มรรคจิตดวงที่ ๒ มรรคจิตดวงที่ ๓ มรรคจิตดวงที่ ๔
โดย บ้านธัมมะ  30 ธ.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 41845

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑

มรรคจิตดวงที่ ๒ 271/641

มรรคจิตดวงที่ ๓ 272/641

มรรคจิตดวงที่ ๔ 273/642

อรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์ 643

ว่าด้วยมรรคจิตพันนัยเป็นต้น 645

การอุปมาด้วยหีบรัตนะ 648


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 75]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 641

มรรคจิตดวงที่ ๒

[๒๗๑] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน?

โยคาวจรบุคคลเจริญฌานเป็นโลกุตระ อันเป็นเครื่องออกไปจากโลกนําไปสู่นิพพาน เพื่อบรรลุภูมิที่ ๒ เพื่อบรรเทากามราคะและพยาบาทให้เบาบางลง สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานเป็นทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ฯลฯ อยู่ในสมัยใด ผัสสะ ฯลฯ อัญญินทรีย์ ฯลฯ อวิกเขปะ มีในสมัยนั้น ฯลฯ

สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นกุศล ฯลฯ

มรรคจิตที่ดวงที่ ๒ จบ

มรรคจิตดวงที่ ๓

[๒๗๒] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน?

โยคาวจรบุคคลเจริญฌานเป็นโลกุตระ อันเป็นเครื่องออกไปจากโลกนําไปสู่นิพพาน เพื่อบรรลุภูมิที่ ๓ เพื่อละกามราคะและพยาบาทไม่ให้มีเหลือ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน เป็นทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ฯลฯ มีอยู่ในสมัยใด ผัสสะ ฯลฯ อัญญินทรีย์ ฯลฯ อวิกเขปะ มีในสมัยนั้น ฯลฯ

สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าธรรมเป็นกุศล ฯลฯ

มรรคจิตดวงที่ ๓ จบ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 642

มรรคจิตดวงที่ ๔

[๒๗๓] ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน?

โยคาวจรบุคคลเจริญฌานเป็นโลกุตระ อันเป็นเครื่องออกไปจากโลกนําไปสู่นิพพาน เพื่อบรรลุภูมิที่ ๔ เพื่อบรรลุราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ไม่ให้มีเหลือ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน เป็นทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ฯลฯ อยู่ในสมัยใด ผัสสะ ฯลฯ อัญญินทรีย์ ฯลฯ อวิกเขปะ มีในสมัยนั้น ฯลฯ

สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นกุศล ฯลฯ

[๒๗๔] อัญญินทีรย์ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกําหนดหมาย ความเข้าไปกําหนด ความเข้าไปกําหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทําลายกิเลส ปัญญาเครื่องนําทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศัสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลงความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์อันเป็นองค์แห่งมรรคนับเนื่องในมรรค เพื่อรู้ธรรมที่รู้แล้ว เพื่อเห็นธรรมที่เห็นแล้ว เพื่อบรรลุธรรมที่บรรลุแล้ว เพื่อทราบธรรมที่ทราบแล้ว เพื่อทําให้แจ้งซึ่งธรรมที่ทําให้แจ้งแล้ว ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า อัญญินทรีย์ มีในสมัยนั้น ฯลฯ นี้ชื่อว่า อวิกเขปะมีในสมัยนั้น หรือนามธรรมที่อิงอาศัยเกิดขึ้นแม้อื่นใด มีอยู่ในสมัยนั้น.

สภาวธรรมเหล่านั้นชื่อว่า ธรรมเป็นกุศล.

มรรคจิตดวงที่ ๔ จบ

โลกุตตรกุศลจิต จบ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 643

อรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์

อธิบายมรรคจิตดวงที่ ๒

บัดนี้ เพื่อทรงแสดงมรรคที่สองเป็นต้น จึงเริ่มตรัสคําว่า กตเม ธมฺมา กุสลา ดังนี้อีก.

บรรดาคําเหล่านั้น คําเหล่านี้ว่า กามราคพฺยาปาทานํ ตนุภาวาย (เพื่อบรรเทากามราคะและพยาบาท) ได้แก่ เพื่อบรรเทาสังกิเลสทั้งหลายในคําว่าเพื่อบรรเทาสังกิเลสเหล่านั้น พึงทราบการทําให้เบาบางด้วยเหตุ ๒ อย่างคือ การเกิดขึ้นบางคราวและการกลุ้มรุมอย่างอ่อน.

จริงอยู่ กิเลสทั้งหลายย่อมไม่เกิดขึ้นเนืองๆ แก่พระสกทาคามี เหมือนมหาชนผู้ท่องเที่ยวไปในวัฏฏะ ย่อมเกิดขึ้นบางครั้งบางคราว แม้เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นการเกิดขึ้นที่เบาบาง เหมือนหน่อพืชในนาที่เขาหว่านไว้ห่างๆ แม้เมื่อเกิดขึ้นก็แผ่ไปปกปิดเบาบาง ไม่เกิดขึ้นทําการมืดมนเหมือนมหาชนผู้ท่องเที่ยวไปในวัฏฏะ ก็เพราะถูกมรรคทั้งสองละแล้วจึงเกิดขึ้นเบาบาง ย่อมเกิดขึ้นเป็นสภาพเบาบางเหมือนแผ่นหมอกบางๆ และเหมือนปีกแมลงวัน ฉะนั้น.

ในข้อนี้ พระเถระบางพวกกล่าวว่า กิเลสเกิดขึ้นแก่พระสกทาคามีนานๆ ครั้งแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็เป็นกิเลสหนาเทียวเกิดขึ้น เพราะว่า พระสกทาคามีนั้นยังมีบุตรและธิดาปรากฏอยู่ดังนี้. แต่ข้อนี้ไม่เป็นประมาณ เพราะว่าบุตรและธิดาย่อมมีด้วยเหตุสักว่าการลูบคลําอวัยวะน้อยใหญ่ก็มี แต่ความที่กิเลสยังหนาไม่มีเพราะความที่กิเลสทั้งหลายท่านละด้วยมรรคทั้งสองแล้ว. พึงทราบความเบาบางแห่งกิเลสทั้งหลายของท่านด้วยเหตุทั้ง ๒ คือ ด้วยการเกิดขึ้นบางคราวและเพราะกลุ้มรุมอย่างอ่อน ด้วยการฉะนี้.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 644

    คําว่า ทุติยาย (ที่ ๒) ได้แก่ชื่อว่า ที่ ๒ ด้วยการนับบ้างด้วยการเกิดขึ้นครั้งที่ ๒ บ้าง.

    บทว่า ภูมิยา ปตฺติยา (เพื่อบรรลุภูมิ) ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การได้สามัญผล. แม้ในคําว่า เพื่อบรรลุภูมิที่ ๓ ที่ ๔ ก็นัยนี้แหละ ข้าพเจ้าจักกล่าวแต่เฉพาะเนื้อความที่ต่างกันเท่านั้น.

    บทว่า อฺินฺทฺริยํ (อัญญินทรีย์) ได้แก่อินทรีย์ที่รู้ทั่ว มีอธิบายว่า อินทรีย์ที่รู้สัจจธรรมทั้ง ๔ เหล่านั้นนั่นแหละ อันสกทาคามิมรรคนั้นรู้แล้วไม่เกินขอบเขตที่ปฐมมรรครู้. แม้ในนิทเทสวารแห่งอัญญินทรีย์นั้นก็พึงทราบเนื้อความโดยนัยแม้นี้. ในโกฏฐาสวาระรวมกับอินทรีย์นี้ก็เป็นอินทรีย์ ๙ คําที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแหละ.

    ทุติยมรรคจบ

    ในมรรคจิตดวงที่ ๓ บทว่า อนวเสสปฺปหานาย (เพื่อละไม่ให้มีเหลือ) ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การละสังโยชน์เหล่านั้นนั่นแหละที่เบาบางด้วยอํานาจสกทาคามิมรรคมิให้เหลือ.

    ในมรรคจิตดวงที่ ๔ คําว่า เพื่อละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา มิให้มีเหลือ ได้แก่เพื่อประโยชน์แก่การละอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เหล่านั้น มิให้เหลือ. บรรดาอุทธัมภาคิยสังโยชน์เหล่านั้น บทว่า รูปราโค ได้แก่ความกําหนัดด้วยอํานาจความพอใจในรูปภพ. บทว่า อรูปราโค ได้แก่ ความกําหนัดด้วยอํานาจความพอใจในอรูปภพ. บทว่า มาโน ได้แก่ มานะที่พระอรหัตพึงฆ่านั่นแหละ. อุทธัจจะและอวิชชาที่พระอรหัตพึงฆ่าเหมือนกัน. ก็ในมรรคจิตทั้ง ๒ (ที่ ๓ ที่ ๔) เหล่านี้ เป็นอัญญินทรีย์ที่ ๙ ทีเดียว.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 645

ว่าด้วยมรรคจิตพันนัยเป็นต้น

ในมรรคทั้งหมดมีบท ๖๐ ถ้วน โดยลําดับ รวมกับองค์อปัณณกะ (ไม่ผิดกัน) ๔ เป็น ๖๔ บท ก็บทที่ไม่ปะปนกัน ๓๓ บทในโกฏฐาสวารและสุญญตวาร ตามปกตินั่นแหละ. พระธรรมราชาทรงจําแนกมรรคทั้ง ๔ แสดงไว้ ๔,๐๐ นัย คือ แม้ในมรรคจิตดวงที่ ๒ เป็นต้น ก็เป็นดวงละพันนัยเหมือนปฐมมรรคนั่นแหละ.

ก็ในสัจจวิภังค์ พระองค์ทรงตั้งโลกุตระไว้ ๖ หมื่นนัย ด้วยอํานาจแห่งมรรคจิตเหล่านั้นนั่นแหละ ในสติปัฏฐานวิภังค์ทรงตั้งโลกุตระไว ้๒ หมื่นนัยในสัมมัปปธานวิภังค์ ๒ หมื่นนัย ในอิทธิบาทวิภังค ์๓ หมื่น ๒ พันนัย ในโพชฌงค์ ๓ หมื่น ๒ พันนัย ในมรรควิภังค์ทรงตั้งโลกุตระไว้ ๒ หมื่น ๘ พันนัย ด้วยอํานาจมรรคจิตเหล่านั้นแหละ.

แต่ในที่นี้ ทรงตั้งโลกุตระไว้ ๔ พันนัย ในมรรคจิตทั้ง ๔ ดวง ในบรรดามรรคจิตเหล่านั้น ในมรรคจิตดวงที่หนึ่งประกอบด้วยปฐมฌาน ทรงจําแนกองค์ไว้ ๘ ในทุติยมรรคเป็นต้นก็เหมือนกัน. บรรดาองค์มรรคเหล่านั้นสัมมาทิฏฐิในมรรคที่หนึ่ง ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า ย่อมละมิจฉาทิฏฐิมรรคแม้มีสัมมาสังกัปปะเป็นต้นก็พึงทราบ เพราะอรรถว่าการละมิจฉาสังกัปปะเป็นต้นนั่นแหละ.

ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ชื่อว่า ทิฏฐิ อันมรรคเบื้องบน ๓ พึงละก็ไม่มี เพราะความที่ทิฏฐิ ๖๒ อันมรรคที่หนึ่งเท่านั้นละได้แล้ว ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ ในมรรคเบื้องบน ๓ นั้นย่อมมีอย่างไร.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 646

ตอบว่า พิษงูมีอยู่ก็ตาม ไม่มีอยู่ก็ตาม งูท่านก็เรียกว่างูนั่นแหละฉันใด มิจฉาทิฏฐิมีอยู่ก็ตามไม่มีอยู่ก็ตาม สัมมาทิฏฐิ นี้ก็ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ ฉันนั้นเหมือนกัน.

ถามว่า ผิว่าคําว่า มิจฉาทิฏฐิอย่างนี้ก็เป็นเพียงชื่อเท่านั้น แต่สัมมาทิฏฐิไม่มีกิจมีอยู่ใน ๓ มรรคเบื้องบน องค์มรรคก็ไม่บริบูรณ์ (๑) เพราะฉะนั้นสัมมาทิฏฐิ จึงควรมีกิจที่ต้องกระทํา องค์มรรค จึงจะบริบูรณ์ มิใช่หรือ.

ตอบว่า ก็สัมมาทิฏฐิมีกิจในสามมรรคเบื้องบนนี้ พึงแสดงโดยกําหนดตามที่ได้ ความจริง ยังมีมานะอีกหนึ่งที่มรรคเบื้องบน ๓ พึงฆ่า มานะนั้นย่อมตั้งอยู่ในฐานะแห่งทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั้นชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า ย่อมละมานะนั้น.

ก็สัมมาทิฏฐิในโสดาปัตติมรรคย่อมละมิจฉาทิฏฐิ แต่มานะที่สกทาคามิมรรคพึงฆ่ามีอยู่แก่พระโสดาบัน สัมมาทิฏฐิของพระสกทาคามีนั้นชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า ย่อมละมานะนั้น. สังกัปปะที่เกิดขึ้นพร้อมกับอกุศลจิต ๗ ดวง (๒) ก็ยังมีอยู่แก่พระโสดาบันนั้นนั่นแหละ การเคลื่อนไหวองค์แห่งวาจาก็มีอยู่ด้วยอกุศลจิตเหล่านั้นแหละ การเคลื่อนไหวองค์แห่งกายก็มีอยู่ด้วยอกุศลจิตเหล่านั้นแหละ การบริโภคปัจจัย (มีจีวรเป็นต้น) ก็มีอยู่ ความเพียรที่เกิดพร้อมกันก็มีอยู่ ความไม่มีสติก็มีอยู่ เอกัคคตาแห่งจิตที่เกิดพร้อมกันก็มีอยู่ ทั้งหมดเหล่านั้น ชื่อว่า มิจฉาสังกัปปะเป็นต้น. สังกัปปะเป็นต้นในสกทาคามิมรรค พึงทราบว่า สัมมาสังกัปปะเป็นต้น เพราะละมิจฉาสังกัปปะ


(๑) ตรงนี้บาลีไทยเป็น มคฺคงคานิ ปน ปริปูเรนฺติ พม่าเป็น มคคงฺคานิ น ปริปูเรนฺติ

(๒) อกุศลจิต ๗ คือ โทสมูลจิต ๒ ดวง โลภมูลจิตที่เป็นวิปปยุต ๔ ดวง โมหมูลจิตสัมปยุตด้วยอุทธัจจะ ๑ ดวง


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 647

เป็นต้นเหล่านั้น. องค์มรรค ๘ ในสกทาคามิมรรคมาทํากิจของตน ด้วยประการฉะนี้.

มานะของพระสกทาคามีที่พึงฆ่าด้วยอนาคามิมรรคยังมีอยู่ มานะนั้นย่อมตั้งอยู่ในฐานะแห่งทิฏฐิ สังกัปปะเป็นต้นที่เกิดพร้อมกับอกุศลจิต ๗ ดวงก็ยังมีอยู่แก่พระสกทาคามีนั้นนั่นแหละ พึงทราบความที่องค์มรรค ๘ ในอนาคามิมรรคกระทํากิจของตน ด้วยการละมิจฉาสังกัปปะเป็นต้นเหล่านั้น. มานะของพระอนาคามีที่พึ่งฆ่าด้วยอรหัตตมรรคมีอยู่มานะนั้นย่อมตั้งอยู่ในฐานะแห่งทิฏฐิ. อนึ่งอกุศลจิต ๕ ดวง (๑) เหล่าใด มีอยู่แก่พระอนาคามีนั้น มิจฉาสังกัปปะเป็นต้นที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเหล่านั้น ยังมีอยู่ พึงทราบความที่องค์มรรค ๘ ในอรหัตตมรรค ทํากิจด้วยการละมิจฉาสังกัปปะเป็นต้นเหล่านั้น.

ถามว่า บรรดามรรคทั้ง ๔ เหล่านี้ ปฐมมรรคเห็นสัจจะทั้ง ๔ มรรคสามเบื้องบนย่อมเห็นสัจจะที่ปฐมมรรคเห็นแล้วนั่นแหละ หรือย่อมไม่เห็นสัจจะที่ปฐมมรรคไม่เห็นแล้วหรือ?

ตอบว่า ถ้อยคําที่เหมือนกันของพวกอาจารย์นี้ว่า มรรคสามเบื้องบนย่อมเห็นสัจจะที่ปฐมมรรคเห็นแล้วนั่นแหละดังนี้.

แต่อาจารย์วิตัณฑวาทีกล่าวว่า มรรคสามเบื้องบนย่อมเห็นสัจจะที่ปฐมมรรคมิได้เห็นดังนี้. พึงโต้อาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นว่าอินทรีย์ในปฐมมรรคเป็นไฉน จงแจงมา ดังนี้ เมื่ออาจารย์วิตัณฑวาที่รู้อยู่ก็จักกล่าวว่า อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ดังนี้ แม้ท้วงว่า ในมรรคเบื้องบนเป็นอินทรีย์ไหน ดังนี้ก็ย่อมบอกว่า อัญญินทรีย์. พึงกล่าวกะท่านวิตัณฑวาทีอีกว่า เมื่อการเห็น


(๑) ๕ ดวง คือ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิวิปปยุต ๔ ดวง โมหมูลจิตที่สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ ๑ ดวง


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 648

สัจจะที่ปฐมมรรคไม่เห็นมีอยู่ ก็จงแจกอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ แม้ในมรรคเบื้องบน ดังนี้ ด้วยอาการอย่างนี้ ปัญหาของท่านก็จักสงบ.

ถามว่า ก็มรรคอย่างหนึ่งย่อมละกิเลสอย่างหนึ่ง คือย่อมละกิเลสที่ยังไม่ได้ละ มิใช่หรือ?

ตอบว่า ผิว่า มรรคอย่างหนึ่งย่อมละกิเลสดังนี้ มรรคอย่างหนึ่งก็ย่อมละกิเลสอย่างหนึ่ง ที่ยังมิได้ละไซร้ บุคคลก็พึงมีวาทะอย่างนี้ว่า มรรคสามเบื้องบนย่อมเห็นแม้สัจจะทั้งหลายที่ปฐมรรคมิได้เห็นแล้วนั่นแหละ ดังนี้พึงถามคํานี้ว่า ชื่อว่า สัจจะทั้งหลาย มีเท่าไร? เมื่อทราบก็จักตอบว่ามี ๔ พึงท้วงท่านว่า ในวาทะของท่าน สัจจะปรากฏถึง ๑๖ อย่าง ท่านย่อมเห็นสัจจะแม้พระพุทธเจ้าไม่ทรงเห็นแล้ว ชื่อว่า มีสัจจะมาก ท่านอย่าถือเอาอย่างนี้เลย การเห็นสัจจะที่ยังไม่เคยเห็นย่อมไม่มี แต่มรรคย่อมละกิเลสทั้งหลายที่ยังมิได้ละ ดังนี้.

การอุปมาด้วยหีบรัตนะ

ในข้อที่ว่า การเห็นสัจจะที่ไม่เคยเห็นมาก่อนไม่มีในอธิการแห่งมรรคนั้น ท่านถือเอาการเปรียบเทียบด้วยหีบรัตนะดังต่อไปนี้.

ได้ยินว่า บุรุษคนหนึ่งวางหีบรัตนะ ๔ ใบไว้ในห้องอันเป็นที่เก็บรัตนะอันสูงสุด เขามีหน้าที่ทําเกิดขึ้นในหีบ ในเวลากลางคืนจึงเปิดประตูจุดประทีปให้โพลง เมื่อความมืดถูกประทีปขจัดแล้ว หีบทั้งหลายก็ปรากฏ เขาทําธุระในหีบนั้นแล้วปิดประตูออกไป ความมืดก็ปกคลุมตามเดิม แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓ ก็ได้กระทําเหมือนอย่างนั้น ในครั้งที่ ๔ เมื่อเขาจะทดลองดูว่า เมื่อเปิดประตูแล้ว หีบรัตนะจะปรากฏในความมืดหรือไม่นั่นแหละ พระอาทิตย์


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 649

ก็โผล่ขึ้น เมื่อความมืดถูกแสงพระอาทิตย์ขจัดแล้ว เขาก็ทําธุระในหีบทั้งหลายเสร็จแล้วออกไป.

    ในบรรดาคําเหล่านั้น สัจจะ ๔ เปรียบเหมือนหีบรัตนะ ๔ ใบ. เวลาที่วิปัสสนามุ่งไปสู่โสดาปัตติมรรคเปรียบเหมือนเวลาที่บุรุษนั้นมีกิจเกิดขึ้นในหีบรัตนะแล้วเปิดประตู. ความมืดอันปกปิดสัจจะ เปรียบเหมือนความมืดของราตรี. แสงสว่างแห่งโสดาปัตติมรรค เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งประทีป.ความที่สัจจะทั้งหลายปรากฏแก่มรรคญาณ เปรียบเหมือนความที่หีบรัตนะทั้งหลายปรากฏแก่บุรุษนั้นในเพราะความมืดถูกขจัดไป. ก็สัจจะทั้งหลายที่ปรากฏแก่มรรคญาณย่อมปรากฏแก่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคนั่นแหละ. เวลาที่โสดาปัตติมรรคละกิเลสที่ตนควรละแล้วดับไป เปรียบเหมือนเวลาที่บุรุษนั้นทําธุระในหีบรัตนะทั้งหลายแล้วไป. ความมืดอันปกปิดสัจจะที่พึงฆ่าด้วยมรรคสามเบื้องบน เปรียบเหมือนความมืดที่ครอบงําต่อไป.

    เวลาที่วิปัสสนามุ่งไปสู่สกทาคามิมรรค เปรียบเหมือนเวลาที่บุรุษนั้นเปิดประตูในครั้งที่สอง. แสงสว่างแห่งสกทาคามิมรรค เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งประทีป เวลาที่สกทาคามิมรรคละกิเลสที่ตนพึงละแล้วดับไป เปรียบเหมือนเวลาที่บุรุษนั้นทําธุระในหีบรัตนะทั้งหลายเสร็จแล้วไป ความมืดที่ปกปิดสัจจะที่มรรคสองเบื้องบนพึงฆ่า เปรียบเหมือนความมืดที่ครอบงําต่อไป.

    เวลาที่วิปัสสนามุ่งไปสู่อนาคามิมรรค เปรียบเหมือนเวลาที่บุรุษนั้นเปิดประตูในครั้งที่สาม. แสงสว่างแห่งอนาคามิมรรค เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งประทีป. เวลาที่สกทาคามิมรรคละกิเลสที่ตนพึงละแล้วดับไป เปรียบเหมือนบุรุษทําธุระในหีบทั้งหลายเสร็จแล้วไป ความมืดที่ปกปิดสัจจะที่อรหัตตมรรคเบื้องบนพึงฆ่า เปรียบเหมือนความมืดท่วมทับอีก.


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 650

    เวลาที่วิปัสสนามุ่งไปสู่อรหัตตมรรค เปรียบเหมือนเวลาที่บุรุษเปิดประตูในครั้งที่ ๔. การเกิดขึ้นแห่งอรหัตตมรรค เปรียบเหมือนการขึ้นไปแห่งพระอาทิตย์. การกําจัดความมืดอันปกปิดสัจจะแห่งอรหัตตมรรคเปรียบเหมือนการกําจัดความมืด. ความที่สัจจะทั้ง ๔ ปรากฏแก่อรหัตตมรรคญาณ เปรียบเหมือนความที่หีบรัตนะทั้งหลายปรากฏแก่บุรุษนั้น ในเพราะความมืดถูกขจัดไป. ก็สัจจะทั้งหลายปรากฏแก่ญาณ ย่อมปรากฏแก่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคนั่นแหละ การที่อรหัตตมรรคยังกิเลสทั้งหมดให้สิ้นไป เปรียบเหมือนเวลาที่บุรุษทํากิจในหีบรัตนะทั้งหลายเสร็จแล้วไป. ความไม่มีความมืดปกปิดสัจจะอีกจําเดิมแต่เวลาเกิดขึ้นแห่งอรหัตตมรรค เปรียบเหมือนเวลาที่แสงสว่างนั่นแหละเป็นไปจําเดิมแต่การโผล่ขึ้นแห่งดวงอาทิตย์ฉะนั้น. นี้เป็นคําอุปมาในความไม่มีการเห็นสัจจะที่ยังไม่เคยเห็นเพียงเท่านี้.

    ในข้อว่า ก็มรรคสามเบื้องบนย่อมเห็นสัจจะอันปฐมมรรคเห็นแล้วนั่นแหละ แต่ว่ามรรคอย่างอื่นย่อมละกิเลสอื่นๆ นี้ ท่านถือเอาชื่ออุปมาด้วยน้ำด่างต่อไป

    บุรุษคนหนึ่ง ได้มอบผ้าที่สกปรกแก่ช่างย้อม ช่างย้อมก็แช่ในน้ำด่าง๓ ชนิด คือ น้ำด่างเกลือ น้ำด่างขี้เถ้า น้ำด่างโคมัย เขารู้ว่าน้ำด่างกัดสิ่งสกปรกแล้วก็เทน้ำทิ้งชักชําระมลทินหยาบๆ แต่นั้นเขาก็รู้ว่าผ้ายังไม่สะอาดพอ จึงแช่ในน้ำด่างเหมือนอย่างนั่นแหละในครั้งที่ ๒ แล้วเทน้ำทิ้งซักล้างมลทินที่ละเอียดกว่านั้น แต่นั้นเขาก็รู้ว่ายังไม่สะอาดพอจึงแช่ในน้ำด่างเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ในครั้งที่ ๓ เทน้ำทิ้งแล้วซักล้างมลทินที่ละเอียดกว่านั้น แต่นั้นก็รู้ว่า ผ้ายังไม่สะอาดพอ จึงแช่ในน้ำด่างเหล่านั้น แม้ครั้งที่ ๔ เทน้ำทิ้งแล้ว


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 651

ซักล้างมลทินมิให้มีเหลือแม้เป็นไปในเส้นด้ายแล้วจึงมอบให้แก่เจ้าของ เจ้าของนั้นก็พับเก็บไว้ในหีบอบกลิ่นย่อมนุ่งห่มในเวลาที่ตนปรารถนาแล้วๆ.

บรรดาคําเหล่านั้น จิตที่เป็นไปตามกิเลส เปรียบเหมือนผ้าที่เปื้อนแล้วเวลาที่เป็นไปแห่งการทําอนุปัสสนาทั้ง ๓ เปรียบเหมือนการแช่ด้วยน้ำด่าง ๓ ชนิดการยังกิเลส ๕ อย่าง (๑) ให้สิ้นไปด้วยโสดาปัตติมรรค เปรียบเหมือนการเทน้ำทิ้งแล้วซักล้างมลทินหยาบๆ การรู้ว่า จิตนี้ยังไม่บริสุทธิ์พอ แล้วยังการงานให้เป็นไปในอนุปัสสนา ๓ เหล่านั้นนั่นแหละ เปรียบเหมือนการแช่น้ำด่างเหล่านั้น แม้ครั้งที่ ๒. การยังสังโยชน์อย่างหยาบ ๒ อย่างให้สิ้นไปด้วยสกทาคามิมรรค เปรียบเหมือนการซักล้างมลทินที่ละเอียดกว่านั้น การที่เขาคิดว่าจิตนี้บริสุทธิ์ไม่พอ แล้วยังการกระทําการงานให้เป็นไปในอนุปัสสนา ๓ เหล่านั้นนั่นแหละ เปรียบเหมือนเขาคิดว่า ผ้านี้สะอาดไม่พอแล้วจึงใส่น้ำด่าง ๓ อย่างให้กัดอีก. การยังสังโยชน์อย่างละเอียด ๒ อย่าง ให้สิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค เปรียบเหมือนซักล้างมลทินผ้าที่ละเอียดกว่านั้น. การที่รู้ว่า จิตนั้นยังสะอาดไม่พอแล้วการงานให้เป็นไปในอนุปัสสนา ๓ เหล่านั้นแหละให้เป็นไป เปรียบเหมือนช่างย้อมรู้ว่าผ้านี้ยังสะอาดไม่พอ จึงใส่แช่ในน้ำด่าง ๓ อย่างอีก. การที่จิตของพระขีณาสพบริสุทธิ์เพราะกิเลส ๘ อย่างอันอรหัตตมรรคให้สิ้นไปแล้ว ยับยั้งอยู่ด้วยวิหารธรรม คือ ผลสมาบัติในขณะที่ปรารถนาแล้วๆ เปรียบเหมือนการนุ่งห่มผ้าที่บริสุทธิ์ เพราะซักฟอกมลทินที่อยู่ภายในเส้นด้ายออกไป ด้วยการซักล้างจากผ้านี้ เช่นกับแผ่นเงิน ที่เก็บไว้ในผอบหอม ในขณะที่ตนปรารถนาแล้วๆ ฉะนั้น. นี้เป็นการอุปมาในข้อว่า มรรคอย่างอื่นย่อมละกิเลสอย่างอื่นๆ ดังนี้.


(๑) กุศลจิต คือ โลภมูลที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุต ๔ และโมหมูลจิตที่สัมปยุตด้วยวิจิกิจฉา


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 652

ข้อนี้ สมด้วยคําที่ท่านพระเขมกะกล่าวไว้ว่า (๑)

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ผ้าสกปรกเปื้อนมลทิน เจ้าของทั้งหลายพึงมอบผ้านี้นั้นแก่ช่างซักฟอก ช่างซักฟอกผู้ฉลาดขยี้ผ้านั้น แช่ในน้ำด่างเกลือ ในน้ำด่างขี้เถ้า หรือในน้ำด่างโคมัยแล้วเอาซักในน้ำสะอาด ผ้านั้นย่อมเป็นของสะอาดผ่องใสแม้ก็จริง แต่ผ้านั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างเกลือ กลิ่นน้ำด่างขี้เถ้าหรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด ช่างซักฟอกมอบผ้านั้นให้แก่เจ้าของทั้งหลาย เจ้าของทั้งหลายเก็บผ้านั้นใส่ไว้ในหีบอบกลิ่น แม้ผ้านั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างเกลือน้ำด่างขี้เถ้า หรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด แม้กลิ่นนั้นย่อมหายไป ฉันใด ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย สังโยชน์เบื้องต่ํา ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีไม่ได้ สมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่ารูป อย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปอย่างนี้ ความดับแห่งรูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ ฯลฯ สัญญาอย่างนี้ ฯลฯ สังขารอย่างนี้ ฯลฯ วิญญาณอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณ ดังนี้ เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้น ย่อมถึงการถอนขึ้น ฉันนั้นเหมือนกัน.

บรรดามรรคเหล่านั้น โสดาปัตติมรรคย่อมละอกุศลจิต ๕ ดวงพร้อมกับบาปธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอํานาจองค์ของจิต. โทมนัสสสหคตจิต ๒ ดวงพร้อมกับบาปธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอํานาจองค์จิต ย่อมบรรเทาด้วยสกทาคามิมรรค. โทมนัสสสหคตจิต ๒ ดวงเหล่านั้นนั่นแหละ พร้อมกับสัมปยุตธรรม ย่อมละด้วยอนาคามิมรรค. อกุศลจิต ๕ ดวงพร้อมกับบาปธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอํานาจ


(๑) สํ ขนฺธวารวคฺคเล่ม ๑๗. ๒๒๙/๑๖๐


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 653

องค์จิต ย่อมละด้วยอรหัตตมรรค จําเดิมแต่กาลที่อกุศลจิต ๑๒ ดวงเหล่านี้ละได้แล้ว ชื่อว่า กิเลสที่ติดตามไปอีก ด้วยอํานาจองค์จิต ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพ.

    ในข้อที่กิเลสไม่ติดตามไปอีกนั้น มีอุปมา ดังนี้.

    ได้ยินว่า พระราชาผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง พระราชทานอารักขาปัจจันตชนบท แล้วเสวยความเป็นอิสริยยศในมหานครอยู่ ภายหลังปัจจันตะของพระองค์เกิดจลาจล สมัยนั้น มีพวกหัวหน้าโจร ๑๒ คน พร้อมกับบุรุษหลายพัน พากันไปปล้นแว่นแคว้น มหาอํามาตย์ผู้อยู่ปัจจันตประเทศส่งข่าวกราบทูลแด่พระราชาว่า ปัจจันตะเกิดจลาจล ดังนี้ พระราชาทรงส่งพระราชสาส์นไปว่า จงปราบให้หมด เราจักตอบแทนพวกท่าน อํามาตย์เหล่านั้นฆ่าหัวหน้าโจร ๕ คน กับบุรุษโจรหลายพันคนโดยการประหารครั้งแรกนั่นแหละ หัวหน้าโจร ๗ คน ที่เหลือพาบริวารของตนๆ เข้าไปยังภูเขา. พวกอํามาตย์ก็ส่งข่าวกราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระราชา พระราชาจึงทรงส่งพระราชทรัพย์ไป ด้วยพระราชสาส์นว่า เราจักรู้สิ่งที่ควรทําแก่พวกท่าน พวกท่านจงปราบโจรแม้ที่เหลือเหล่านั้น พวกอํามาตย์เหล่านั้นก็ประหารหัวหน้าโจร ๒ คน โดยการประหารครั้งที่ ๒ ได้กระทําแม้บริวารของพวกโจรเหล่านั้นให้ทุรพล พวกโจรเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ก็พากันหนีไปยังภูเขา พวกมหาอํามาตย์ส่งข่าวสาส์นความเป็นแม้นั้นไปกราบทูลพระราชาพระราชาทรงส่งพระราชทรัพย์ ด้วยพระราชสาส์นว่า พวกท่านจงปราบพวกโจรให้สิ้น พวกอํามาตย์เหล่านั้นฆ่าหัวหน้าโจร ๒ คน พร้อมกับบุรุษสหายโจรโดยการประหารครั้งที่ ๓ แล้วส่งข่าวสาสน์กราบทูลแด่พระราชา พระราชาก็ส่งพระราชทรัพย์ พร้อมด้วยพระราชสาส์นว่า พวกท่านจงปราบโจรอย่าให้เหลือ


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 654

พวกอํามาตย์เหล่านั้น ก็ฆ่าหัวหน้าโจร ๕ คน พร้อมกับบริวารโจรโดยการประหารครั้งที่ ๔ จําเดิมแต่พวกหัวหน้าโจร ๑๒ คน ถูกฆ่าตายแล้ว ชื่อว่าโจรไรๆ มิได้มี. ชนบทถึงความเกษม ย่อมอยู่ดุจให้บุตรฟ้อนรําบนอกฉะนั้น. พระราชาทรงแวดล้อมด้วยโยธาผู้พิชิตสงคราม เสด็จขึ้นสู่ปราสาทอันประเสริฐ เสวยมหาสมบัติ.

ในคําเหล่านั้น พระธรรมราชา เปรียบเหมือนพระราชาผู้ใหญ่ กุลบุตรผู้โยคาวจร เปรียบเหมือนอํามาตย์ผู้อยู่ปัจจันตชนบท. อกุศลจิต ๑๒ ดวง (๑) เปรียบเหมือนหัวหน้าโจร ๑๒ คน. บาปธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอํานาจองค์จิตเปรียบเหมือนบุรุษสหายหลายพันของหัวหน้าโจรเหล่านั้น. เวลาที่กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นในอารมณ์แล้วกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ ดังนี้ เปรียบเหมือนเวลาอํามาตย์ส่งข่าวสาส์นกราบทูลพระราชาว่า ปัจจันตะเกิดจลาจล. การที่พระธรรมราชาตรัสบอกกรรมฐานว่า ภิกษุ เธอจงข่มกิเลสเสียดังนี้ เปรียบเหมือนการพระราชทานทรัพย์ พร้อมกับพระราชสาส์นว่า พวกเธอจงปราบให้หมดดังนี้. การละอกุศลจิต ๕ ดวงพร้อมทั้งสัมปยุตด้วยโสดาปัตติมรรค เปรียบเหมือนเวลาที่อํามาตย์ฆ่าหัวหน้าโจร ๕ คนพร้อมทั้งบริวาร.

การกราบทูลคุณที่ตนได้แล้ว แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรียบเหมือนการส่งข่าวถวายพระราชา. การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกวิปัสสนาแห่งสกทาคามิมรรค เปรียบเหมือนการพระราชทานทรัพย์อีก พร้อมกับพระดํารัสว่าจงปราบพวกโจรที่เหลือ. การบรรเทาโทมนัสจิต ๒ ดวงพร้อมด้วยสัมปยุตธรรมด้วยสกทาคามิมรรค เปรียบเหมือนการกระทําหัวหน้าโจร ๒ คน พร้อมทั้งบริวารให้ทุพพลภาพด้วยการประหารครั้งที่ ๒.


(๑) เป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง


ความคิดเห็น 15    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ธ.ค. 2564

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 655

    การกราบทูลคุณที่ตนได้แด่พระศาสดา เปรียบเหมือนการส่งข่าวถวายพระราชาให้ทรงทราบความเป็นไปอีก. การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกวิปัสสนาแห่งอนาคามิมรรค เปรียบเหมือนการพระราชทานทรัพย์อีกพร้อมกับข่าวสาส์นว่า จงปราบโจรให้หมดสิ้น. การละโทมนัสจิต ๒ ดวง พร้อมทั้งสัมปยุตธรรมด้วยอนาคามิมรรค เปรียบเหมือนการฆ่าหัวหน้าโจร ๒ คนพร้อมทั้งบริวาร ด้วยการประหารครั้งที่ ๓.

    การกราบทูลคุณที่ตนได้แล้วแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า เปรียบเหมือนการส่งข่าวถวายพระราชาให้ทรงทราบอีก. การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกวิปัสสนาแห่งอรหัตตมรรค เปรียบเหมือนการพระราชทานทรัพย์อีก พร้อมคําดํารัสไปว่า จงปราบโจรให้สิ้น. ความไม่มีอกุศลธรรมอันเกิดขึ้นด้วยอํานาจองค์จิตอีก จําเดิมแต่อกุศลจิต ๑๒ ดวง ในเพราะอกุศลจิต ๕ ดวงพร้อมด้วยสัมปยุตธรรมอันอรหัตตมรรคละแล้ว เปรียบเหมือนเวลาที่ชนบทเป็นแดนเกษมจําเดิมแต่กาลที่อํามาตย์ฆ่าหัวหน้าโจร ๕ คน พร้อมด้วยบริวาร ด้วยการประหารครั้งที่ ๔ พึงทราบการเสวยสุขด้วยผลสมาบัติตามที่พระโยคาวจรปรารถนาแล้ว ในสุขทั้งหลายมีสมาบัติอันต่างด้วยสุญญตะ อนิมิตตะ อัปปณิหิตะ ของพระธรรมราชาผู้มีพระขีณาสพแวดล้อมแล้ว เปรียบเหมือนการเสวยมหาสมบัติ ของพระราชาผู้พิชิตสงคราม ผู้แวดล้อมด้วยอํามาตย์บนประสาทอันประเสริฐ ฉะนั้นแล.

    พรรณนาบทว่าธรรมเป็นกุศลจบเพียงนี้