การแสวงหาปัจจัย ในพระธรรมวินัย ?
โดย dets25226  6 ก.พ. 2555
หัวข้อหมายเลข 20498

การได้มาซึ่งปัจจัยของพระอริยเจ้านั้น มีทางใดบ้างครับ ...

ในกรณีต่อไปนี้ ถูกต้องหรือไม่

"พระภิกษุรูปหนึ่ง มีความประสงค์จะเดินทางไกล (ต่างจังหวัด) วันหนึ่ง ได้บังเอิญไปเจออุบาสกท่านหนึ่งซึ่งเคยรู้จักกัน จึงกล่าวขอค่ารถ โดยอาศัยความคุ้นเคยกัน พออุุบาสกท่านนี้ ถวายค่ารถให้ ก็แกล้งกล่าวว่า อาตมาพูดเล่นๆ ไม่คิดว่า โยมจะให้จริง แต่ก็รับไว้แล้วพูดคุยไปทำนองที่ว่า อาตมาไม่เกรงใจโยมนะ อาตมาอยากได้อะไร ก็ขอตรงๆ ส่วนเรื่องจะให้ไม่ให้ อยู่ที่โยม"

ประเด็นที่นำมาพูดนี้ เป็นความสงสัยและเกิดขึ้นจริงๆ ครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การได้มาซึ่งปัจจัยของพระภิกษุ ต้องสมควร ถูกต้องตามพระรรมวินัย อันเป็นไปเพื่อ ละ สละกิเลสของตนเอง และรักษาพระธรรมวินัยด้วย ซึ่ง คำว่า ปัจจัยของพระภิกษุ นั้น ต้องเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเพศบรรพชิต นั่นก็คือ ปัจจัย ๔ จีวร อาหาร ยารักษาโรค และ เสนาสนะ และรวมถึง บริขารต่างๆ ที่เหมาะสม ในการดำรงเพศบรรพชิต ที่เป็นเพศ ที่ไม่ได้สะสมแล้ว ละทิ้งชีวิตแบบฆราวาสทั้งหมด สิ่งที่จำเป็นของท่านก็เพื่อความดำรงอยู่ในการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อดับกิเลสเท่านั้นครับ

ปัจจัยของพระภิกษุ จึงไม่ใช่เรื่องของเงินและทอง เพราะ เงินและทองเป็นของสมควรกับคฤหัสถ์และผู้ที่ยินดีในการครองเรือนอยู่ แต่เพศบรรพชิต สละทุกอย่างแล้ว เงินและทอง จึงไม่ใช่ปัจจัยของพระภิกษุครับ และเป็นโทษกับพระภิกษุด้วย

ดังนั้น การได้มาซึ่งปัจจัยก็ต้องถูกต้อง ก็ต้องทำด้วยความสมควร การพูดเลียบเคียงเพื่ออยากจะได้ปัจจัย นั่นก็ผิดพระวินัยแล้ว และ ยิ่งต้องการเพื่อจะได้มาซึ่งสิ่งที่ไม่สมควรกับพระภิกษุ มี เงินและทอง เป็นต้น ก็ยิ่งทำให้ผิดพระวินัยมากขึ้น ก็เป็นโทษกับตัวพระภิกษุเอง และอุบาสก อุบาสิกา ที่มอบเงินไป ก็เท่ากับทำให้ท่านต้องอาบัติโดยไม่รู้ตัวและก็ทำให้พระศาสนาเสื่อมเร็วขึ้น เพราะมีความเข้าใจผิดว่า พระในยุคปัจจุบัน เงินและทองจำเป็นที่ท่านต้องใช้


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 6 ก.พ. 2555

ในความเป็นจริง การเดินทางไกล เพื่ออะไร หรือ ควรอยู่ประพฤติขัดเกลากิเลสในวัดของตน การเดินทางเพื่อไปเรียนหนังสืออย่างชาวโลก นั่นผิดพระวินัย ไม่ตรงตามจุดประสงค์ที่บวช การรับกิจนิมนต์เกินจำเป็นก็ไม่เป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ความสงัด ไม่คลุกคลีเลยครับ ดังนั้น การที่พระภิกษุ จะขอปัจจัย โดยควรนั้น ก็ต้อง เป็นปัจจัยที่เหมาะสม ไม่ใช่เงินและทองครับ หากขอในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ ไม่เหมาะสม ก็ต้องอาบัติได้ครับ และพูดเลียบเคียงเพื่อได้ปัจจัยก็ผิดอีกครับ

อุบาสก อุบาสิกา ควรถวายเงินและทองกับไวยาวัจกร และให้ทางไวยาวัจกร จัดการดำเนินการในเรื่องการเดินทาง จ่ายเงินเอง ไม่ใช่พระภิกษุไปขอเงินครับ อุบาสก อุบาสิกา ที่ดี คือ มีความเข้าใจถูก ไม่ใช่เพียงต้องการบุญ จึงให้เงินและทองกับพระภิกษุ ซึ่งเป็นโทษกับพระด้วย และพระศาสนาก็อันตรธานเร็วขึ้นด้วยครับ และที่คิดว่า เป็นกุศล ก็ย่อมน้อยมาก เพราะทำด้วยไม่ประกอบด้วยปัญญา และเป็นโทษกับผู้ที่รับ เพศบรรพชิตจึงเป็นเพศที่ขัดเกลาอย่างยิ่งครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 3    โดย เซจาน้อย  วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย dets25226  วันที่ 6 ก.พ. 2555

ตามที่อาจารย์ได้กรุณาอธิบายนั้น ผมเห็นสมควรตามนั้น

มีอีกประเด็นหนึ่งนะครับ

"ครั้งหนึ่ง เจ้าอาวาสวัดหนึ่ง ประสงค์จะชักชวนพระภิกษุสามเณรเรื่องการขยันบิณฑบาต จึงได้เน้นถึงอานิสงส์ของการบิณฑบาตว่า ตนเองนั้น บิณฑบาตทุกวัน และได้เงินหลายหมื่นบาทต่อเดือน"

ผู้ปกครองคณะสงฆ์ ยังสอนแบบนี้ ก็รู้กันเลยครับ ว่า เสื่อมขนาดไหน

ประเด็นที่นำมาพูดนี้ เพื่อเจริญความเห็นถูก และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย paderm  วันที่ 6 ก.พ. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

เป็นธรรมดา เมื่อกาลเวลาผ่านไปสองพันกว่าปี พระศาสนาก็เสื่อมไปตามความเข้าใจพระธรรมของสัตว์โลกที่น้อยลง สำคัญ คือ เราศึกษาพระธรรมให้เข้าใจและประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ก็เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาพระธรรมวินัย ซึ่งจะรักษาได้ ก็เพราะมีปัญญาเข้าใจธรรมนั่นเองครับ

ขออนุโมทนา คุณ dets25226 ที่ร่วมสนทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย khampan.a  วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพศบรรพชิต เป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ที่เป็นอยู่ง่ายเลี้ยงง่าย เป็นผู้ที่มีความจริงใจที่จะขัดเกลสกิเลส ดังที่ได้สละทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งอาคารบ้านเรือน ญาติสนิทมิตรสหาย และทรัพย์สมบัติต่างๆ เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ด้วยความจริงใจ บรรพชิตที่ตรงต่อพระธรรมวินัย ย่อมจะไม่กระทำอะไรที่ผิดไปจากพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้และทรงบัญญัติไว้ แต่จะมีความมั่นคงที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม น้อมประพฤติในส่วนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต และ ไม่ประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีรับเงินรับทอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่า พระภิกษุรับเงินรับทอง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ (ซึ่งจะต้องสละเงินทองนั้นก่อน จึงจะแสดงอาบัติตก) เพราะเหตุว่า เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิต แม้ไม่มีเงินทอง ไม่รับเงินรับทอง ชีวิตของท่านก็ดำเนินต่อไปได้ เป็นไปอย่างเบาสบาย ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องแสวงหา ไม่ต้องเก็บสะสม เหมือนอย่างเพศคฤหัสถ์ พระภิกษุที่มีความจริงใจที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้นเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการเป็นบรรพชิต ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผู้ที่ไม่มีความจริงใจ ไม่เคารพพระธรรมวินัย ย่อมจะพอกพูนโทษให้เกิดขึ้นกับตนเองโดยส่วนเดียว ไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาสู่ความเป็นบรรพชิต ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 7    โดย jaturong  วันที่ 7 ก.พ. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย wannee.s  วันที่ 15 เม.ย. 2555

ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า ยานพาหนะของพระภิกษุ คือ รองเท้า และ การถวายรองเท้าให้พระ ชื่อว่าให้ความสุข ค่ะ