[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 510
ตติยปัณณาสก์
สัมโพธิวรรคที่ ๑
๑. ปุพพสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 510
ตติยปัณณาสก์
สัมโพธิวรรคที่ ๑
๑. ปุพพสูตร
ว่าด้วยเหตุให้ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้
[๕๔๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก่อนตรัสรู้ เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ยังไม่ได้อภิสัมโพธิญาณ ได้คิดคำนึงว่า ในโลก อะไรหนอเป็นอัสสาทะ (ความยินดี ความเพลิดเพลิน) อะไรหนอเป็นอาทีนพ (โทษที่ไม่น่ายินดี ความขมขื่น) อะไรหนอเป็นนิสสรณะ (ความออกไป ความไม่ติด) เราได้กำหนดเห็นว่า สุขโสมนัสอาศัยสิ่งใดในโลกเกิดขึ้น นี่เป็นอัสสาทะในโลก ความที่โลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี่เป็นอาทีนพในโลก การบำบัดเสียซึ่งฉันทราคะ การละเสียซึ่งฉันทราคะ (ความรักใคร่ พอใจ) ในโลก นี่เป็นนิสสรณะในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย เรายังมิได้รู้แจ้งซึ่งอัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะของโลกอย่างถูกต้องแท้จริงตราบใด เราก็ยังไม่ปฏิญญาว่า ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลกนี้ ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งที่เป็นเทวดาและมนุษย์ตราบนั้น เมื่อใดเรารู้แจ้งชัดซึ่งอัสสาทะ อาทีนพ และนิสสรณะของโลกถูกต้องตามเป็นจริงแล้ว เมื่อนั้นเราจึงปฏิญญาว่า ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลกนี้ ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในประชาชนรวมทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งที่เป็นเทวดาและมนุษย์
ก็แล ญาณทัสนะ (ความรู้เห็น) ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี.
จบปุพพสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 511
ตติยปัณณาสก์
สัมโพธิวรรควรรณนาที่ ๑
อรรถกถาปุพพสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในปุพพสูตรที่ ๑ แห่งปัณณาสก์ที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปุพฺเพว สมฺโพธา ได้แก่ ในกาลก่อนแต่ตรัสรู้ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ในเวลาอื่น (ก่อน) แต่พระอริยมรรคเกิดขึ้นนั่นเอง. บทว่า อนภิสมฺพุทฺธสฺส ได้แก่ ผู้ยังไม่แทงตลอดอริยสัจ ๔. บทว่า โพธิสตฺตสฺเสว สโต ความว่า เมื่อสัตว์ผู้ตรัสรู้นั่นแหละ คือ ผู้เริ่มเพื่อจะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณมีอยู่ หรือว่าผู้ข้องอยู่ในพระโพธิญาณมีอยู่. เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ของเรา) จำเดิมแต่มีอภินิหารสำเร็จแล้วด้วยการประมวลธรรม ๘ ประการ แทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ทีปังกร เป็นผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น เป็นผู้ติด คือ ข้องอยู่ในโพธิญาณ ทรงพระดำริว่า เราต้องบรรลุพระโพธิญาณนี้ แล้วไม่ทรงละความพยายามเพื่อบรรลุพระโพธิญาณนั่นแล เสด็จมาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า พระโพธิสัตว์.
บทว่า โก นุ โข คือ กตโม นุ โข แปลว่า อะไรหนอแล. สังขารโลก ชื่อว่า โลก. บทว่า อสฺสาโท ได้แก่ มีอาการชุ่มชื่น. บทว่า อาทีนโว ได้แก่ มีอาการไม่น่าสดชื่น. บทว่า ตสฺส มยฺหํ ความว่า เมื่อเรานั้น คือ ผู้ข้องอยู่ในพระโพธิญาณอย่างนี้ มีอยู่. บทว่า ฉนฺทราคปฏิวินโย ฉนฺทราคปฺปหานํ ความว่า เพราะว่าฉันทราคะถึงความปราศไป คือ ละได้ เพราะปรารภคืออาศัยพระนิพพาน เพราะฉะนั้น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 512
พระนิพพานท่านจึงเรียกว่า ฉนฺทราควินโย (นำฉันทราคะออกไป) ฉนฺทราคปฺปหานํ (ละฉันทราคะเสียได้). บทว่า อิทํ โลกนิสฺสรณํ ความว่า พระนิพพานนี้ ท่านเรียกว่า โลกนิสฺสรณํ (เป็นแดนแล่นออกไปจากโลก) เพราะสลัดออกไปแล้วจากโลก. บทว่า ยาวกีวํ ความว่า ตลอดกาลมีประมาณเท่าใด. บทว่า อพฺภญฺาสึ ความว่า ได้รู้แล้วด้วยอริยมรรคญาณอันประเสริฐยิ่ง. แม้ด้วยบททั้งสองนี้ว่า าณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงปัจจเวกขณญาณ. บทที่เหลือในพระสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาปุพพสูตรที่ ๑