ข้อความเตือนสติเรื่องวัฑฒิสูตร
โดย wittawat  13 ก.ย. 2554
หัวข้อหมายเลข 19714

ขอเชิญคลิกอ่านพระสูตร ... วัฑฒิสูตร และ สัมปทาสูตร

ข้อความเตือนสติจากชั่วโมง สนทนาพระสูตร ข้อความเตือนสติที่มาจากส่วน สนทนาที่เกี่ยวข้องกับพระสูตร

๐๑. ความหมายของสาระ สาระ คือ สิ่งที่เป็นแก่นสาร หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในบรรดาสิ่งที่เกิดดับทุกขณะ มีทั้งที่เป็นประโยชน์ ประเสริฐ และสิ่งที่ตรงข้าม ได้แก่ ปัญญาและ อวิชชา สิ่งที่ประเสริฐ คือ มรรคมีองค์ ๘ เพราะเป็นหนทางดับกิเลสได้ แม้ว่าเกิดดับ และสิ่งที่ไม่เป็นสาระไม่เป็นประโยชน์ก็มี เช่น ความติดข้องพอใจ ไม่รู้

๐๒. สาระแท้จริงที่ควรบำเพ็ญ ทุกๆ คนหวังความเจริญในทรัพย์ทั้งหลาย เช่น เรือกสวน ไร่นา บุตรภริยาโภคทรัพย์ แล้วแต่จะหวังอะไร เพราะยังไม่หมดหวัง แต่ความหวังก็ไม่ใช่สาระแท้จริง เพราะตั้งแต่เกิดมาก็คือ ตามมีตามได้ ตามกรรมที่กระทำไว้แล้ว ต้องมีทั้งฝ่ายดีและไม่ดี ทั้งสุขทุกข์ แล้วทั้งหมดก็ไม่เหลือ เพราะสาระแท้จริง สิ่งที่ควรบำเพ็ญ คือ สุตะ ได้แก่ ศรัทธาที่ฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

๐๓. เหตุที่ประมาทไม่ใส่ใจฟังธรรม เพราะลืมความตาย ทุกคนลืมคิดถึงความตาย ต้องจากทรัพย์ทั้งหมดทุกประการ ไม่เหลืออะไรตามไปด้วยเลย แม้แต่ร่างกายที่เคยยึดว่าเป็นเรา ฉะนั้น การได้เห็นความจริงของสภาพธรรมเป็นประโยชน์ เพื่อที่จะสามารถละคลายความติดข้องซึ่งนำมาซึ่งทุกข์เพราะอยากได้ในสิ่งที่ปรากฏแล้วหมดไป

๐๔. ประโยชน์ของการฟังธรรม เพื่อให้เข้าใจว่า สิ่งที่มีปรากฏนั้น แท้จริงไม่มีสาระ ปรากฏทางตาแล้วหมดไป แม้ทางจมูก ลิ้น กาย ใจทั้งหมดเพียงคิดว่ามี แต่ก็หมดไปอย่างนี้ยับยั้งไม่ได้

๐๕. ประโยชน์ของการศึกษาค้นคว้า เพราะไม่รู้ จึงฟัง เพราะไม่รู้ จึงอ่าน ไม่ใช่โดยคิดเดาเอาเอง แต่อ่านเพื่อเข้าใจถูกต้อง ทุกครั้งที่ฟังธรรมหรืออ่านเพื่อให้รู้ยิ่งขึ้น เข้าใจถูกยิ่งขึ้น เพื่อละความไม่รู้จึงจะละอกุศลอื่นได้

๐๖. ฟังธรรมเพื่อเข้าใจความเป็นอนัตตา สัจจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งหมดเพื่อที่จะให้รู้ว่าธรรมมีจริง ถ้าฟังแล้วเข้าใจว่า เป็นอัตตา เป็นตัวเรา เป็นตัวตน สัตว์บุคคล เราอยากรู้สภาพธรรมที่เกิดดับ ก็คือการฟังนั้นเป็นโมฆะไปแล้ว จึงต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะพระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ตรง ซึ่งต้องมั่นคงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา พระไตรปิฎกมีเท่าไร ทั้งหมดก็เพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า ธรรม เป็นอนัตตา

๐๗. สะสมความเห็นประโยชน์ในการฟังธรรม ผู้ที่เห็นคุณของพระธรรม ผู้มีโอกาสได้ฟังธรรม ต้องเป็นผู้สะสมบุญมาในปางก่อน ศรัทธามากน้อยก็ตามที่ได้สะสมมา ซึ่งจะสะสมเพิ่มมากขึ้นในแต่ละภพแต่ละชาติได้ ก็ด้วยการเข้าใจยิ่งๆ ขึ้น

๐๘. ความหมายของกาย กาย หมายถึง ที่ประชุมทั้งรูปกายและนามกาย

รูปกาย ประชุมรวมของสิ่งที่น่าเกลียด ๓๒ ประการ ได้แก่ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ... เพราะถ้านำออกมากอง ก็ไม่มีคนต้องการ ไม่มีคนขอ

นามกาย คือ จิตและเจตสิก หากมีแต่รูปกาย ไม่มีนามกายเลย ก็ไม่มีความเดือดร้อน ถ้ามีทรัพย์มากมายแต่ไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีนามกาย โภคทรัพย์นี้จะเป็นของใคร มีประโยชน์อะไร เพียงหลงว่าเป็นของเรา แต่ความจริง คือ จิตที่เกิดขึ้นแล้วดับไปตามที่ทรงแสดง

๐๙. ความหมายของโลกสันนิวาส
โลก
คือ ธรรมที่แตกสลายเกิดดับในขณะนี้ หมายถึงขันธ์ ๕
สันนิวาส คือ การอยู่ ซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลายด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ
โลกสันนิวาส จึงหมายถึง ขันธ์ ๕ ที่ปรากฏเกิดดับในขณะนี้ เป็นที่อาศัยให้เกิดความยินดีพอใจติดข้อง และความเห็นผิดที่ยึดถือว่า เป็นเรา สัตว์ บุคคล เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

๑๐. ยึดถือในสิ่งใด ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏในโลกจะยึดถืออะไร พอใจอะไร

๑๑. รู้จักคบหากับสิ่งใดอยู่ เวลานี้ใครชื่ออะไรพบกันหลายครั้ง ไปมาหาสู่กัน เที่ยวด้วยกัน รู้จักกันไม่นาน พอหมดก็ไม่รู้จักกันอีกเลย เหมือนบุคคลชาติก่อนๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ตรง ถูกต้อง คือปัญญา ซึ่งต้องอาศัยศรัทธา ฟังจนเห็นถูกต้อง คลายความไม่รู้ ติดข้องทรัพย์ รู้ว่าทั้งหมดก็ตามมีตามได้ ตามปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้

๑๒. กำลังของอวิชชา ต้นไม้แข็งใหญ่โต ภูเขาแข็งๆ โอนเอียงได้ยากฉันใด อวิชชาความไม่รู้ก็อย่างนั้นต้องอาศัยปัญญา จึงสามารถค่อยๆ คล้อยตามความจริงถูกต้องยิ่งขึ้น ที่จะเข้าใจถูกต้องในลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ขณะอื่น

๑๓. ความหมายของโภคทรัพย์ ทรัพย์ ก็คือ ผลของกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลก็ไม่ต้องห่วง ส่วนทรัพย์คือศรัทธา ที่จะเจริญขึ้นได้ ต้องเป็นเรื่องของการฟัง มิฉะนั้นจะเป็นเพียงขั้นทาน ความสงบของจิต แต่ไม่ใช่การเข้าใจธรรม ฉะนั้น การเข้าใจถูกต้อง ประเสริฐกว่าทรัพย์ใดๆ เพราะบางคนมีทรัพย์เพื่อติดข้อง แต่ความละเอียด คือ สามารถสละความติดข้องได้

๑๔. ทรัพย์ที่เป็นผลของกรรมและทรัพย์ที่เป็นการสะสม การเจริญขึ้นด้วยทรัพย์สินเงินทองบริวาร เป็นผลของกุศลกรรมในอดีต จะสะสมต่อไปได้ก็ด้วยกุศลกรรม แต่การเจริญด้วยทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เป็นการสะสมจากในอดีตและต่อๆ ไป ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจธรรม เห็นถูก กุศลธรรมจึงสามารถเจริญขึ้นต่อไป

๑๕. สิ่งใดที่สำคัญ ทรัพย์หรือศรัทธา แม้แต่จะฟังธรรม ถึงบอกแล้วว่าจะฟัง ก็ไปทำอย่างอื่นก็ได้ ฉะนั้น ศรัทธา สภาพผ่องใสที่จะเห็นประโยชน์ของการพ้นจากอกุศล ด้วยการฟังสิ่งที่มีสาระประโยชน์ยิ่งกว่าทรัพย์อื่นใดหรือไม่ เพราะถ้าไม่ฟัง ก็คือหมดโอกาสเข้าใจถูกว่าเห็น ได้ยิน ก็ดี ไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง เพียงปรากฏแล้วหมดไปไม่กลับมาอีกเลยแต่ประโยชน์ที่แท้จริง คือ เห็นถูก เข้าใจถูก ศรัทธา ฟังธรรมเพื่อกุศลธรรมเจริญขึ้น ประเสริฐยิ่งขึ้นตามลำดับ

๑๖. ความหมายของทาน ทาน คือกุศลจิตที่เกิดขึ้น สละสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่คนอื่น ไม่ใช่ขณะหวังสิ่งตอบแทน เมื่อเห็นเขาต้องการ เขาไม่มี เขาจำเป็นต้องใช้ จะให้หรือไม่ให้ก็แล้วแต่สภาพจิตในขณะนั้น

๑๗. ความต่างของการให้และจาคะ ทานทั้งหลายมีการให้คือ ทรัพย์ ความรู้ เป็นต้น เพื่อผู้ตกทุกข์ได้ยากก็ดี แต่จาคะนั้น เป็นการให้ที่ไม่ใช่วัตถุเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อสละกิเลส เป็นการสละกิเลส เช่น ถ้าบอกว่ามีอะไรก็ให้เอาไปเลย แต่ถ้ามีคนเอาสิ่งที่ชอบไป แล้วยังติดใจนี้ไม่ใช่จาคะ นี้คือ ความต่างของทานและจาคะ คือให้แล้วไม่เสียดาย สามารถให้สิ่งที่พอใจได้ตามกำลังกุศล ให้สิ่งที่ไม่ต้องการกับให้สิ่งที่ชอบมากๆ ก็ยากต่างกันมาก หากกุศลจิตเกิดรู้ลักษณะของจาคะ จะยังพอใจในสิ่งที่ติดหรือไม่ หรือเห็นประโยชน์ของการเริ่มสละ แม้ไม่สามารถสละความติดข้องได้ทั้งหมด แต่ปัญญาความเห็นถูกจะค่อยๆ มีกำลังได้ต้องอาศัยการฟัง

๑๘. การให้ที่เป็นจาคะ จาคะ ได้แก่ การให้ที่สละแม้ความสุขส่วนตัว การให้บางประเภทให้แล้วก็ให้ไป แต่การให้บางประเภทต้องสละเวลากับสิ่งนั้น

๑๙. ความเกี่ยวเนื่องกันของ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ศรัทธาประเภทต่างๆ ศรัทธา คือ สภาพที่ผ่องใสจากอกุศล เช่น ให้ทาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบุคคลนั้นซึ่งก็แล้วแต่ว่าสะสมศรัทธามาทางใด บางคนสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น บางคนไม่พูดชั่ว บางคนสะสมที่จะฟังธรรม เป็นผู้ตรง เข้าใจธรรมที่เกิดกับตนขณะนั้น หรือศรัทธาที่เป็นไปในศีล ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เรื่องราวแต่เป็นการศึกษา คือการเข้าใจลักษณะที่เกิดขึ้นแล้วตามการได้ยินได้ฟัง วันนี้คำพูด การกระทำ มีศรัทธาในศีลบ้างหรือไม่

ศรัทธาในทาน ให้อะไรใครในบ้านบ้างหรือไม่ ไม่ใช่ด้วยหน้าที่แต่ด้วยจิตผ่องใส ถ้าเข้าใจธรรม ก็เข้าใจลักษณะของธรรมที่เกิดขณะนั้นด้วย หากยังไม่เกิดก็เป็นแต่เพียงชื่อของธรรม

ศรัทธาในศีล คือ เพราะศรัทธาทำให้มีศีล เว้นกายทุจริต วจีทุจริตมากขึ้น ถึงมโนทุจริต, จิตวันหนึ่งๆ เกิดตามการสะสม คือ อวิชชาหนาแน่น ยากที่จะรู้ถูก เข้าใจถูก เพราะจากการฟังเข้าใจขึ้น ก็นำมาซึ่งศรัทธาในศีลในชีวิตประจำวันด้วย บางคนมีกายดี วาจาดี แต่ไม่ฟังธรรม ก็มีศีลในระดับนั้น แต่บางคนเห็นประโยชน์ว่า แม้อย่างนั้นก็ยังไม่พอ เพราะกิเลสกลุ้มรุมได้ จึงฟังธรรม

ศรัทธาที่ฟังธรรม ประโยชน์ของสุตะ คือ แสวงหาความจริงจากคำจริงที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังจะเข้าใจความจริงได้ว่าแต่ละคำ พยัญชนะตื้น อรรถลึกซึ้ง แม้คำว่าสภาพธรรม สภาวะ คือมีลักษณะเฉพาะตน ไม่สับสนปะปนกัน โดยที่ทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นสภาวะ คือธรรมทั้งสิ้น ซึ่งไม่มีโอกาสเข้าใจได้เลยหากไม่มีสุตะ ซึ่งก็คือ การฟังธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ

ศรัทธาในจาคะ ที่มีศรัทธา มีศีล มีสุตะ ก็เพื่อจาคะ สละอกุศลทั้งหมด พระธรรมทั้งหมดเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อติดข้อง ละอกุศล จนกระทั่งละแม้กุศลได้ จนกระทั่งละทั้งหมดไม่เกิดอีกเลย ทาน มีอานิสงส์มาก แต่จาคะที่จะสละความติดข้องในทานมีบ้างหรือไม่ ติดข้องทุกอย่างทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่ติดก็ไม่เดือดร้อนเลย รู้ความจริง คือ ตามมีตามได้ ตามปัจจัย ก็คลายความเดือดร้อนไปแล้ว ไม่รู้ แล้วก็ติดข้อง ควรสละ แต่ที่จะสละความไม่รู้และติดข้องได้ต้องด้วยปัญญาเท่านั้น

๒๐. ปัญญาสมบัติและจาคสมบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมด้วยปัญญาสมบัติ และจาคสมบัติ ถ้าไม่มีปัญญาจะแสดงธรรมให้คนอื่นเห็นถูกไม่ได้ ทรงมีพระมหากรุณาคุณ สละทุกอย่างเพื่อประโยชน์คนฟัง แม้อยู่ไกลแสนไกล โรงของนายช่างหม้อที่ปฏิกูลก็ไม่สำคัญ แต่ทรงอนุเคราะห์ สละ เพื่อประโยชน์แก่บุคคลนั้นฟังเข้าใจถูกเพื่อละความไม่รู้ ละความเห็นผิดและละอกุศลธรรมประการอื่นๆ

๒๑. การสละทรัพย์ ยากหรือง่าย เพียงคิด พูดออกมายังยาก พูดแล้วบางครั้งยังเปลี่ยนใจบ้าง ลืมบ้างแล้วก็ไม่ได้ให้ แล้วเมื่อให้แล้วก็ยังเสียดายในสิ่งที่ให้ ที่จะไม่เสียดายเลยก็ยิ่งยาก ที่ยากทั้งหมดก็เพราะกิเลสมาก เพราะสะสมมาที่ไม่รู้ประโยชน์ของกุศล ด้วยอกุศลคือความเป็นเรา

๒๒. การสละความไม่รู้ ที่จะสละความไม่รู้ได้ต้องเป็นปัญญาอย่างเดียว ถ้าไม่มีปัญญา สละอะไรก็ไม่ได้ เพียงให้ ก็ไม่ใช่จาคะ

๒๓. ความเข้าใจและเรื่องราวของธรรม การพูดถึงเรื่องราวของธรรมมาก ไม่สำคัญเท่ากับ ขณะที่ธรรมกำลังปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน แล้วมีความเข้าใจสิ่งนั้นชัดเจนขึ้น

๒๔. การสละได้โดยตลอดเกิดได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ตรงว่า ฟังวันนี้ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เพิ่มจากวันก่อนน้อยมาก ไม่ใช่เรื่องทันที แต่ที่จะฟังเข้าใจ สละได้โดยตลอด ต้องตามกำลังความเข้าใจถูก ศรัทธาฟังธรรม เข้าใจธรรม ซึ่งค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นผู้ไม่ประมาท

๒๕. ปัญญาที่เจริญขึ้นเพื่อสละอกุศล มีศรัทธา มีศีล ต้องมีสุตะด้วย จึงมีจาคะที่สละอกุศลได้ เพราะความติดข้องพอใจหลั่งไหลมา กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มหาศาลเพียงใด ปัญญาก็ค่อยๆ สามารถเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ว่า อกุศลไม่ควรเจริญ กุศลควรเจริญ เมื่อกุศลเจริญขึ้น ก็เป็นการสละอกุศลด้วยปัญญา

๒๖. ประโยชน์ของการฟัง เรื่อง ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ประโยชน์ คือ เมื่อฟังแล้ว วันนี้รู้จักตนเอง คือ ธรรมที่เกิดกับตนตามที่ได้สะสมมา ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดแต่ละหนึ่งขณะอย่างรวดเร็ว แล้วก็ดับไป ก็มีเหตุปัจจัยให้เป็นอย่างนั้น ฟังเรื่องศรัทธาก็รู้ศรัทธาตนเองว่าน้อยหรือมาก ศีลที่แม้ไม่ต้องถึงใจ ทางกาย ทางวาจา วันนี้น้อยหรือมาก รู้จักธรรม เมื่อธรรมนั้นเกิดขึ้นจึงรู้ตามความเป็นจริงได้ เข้าใจถูกต้องว่ากุศลมากหรือน้อย อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ ที่จะสะสมกุศลทั้งหลายให้เจริญยิ่งขึ้น หากปราศจากปัญญา เป็นไปไม่ได้

ข้อความเตือนสติจากบทสนทนาอื่นที่ได้รับประโยชน์ในชั่วโมงพระสูตร

๒๗. แข็งที่ปรากฏขณะหลงลืมสติและขณะมีสติ ขณะที่กำลังรู้ว่าแข็ง แต่ไม่มีความเข้าใจถูกต้องว่าขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะของธรรม เพียงแต่กล่าวตามได้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และแข็งเป็นธรรม แต่กำลังกระทบแข็งที่ปรากฏจริงๆ ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรื่องที่จะมีตัวตนไปสังเกต สำเหนียก แต่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นปัญญาที่ต่างจากการหลงลืมสติ และไม่ว่าสติเกิดหรือไม่เกิด แข็งก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะ แต่เป็นปัญญาความเข้าใจที่จะทราบความต่างว่า สติสัมปชัญญะรู้แข็งหรือมีแต่แข็งปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

๒๘. ถ้าฟังเพื่อเราพยายามนั้น การฟังเป็นโมฆะ การฟังธรรมทั้งหมดก็เพื่อความเข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อเราพยายาม นั้นคือ ลืมว่าเป็นธรรม ที่ฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็เป็นโมฆะทั้งหมด เพราะถูกลบล้างด้วยอวิชชาที่ถือมั่นโดยความเป็นเรา แต่ที่ถูกคือ เข้าใจยิ่งขึ้น จนกระทั่งคล้อยตามความจริง น้อมไปสู่ความจริงว่า ทุกอย่างที่ปรากฏ แม้เดี๋ยวนี้ก็เป็นธรรม



ความคิดเห็น 1    โดย เซจาน้อย  วันที่ 9 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย intra  วันที่ 3 ม.ค. 2555

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีค่ะ

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย jaturong  วันที่ 4 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย orawan.c  วันที่ 6 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย pamali  วันที่ 27 เม.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย papon  วันที่ 9 ก.พ. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย swanjariya  วันที่ 4 เม.ย. 2558

อนุโมทนา

ขอบคุณมากค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 21 ส.ค. 2558

สาธุ อนุโมทนา

ขอบพระคุณค่ะ