ขอถามแนวการปฏิบัติ การศึกษา ความเข้าใจ
โดย ปัจจุบันธรรม  27 ก.พ. 2549
หัวข้อหมายเลข 855

ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์ ดังนี้ครับ

1. ทำอย่างไร จึงมีสติ ปัญญา มีกุศลจิต อยู่ตลอดเวลา เพราะในความเป็นจริง มักมีบ้างไม่มีบ้างถ้าเช่นนั้นการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน น่าจะไม่สะดวก หากมีที่สัปปายะ หรือที่สงบ สะดวกสบายต่อการปฏิบัติ จะดีกว่าหรือไม่ หรืออยู่ที่ปัญญาแต่ละบุคคลมากกว่า หากเป็นเช่นนั้นทำอย่างไรจึงมีปัญญา และมีปัญญามากน้อยแค่ไหน จึงจะสามารถปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริงที่ถูกต้องได้

2. ในการปฏิบัตินั้น จริงอยู่เวลา และสถานที่อาจไม่ใช่ตัววัด ตัววัดที่ควรใส่ใจมากกว่าคือ จิตขณะนั้นเป็นกุศลไหม เป็นบ่อยไหม หรืออกุศลมีมากกว่า และดูว่ามีสภาวธรรมเกิดขึ้นไหม ได้ยินมาดังนี้ จึงอยากขอเรียนถามเพิ่มว่า ทำอย่างไรจึงมีกุศลจิตอยู่เนืองๆ บ่อยๆ และที่ว่าดูการปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร ดูที่สภาวะที่เกิด สภาวธรรมที่เกิดนี้มีลักษณะอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในการดำเนินชีวิตก็ดี ในการปลีกวิเวกไปหาที่สัปปายะอยู่เป็นระยะบ้างเพื่อปฏิบัติธรรมนั้นก็ดี เราจะรู้สภาวะได้อย่างไร หรือเราจะรู้ได้ด้วยตัวเองเท่านั้นบอกกล่าวกันไม่ได้เพราะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามแต่วาสนาแต่ละบุคคล

3. ควรหมั่นศึกษาฟังบรรยายธรรม จนมีความเข้าใจ จนเกิดปัญญา รู้ธรรมะตามความเป็นจริงก่อน แล้วนำฐานความรู้ความเข้าใจในไปพิจารณายามต้องประสบสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนในแต่ละวัน คือ ค่อยปฏิบัติไปจากสิ่งที่เข้ามากระทบในแต่ละวัน โดยพยายามมีสติใส่ใจ รู้อารมณ์ จิตใจตัวเอง ว่าเป็นอย่างไร ตามความเป็นจริงที่ปรากฏ ในเวลานั้น และใช้ความรู้ความเข้าใจในธรรมเป็นฐาน ทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น แบบนี้คือ การปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ ในชีวิตประจำวันใช่หรือไม่ จะสามารถบรรลุเข้าถึงสภาวธรรม หรือไม่ และถือว่าเป็นการปฏิบัติบูชาได้หรือไม่

4. ขอให้ช่วยอธิบายเรื่อง การปฏิบัติบูชา คือเป็นอย่างไร ทำอย่างไร เรียกว่าปฏิบัติบูชา การไปบวชชีพราหมณ์ ถือศีลแปด ตามวัดที่ทำกันอยู่นี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติบูชาหรือไม่

5. การปฏิบัติกันทุกวันนี้ที่ให้กำหนดบัญญัติไปก่อน เช่น พุทโธ พอง ยุบ นั้น ถือเป็นการปฏิบัติเบื้องต้นไปก่อนใช่หรือไม่ หรือไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง เพราะผู้ปฏิบัติยังไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าทำทำไม เพื่ออะไร จริงๆ แล้วควรต้องศึกษาให้เข้าใจธรรมะก่อนใช่หรือไม่และการปฏิบัติธรรม ในความหมายที่ถูกต้องคืออย่างไร อย่างไรจึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรม

6. จำเป็นหรือไม่ที่เราควรต้องศึกษาอภิธรรม หากต้องการบรรลุธรรม อย่างน้อยโสดาบันบุคคลเป็นที่หวัง บางท่านบอกว่า แค่ถือศีลห้า หมั่นทำจิตให้เป็นกุศลบ่อยๆ ก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง เรามักมีอกุศลเข้ามาบ่อยมากกว่ากุศลเพราะเหมือนว่าเราไม่สามารถมีสติ ระวังจิตได้ตลอดเวลา

7. จะศึกษาธรรมะอย่างไรให้เข้าถึงมีปัญญามากที่สุด สำหรับการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่นั้น เคยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์บางท่านว่า หากมีโอกาส ควรศึกษาจากพระไตรปิฎกฉบันที่ 14 และ 17 ให้มาก อ่านให้เข้าใจสัก 9 เที่ยว จะทำให้เข้าใจถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน อยากเรียนถามว่า หากต้องการศึกษาธรรมะให้มีความเข้าใจ และให้เกิดปัญญามาก ควรศึกษาอะไรบ้าง และศึกษาอย่างไร จึงได้มรรค ได้ผล สมบูรณ์ที่สุด เช่น อาจต้องศึกษา อภิธรรมศึกษาพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 และ 17 อาจต้องศึกษาวิสุทธิมรรค เป็นต้น สิ่งที่อยากทราบคือจะศึกษาอย่างไรให้ได้มรรคได้ผลมากที่สุด



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 27 ก.พ. 2549

ผู้ที่มีสติปัญญาอยู่ตลอดเวลาไม่มี แม้พระอรหันต์ท่านยังมีมหากิริยาญาณวิปยุต คือ บางครั้งจิตของท่านก็ไม่มีปัญญา แต่พระอรหันต์ได้ชื่อว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสติ ฉะนั้น บุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ย่อมมีการหลงลืมสติเป็นอกุศลเป็นธรรมดา แต่ค่อยๆ รู้ตามความเป็นจริงมากขึ้นจะละอกุศลทั้งหมดได้ เมื่ออรหัตตมรรคเกิดจึงประหานกิเลสทั้งหมดได้ และการเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวันอยู่ที่ความเข้าใจมากกว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจเพียงพอ สติก็ไม่เกิดถึงแม้จะอยู่ในสัปปายะ ถ้าเรามัวไปรอหรือแสวงหาสถานที่ ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท ควรอบรมทันทีไม่ต้องรอ


ความคิดเห็น 2    โดย namarupa  วันที่ 27 ก.พ. 2549

ดิฉันขออนุญาตแสดงความคิดเห็นกับคุณปัจจุบันธรรม สักเล็กน้อยนะคะสังเกตจากคำถามของคุณในหัวข้อต่างๆ เหล่านี้ อาทิ :

ควรศึกษาอะไรบ้าง และศึกษาอย่างไร จึงได้มรร

ทำอย่างไรจึงมีกุศลจิตอยู่เนืองๆ บ่อยๆ

จะศึกษาธรรมะอย่างไรให้เข้าถึงมีปัญญามากที่สุด

สิ่งที่อยากทราบคือจะศึกษาอย่างไรให้ได้มรรคได้ผลมากที่สุด

หากต้องการศึกษาธรรมะให้มีความเข้าใจ และให้เกิดปัญญามาก....

ควรศึกษาอะไรบ้าง และศึกษาอย่างไร จึงได้มรรค ได้ผล สมบูรณ์ที่สุด

เป็นต้นนั้น…..

เมื่อเหตุไม่สมควรแก่ผล แล้วผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในความคิดของดิฉันถ้าหากว่า เรามีแต่ ความต้องการ ใคร่ที่จะรู้เพียงอย่างเดียว โดยที่เรายังไม่มีแม้แต่ความเข้าใจขั้นพื้นฐานนั้น ยากที่เราจะก้าวไปสู่ความเข้าใจในระดับต่อไปได้ เริ่มต้นตั้งแต่คำว่า "ธรรม" นั้นคืออะไร และที่เรียกว่าธรรมนั้นคืออะไรบ้าง? การค่อยๆ ทำความเข้าใจในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังหรือการอ่านต่างๆ แล้วค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ไม่รีบร้อนที่จะเอาผล ไม่ก้าวกระโดด ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นผู้ที่ประมาทในพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้าง "เหตุ" ที่ดีก่อน นั่นคือเราต้องเริ่มศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการฟังหรือการอ่าน เกี่ยวกับสิ่งที่มีจริง ที่สามารถพิสูจน์ได้ ฟังหรืออ่านให้ดี พิจารณาหาเหตุผลว่าเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร ไม่ควรคิดหรือตรึกเอาเอง หากยังไม่เข้าใจจริงๆ ก็จำเป็นต้องถามผู้ที่รู้และมีความเข้าใจจริงๆ แล้ว "ผล" ที่ดีที่ถูกจึงจะตามมาตามลำดับของความเข้าใจคือ "ปัญญา" นั่นเองค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย study  วันที่ 28 ก.พ. 2549

การปฏิบัติบูชา คือ ไม่ใช่เพียงแค่บูชาด้วยดอกไม้ของหอมและอามิสเท่านั้น แต่เป็นผู้เห็นประโยชน์ของกุศลทุกประการ เช่นการศึกษาพระธรรมคำสอนให้เข้าใจ การสำรวมกายวาใจไม่เบียดเบียนผู้อื่น รักษาอุโบสถศีลการเจริญเมตตา การระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นคนดีของครอบครัว เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี เป็นต้น ชื่อว่าปฏิบัติบูชา ถ้าเพียงไปบวชแต่ไม่เป็นคนดี มีความเห็นไม่ถูกต้อง อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติบูชา


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 9 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ