีอนุโมทนาภาษิตของท่านพระนันทกะ แล้วก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และเมื่อภิกษุณีเหล่านั้นกลับไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในทุกวันอุโบสถ ๑๔ ค่ำนั้น ชนเป็นอันมากไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยว่า ดวงจันทร์พร่องหรือเต็มหนอ แต่แท้ที่จริงดวงจันทร์ก็ยังพร่องอยู่ทีเดียว ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ชื่นชมธรรมเทศนาของนันทกะทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงความดำริบริบูรณ์เลย ฉันนั้นเหมือนกันแล

ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระนันทกะว่า

ดูกร นันทกะ ถ้าเช่นนั้นวันพรุ่งนี้ เธอก็พึงกล่าวสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนั้นเหมือนกัน

ท่านพระนันทกะทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

ชอบแล้วพระพุทธเจ้าข้า

ในวันรุ่งขึ้น ครั้นกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาภัตตาหารแล้ว ท่านพระนันทกะก็ได้ไปยังวิหารราชการาม แล้วแสดงธรรมแก่พวกพระภิกษุณีเหล่านั้น มีข้อความและอุปมาเหมือนกับที่ได้แสดงแล้วในวันก่อนทุกประการ ไม่ผิดไปเลยจากวันก่อน

ครั้นท่านพระนันทกะกล่าวสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงส่งไปด้วยคำว่า

ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย พวกท่านจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว

ลำดับนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นยินดี อนุโมทนาภาษิตของท่านพระนันทกะแล้ว ลุกจากอาสนะ อภิวาทท่านพระนันทกะ กระทำประทักษิณ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกร ภิกษุณีทั้งหลาย พวกเธอจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว

ต่อนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วหลีกไป

ซึ่งข้อความตอนนี้เหมือนกับวันก่อน คือ วันก่อนได้ฟังธรรมจากท่านพระนันทกะแล้ว ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า พวกเธอจงไปเถิด สมควรแก่เวลาแล้ว ภิกษุณีเหล่านั้นก็ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป การกระทำทั้ง ๒ วันเหมือนกัน ธรรมที่ได้ฟังจากท่านพระนันทกะทั้ง ๒ วันก็เหมือนกัน

ข้อความต่อไปตอนจบของพระสูตรนี้มีว่า

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นหลีกไปแล้วไม่นาน ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในทุกวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำนั้น ชนเป็นอันมากไม่มีความเคลือบแคลงหรือสงสัยว่า ดวงจันทร์พร่องหรือเต็มหนอ แต่แท้ที่จริงดวงจันทร์ก็เต็มแล้วทีเดียว ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ชื่นชมธรรมเทศนาของนันทกะทั้งๆ ที่มีความดำริบริบูรณ์แล้ว ฉันนั้นเหมือนกันแล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น รูปสุดท้ายยังเป็นถึงพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

ข้อความเหมือนกันแต่วันแรกที่ได้ฟัง ภิกษุณียังมีความดำริไม่บริบูรณ์ ในวันรุ่งขึ้นท่านพระนันทกะก็ได้แสดงธรรมกถาซ้ำข้อความเดียวกัน แต่ในวันที่ ๒ นั้น บรรดาภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น รูปสุดท้ายยังเป็นถึงพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา แน่นอนที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นการอบรมอินทรีย์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ละคลายความไม่รู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น เหมือนกับการจับด้ามมีด ไม่ใช่ว่าพอจับด้ามมีดทีหนึ่งก็ปรากฏให้รู้ว่าสึกไปมากๆ ทันที ซึ่งการที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปแต่ละครั้งๆ ก็เหมือนกับการจับด้ามมีด เพราะไม่ใช่ปรากฏว่าสึกไปทีเดียวได้มากๆ แต่ว่าต้องค่อยๆ สึกไป

นี่เป็นการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ซึ่งเป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลภะ โทสะ โมหะ เวทนาความรู้สึกที่เกิดจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

ทำไมพระภิกษุณีเหล่านั้นชื่นชมยินดี ก็เพราะเป็นเรื่องจริง เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดแสดงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง เป็นของจริง ก็ควรที่จะชื่นชมยินดี ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรที่ผิดปกติธรรมดา โดยมากท่านผู้ฟังที่คิดว่าได้อะไร ท่านก็ได้ความผิดปกติทั้งนั้น อัศจรรย์มากกับสิ่งที่ผิดปกติ แต่การรู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังรู้สิ่งที่กระทบปรากฏทางกาย กำลังคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ตามธรรมดาทุกอย่าง ท่านไม่เคยคิดว่า จะน่าอัศจรรย์สักเพียงไร หากท่านสามารถแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมนั้นๆ จะน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าไหม เพราะปัญญาสามารถแทงตลอดสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติได้จริงๆ


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 157