ความนึกคิด เป็นวิบากหรือ เป็นชวนจิต
โดย khundong  26 ก.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21472

ขอถามท่าน วิทยากรและท่านอาจารย์ครับ

ว่า ตัวความคิดเป็นวิบากหรือเปล่าครับ หรือเป็นชวนจิต และเราสามารถเปลี่ยนความคิดได้หรือไม่ครับ (อนัตตา) ตัวความคิดนี่แหละที่ทำให้มีเรา มีจิตเกิดไม่มีที่สิ้นสุด

ส่วน อารมณ์ กับ เจตสิก คล้ายกันมากครับ ขอคำอธิบายเรื่องอารมณ์ ด้วยครับ

ผมมีปัญหาเรื่องไม่เข้าใจอารมณ์จริงๆ อารมณ์เป็นองค์ธรรมใดครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 27 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิบาก คือ จิต เจตสิกที่เป็นผลของกรรม คือ ในขณะที่เกิด คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิตและขณะที่ตาย คือ จุติจิต เป็นวิบากจิตที่เป็นผลของกรรม และในชีวิตประจำวัน ที่เป็นวิบาก คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรมที่เป็นวิบาก

ส่วน ความคิดไม่ใช่วิบาก ความคิด คือ ขณะที่เป็น กุศลจิต อกุศลจิต ซึ่งไม่ใช่วิบาก แต่ เป็นเหตุ เช่น ขณะที่คิดชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่วิบากที่เป็นผลของกรรม แต่เป็นจิตที่เป็นโลภะ ที่เป็นอกุศลจิตไม่ใช่วิบาก ขณะที่คิดเรื่องราวต่างๆ คิดด้วยกุศล อกุศล ไม่ใช่วิบาก ซึ่งความคิดที่เป็นกุศล อกุศล เกิดที่ชวนจิต ครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

เราสามารถเปลี่ยนความคิดได้หรือไม่ครับ (อนัตตา) ตัวความคิดนี่แหละที่ทำให้มีเรา มีจิตเกิดไม่มีที่สิ้นสุด

ไม่มีเรา มีแต่ธรรม เพราะฉะนั้น ตัวเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดให้เป็นดั่งใจได้ แต่ ความคิดเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ ตามสภาพธรรมที่สะสมมา ถ้าสะสมความเห็นถูกมา การคิดก็น้อมไปในทางที่ถูก หากสะสมความเห็นผิดมา ความคิดก็น้อมไปในทางที่ผิด ตามการสะสม และ ถ้าสะสมอกุศลมามาก ก็คิดไปในทางอกุศลมาก ซึ่งโดยมาก ปุถุชนก็เป็นอย่างนี้ คิดด้วยจิตที่เป็นอกุศล เป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น สำคัญคือ ไม่ใช่จะเปลี่ยนความคิด แต่เข้าใจความคิดที่เกิดขึ้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริง ที่ไม่ใช่เราคิด แต่เป็นแต่เพียงธรรม ครับ นี่คือ หนทางการอบรมปัญญาที่จะดับกิเลส เพราะ ขณะที่เข้าใจความคิด ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ก็เปลี่ยนความคิดแล้วในขณะนั้น เปลี่ยนจากความคิดที่ไม่เคยรู้ความจริง เป็นความคิดที่ถูกต้องรู้ความจริงในขณะนี้ ซึ่งก็ต้องอาศัยการอบรมปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม จึงจะถึงจุดนั้นได้ ครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

ส่วน อารมณ์ กับ เจตสิก คล้ายกันมากครับ ขอคำอธิบายเรื่องอารมณ์ ด้วยครับ ผมมีปัญหาเรื่องไม่เข้าใจอารมณ์จริงๆ อารมณ์เป็นองค์ธรรมใดครับ

อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่ถูกจิตรู้ ซึ่งสิ่งที่ถูกจิตรู้ มีทั้ง จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ ส่วน เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้น ซึ่ง เจตสิก มี ๕๒ ประเภท ดังนั้น เจตสิก เป็นอารมณ์ด้วย เป็นอารมณ์ของจิต เพราะ เจตสิก เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ได้ครับ เจตสิกจึงเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ ครับ เจตสิกเกิดขึ้นพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เกิดที่เดียวกับจิต

องค์ธรรมของอารมณ์ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และ บัญญัติ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 27 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คิด เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ในฐานะที่ยังเป็นผู้มีกิเลส ขณะที่คิด ย่อมเป็นกุศลบ้าง เป็นกุศลบ้าง ขึ้นอยู่กับการสะสมมาของแต่ละบุคคลจริงๆ ว่าจะเป็นจิตประเภทไหน เพราะเหตุว่าเวลาที่จิตเกิดนั้น ไม่ได้เกิดเพียงจิตเท่านั้น ยังมีจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) เกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นจิตที่ดี ก็มี ปรุงแต่งให้เป็นจิตที่ไม่ดี ก็มี

ดังนั้น การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นสิ่งที่ดี และ มีค่าต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อความรู้ความเข้าใจค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน, คิด ก็คิดดี เมื่อคิดดีแล้ว การกระทำทางกาย และทางวาจา ก็ย่อมจะดีด้วยเหมือนกัน ความเข้าใจพระธรรม จึงเกื้อกูลให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ป้องกันไม่ให้ไปทำอะไรด้วยความเห็นผิดหรือด้วยความไม่รู้ เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว

จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ (อารมณ์ เป็นสิ่งที่จิตรู้) จิตรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เช่น จิตเห็น รู้สี จิตได้ยิน รู้เสียง เป็นต้น ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น ย่อมรู้อารมณ์ ไม่มีจิตแม้แต่ขณะเดียวที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่รู้อารมณ์ และทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตเกิดร่วมด้วย ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ สภาพธรรมนั้นเรียกว่า เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ด้วย นี้คือ ความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 27 ก.ค. 2555

ความคิดเป็นชวนจิต เช่น คิดดี ทำดี พูดดี ก็ให้ผลดีในอนาคต ถ้าคิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี ก็ให้ผลที่ไม่ดีในอนาคตเช่นกัน ส่วนเจตสิกเป็นอารมณ์ก็ได้ ไม่เป็นอารมณ์ก็ได้ ถ้าจิต เจตสิกรู้เจตสิก ขณะนั้นก็มีเจตสิกเป็นอารมณ์ ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย khundong  วันที่ 27 ก.ค. 2555

ขอขอบพระคุณ และอนุโมทนาท่าน paderm และ ท่าน khampan.a

ผมเองก็พยามศึกษา ฟังธรรมอยู่เนืองๆ บางช่วงรู้สึกหนักมาก การศึกษาพยามให้ปล่อยวาง ละ แต่หนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะไปคาดหวังและมีภาษาบาลีมากมาย พอเริ่มที่จะไม่คาดหวัง ศึกษาแบบสบายๆ มันดีขึ้นมากครับ ยิ่งทราบว่าทุกๆ สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ เสี้ยววินาทีนี้ ขณะนี้ก็หายไปหมดสิ้นไม่กลับมาอีก จึงไม่มีอะไรที่เป็นของเรา ความไม่มีเราเริ่มปรากฏ แต่มาสงสัยเพิ่มเรื่องอารมณ์ อาจเป็นเพราะจริตของผมเองมี โมหะมากไม่ค่อยรู้อารมณ์ มันเบลอๆ งงๆ คือนิวรณ์ ๕ เกิดบ่อยเกินขนาด

ท่านอาจารย์ (ท่าน paderm, ท่านkhampan.a) เคยบอกว่าความนึกคิด เป็นนามธรรม ผมเข้าใจผิด ว่าเป็นรูปธรรมซะนานครับ เรื่องราวต่างๆ ที่คิดมันบดบังความจริงหมด เพราะเราคิดแต่บัญญัติ นิมิตต่างๆ จะไม่คิดก็ไม่ได้ หยุดคิดก็ไม่ได้ ทุกๆ เวลาเราจึงอยู่ในโลกของความคิดตลอดเวลา จิตจะไม่คิดก็เฉพาะตอนนอนหลับสนิท ขนาดหลับยังไม่หยุดที่จะคิดต่อ (ฝัน) การอบรมเจริญศึกษาให้เข้าใจถูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นคำตอบเดียวที่จะละความติดข้องของอกุศล กุศลได้ และก็ไม่ต้องไปคาดหวัง ว่าอีกกี่ชาติจะประจักษ์แจ้งเพิ่มขึ้น เพียงความรู้ขั้นอ่าน ฟัง ไม่สามารถประจักษ์แจ้งได้จริง เพียงแต่ให้สติเกิดระลึกเป็นเปอร์เซ็นต์มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ความคิดจึงเป็น ชาติกุศล ชาติอกุศล และชาติกิริยา ที่อยู่ในส่วนของชวนจิต ๗ ขณะ เป็นเหตุให้เกิดชาติวิบากในอนาคต แต่เจ้าตัวความนึกคิดนั้นไม่ใช่ชาติวิบาก

ฉะนั้น ถ้าความเข้าใจเราเพิ่มขึ้น เราสามารถหยุดเหตุเพื่อไม่ให้เกิดปัจจัยอะไรเกิดต่อในอนาคตโดยสะสมความรู้ความเข้าใจถูกตามที่ได้อบรมศึกษา

ฟังท่านอ.สุจินต์ บางตอนว่า ถ้ารักตนเองต้องไม่ทำร้ายตนเองโดยการสะสมกิเลส สะสมอกุศล และไม่มีวันจะทำร้ายผู้อื่นด้วย เมื่อเข้าใจแล้วควรศึกษา อบรมจนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น โดยให้ความหลงลืมสติที่มีมากในแต่ละวันให้ลดลง

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย munlita  วันที่ 10 ส.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ