•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
๑๑. ทสุตตรสูตร
(ว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งไปจนถึงสิบ)
...จาก...
[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๐๙
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๗ ม.ค. ๒๕๕๕)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร
[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๐๙
๑๑. ทสุตตรสูตร
(นำมาเพียงบางส่วนเท่านั้น)
[๓๖๔] ข้าพเจ้า สดับมาแล้วอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับอยู่ที่ฝั่งสระโปกขรณี ชื่อ คัดครา ใกล้เมืองจำปา. ณ ที่นั้นท่านพระสารบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายมา ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า [๓๖๕] เราจักกล่าวทสุตตรสูตร อันเป็นธรรมเพื่อ ปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เพื่อ บรรลุถึงพระนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์.
ว่าด้วยธรรมหมวด ๔
[๓๙๙] ธรรม ๔ อย่างมีอุปการะมาก ธรรม ๔ อย่างควรเจริญธรรม ๔ อย่างควรกำหนดรู้ ธรรม ๔ อย่างควรละ ธรรม ๔ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม. ธรรม ๔ อย่างเป็นไปในส่วนวิเศษ ธรรม ๔ อย่างแทงตลอดได้ยาก ธรรม ๔ อย่างควรให้เกิดขึ้น ธรรม ๔ อย่างควรรู้ยิ่ง ธรรม ๔ อย่างควรทำให้แจ้ง.
[๔๐๐] ธรรม ๔ อย่าง มีอุปการะมากเป็นไฉน? ได้แก่ จักร ๔ คือ การอยู่ในประเทศอันสมควร คบหาสัตบุรุษ ตั้งตนไว้ชอบ ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในกาลก่อน ธรรม ๔ อย่าง
เหล่านี้มีอุปการะมาก.
[๔๐๑] ธรรม ๔ อย่างควรเจริญเป็นไฉน? ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ คือ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณากายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ภิกษุพิจารณาเวทนา ... จิต ... พิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ควรเจริญ.
[๔๐๒] ธรรม ๔ อย่างควรกำหนดรู้เป็นไฉน? ได้แก่ อาหาร ๔ คือ กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว หยาบ ละเอียด ๑ ผัสสาหาร ๑ มโนสัญเจตนาหาร ๑ วิญญาณาหาร ๑ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ควรกำหนดรู้.
[๔๐๓] ธรรม ๔ อย่างควรละเป็นไฉน? ได้แก่ โอฆะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ควรละ.
[๔๐๔] ธรรม ๔ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นไฉน? ได้แก่โยคะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา. ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม.
[๔๐๕] ธรรม ๔ อย่างเป็นไปในส่วนวิเศษเป็นไฉน? ได้แก่ความพราก (ออกจากโยคะ) ๔ คือ พรากจากกาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ เป็นไปในส่วนวิเศษ.
[๔๐๖ ] ธรรม ๔ อย่างแทงตลอดได้ยากเป็นไฉน? ได้แก่ สมาธิ ๔ คือ สมาธิเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ๑ สมาธิเป็นไปในส่วนข้างดำรงอยู่ ๑ สมาธิเป็นไปในส่วนวิเศษ ๑ สมาธิเป็นไปในส่วนแทงตลอด ๑. ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ แทงตลอดได้ยาก.
[๔๐๗] ธรรม ๔ อย่างควรให้เกิดขึ้นเป็นไฉน? ได้แก่ ญาณ ๔ คือ ความรู้ในธรรม ๑ ความรู้ในการคล้อยตาม ๑ ความรู้ในการกำหนด ๑ ความรู้ในการสมมติ ๑. ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ควรให้เกิดขึ้น.
[๔๐๘] ธรรม ๔ อย่างควรรู้ยิ่งเป็นไฉน? ได้แก่ อริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกขอริยสัจจ์ ๑ ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์ ๑ ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์ ๑ ธรรม อย่างเหล่านี้ ควรรู้ยิ่ง.
[๔๐๙] ธรรม ๔ อย่างควรทำให้แจ้งเป็นไฉน? ได้แก่ สามัญญผล ๔ คือ โสดาปัตติผล ๑ สกทาคามิผล ๑ อนาคามิผล ๑ อรหัตตผล ๑ ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ จริงแท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาด ไม่เป็นอย่างอื่น พระตถาคต ทรงตรัสรู้ชอบแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ...
จบ ธรรมหมวด ๔
อรรถกถา ทสุตตรสูตร
[นำมาเพียงบางส่วน]
บทว่า ปฏิรูปเทสวาโส ความว่า บริษัท ๔ ย่อมปรากฏในที่ใด การอยู่ในประเทศอันสมควรเป็นปานนั้น ในที่นั้น.
บทว่า สปฺปุริสูปนิสฺสโย ความว่าการพึ่ง คือ การเสพ การคบ ได้แก่การเข้าไปนั่งใกล้สัปบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
บทว่า อตฺตสมฺมาปณิธิ ความว่า การตั้งตนไว้ชอบ. ก็ถ้าว่า บุคคล เป็นผู้ประกอบแล้ว ด้วยโทษทั้งหลายมีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น ในกาลก่อน การละซึ่งโทษมีความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้นเหล่านั้นแล้ว ดำรงอยู่ในคุณมีศรัทธาเป็นต้น.
สองบทว่า ปุพฺเพ จ กตปุญฺตาความว่า ความเป็นผู้มีกุศลอันตนสั่งสมไว้แล้วในกาลก่อน. คุณชาตคือความเป็นผู้มีกุศลอันตนสั่งสมไว้แล้ว ในกาลก่อนนี้นั่นแหละ เป็นประมาณในที่นี้. จริงอยู่ กุศลกรรม ย่อมเป็นกรรมอันบุรุษกระทำด้วยญาณสัมปยุตตจิตใด ญาณสัมปยุตตจิตนั้น นั่นแหละ อันเป็นกุศลย่อมนำบุรุษนั้นไปในประเทศอันสมควร ให้คบสัปบุรุษทั้งหลาย.
อนึ่ง บุคคลนั้นนั่นแลชื่อว่าตั้งตนไว้โดยชอบแล้ว. บัณฑิตพึงทราบธรรมทั้งหลายมีกามโยคะและกามวิสังโยคะเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งอนาคามิมรรคเป็นต้น. ในธรรมที่เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมเป็นต้น มีคำอธิบายว่า สัญญาและมนสิการ อันสหรคตด้วยกาม ย่อมกลุ้มรุมบุคคลผู้ได้ปฐมฌาน สมาธิก็เป็นหานภาคิยะ (เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม) สติอันคล้อยตามสมาธินั้น ย่อมตั้งมั่น สมาธิจึงเป็นฐิติภาคิยะ สัญญาและมนสิการอันสหรคตด้วยอวิตก (ทุติยฌาน) ย่อมปรากฏ สมาธิก็เป็นวิเสสภาคิยะ สัญญาและมนสิการ อันสหรคตด้วยนิพพิทาย่อมปรากฏ สมาธิก็เป็นนิพเพธภาคิยะอันวิราคะเข้าปรุงแล้ว ข้อว่า ธมฺเม ญาณํ ความว่า ญาณในสัจจธรรม ๔ และญาณในนิโรธธรรมในภายในสัจจะ ๔ ด้วยอำนาจการแทงตลอดเป็นอันเดียวกัน.เหมือนที่กล่าวไว้แล้ว.
ถามว่า ในญาณ ๒ นั้น ญาณในธรรมเป็นไฉน
ตอบว่า ญาณในมรรค ๔ ผล ๔. ข้อว่า อนฺวเย ญาณํ ความว่าญาณที่เป็นไปตามญาณนั้นอย่างนี้ว่า ภิกษุเห็นสัจจะ ๔ โดยประจักษ์ในบัดนี้ ฉันใดถึงในอดีต ถึงในอนาคต ก็ฉันนั้น ขันธ์ ๕ เหล่านี้นั่นเอง ชื่อว่าทุกขสัจจะตัณหานี้นั่นแหละ ชื่อว่าสมุทัยสัจจะ นิโรธนี้เทียว ชื่อว่านิโรธสัจจะ มรรคนี้ ทีเดียว ชื่อว่ามรรคสัจจะ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เธอย่อมนำนัย ไปในอดีตและอนาคต ด้วยการรู้ การเห็น การบรรลุ การรู้ชัด การหยั่งเห็น ตามธรรมนี้. ข้อว่า ปริจฺเฉเท ญาณํ ความว่าญาณในการกำหนดใจของคนพวกอื่น. เหมือนที่ท่านกล่าวไว้แล้ว บัณฑิตพึงให้ข้อความพิสดารว่า ในญาณนั้นญาณในการกำหนดใจเป็นไฉน ภิกษุในศาสนานี้ กำหนดใจของสัตว์อื่น บุคคลอื่นได้ด้วยใจ ก็ย่อมรู้ได้ ดังนี้. ก็ญาณที่เหลือเว้นญาณ ๓ เหล่านี้ชื่อว่า สัมมติญาณ เหมือนดังท่านกล่าวไว้แล้ว ในข้อนั้น สัมมติญาณเป็นไฉน ญาณที่เหลือ เว้นญาณในธรรม เว้นญาณในการไปตาม เว้นญาณในการกำหนดใจเสียแล้ว ชื่อว่าสัมมติญาณ
จบอรรถกถาที่นำมาเพียงบางส่วน เพียงเท่านี้.
สรุป สมาธิ ๔ และ ญาณ ๔
สมาธิ เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม คือ ฌานเสื่อม อกุศลกลุ้มรุม สมาธิเป็นไปในส่วนข้างดำรงอยู่ คือ สามารถดำรงฌานนั้นอยู่ได้ ฌานยังไม่เสื่อม สมาธิเป็นไปในส่วนวิเศษ คือ เจริญขึ้นจากฌานที่ ๑ เป็นฌานที่ ๒ สมาธิเป็นไปในส่วนแทงตลอด คือ สมาธิที่อบรมด้วยวิปัสสนา ที่จะเป็นไปเพื่อความหน่าย คลายจากกิเลส ธรรมญาณ (ความรู้ในธรรม) ได้แก่ ปัญญาในมรรค ๔ ผล ๔ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับมรรคจิต และ ผลจิต) อันวยญาณ (ความรู้ในการคล้อยตาม) ได้แก่ ปัจจเวกขณญาณ ซึ่งเป็นปัญญาที่พิจารณาถึงกิเลสที่ดับได้แล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ มรรค ผล และพระนิพพาน ปริจเฉทญาณ (ความรู้ในการกำหนด) ได้แก่ ปัญญาที่รู้จิตของผู้อื่น ตามความเป็นจริง ปัญญาที่รู้ความเป็นจริง (ความเป็นธรรม) ของจิต สัมมติญาณ (ความรู้ในสมมติ) ได้แก่ ปัญญาที่สามารถเข้าใจพระธรรมตรงตามอรรถ.
(กราบขอบพระคุณอาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ ที่ได้ให้ความละเอียดเพิ่มเติม)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ทสุตตรสูตร
(ว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งไปจนถึงสิบ)
เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา ใกล้กรุงจัมปา พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายโดยได้แสดงทสุตตรสูตร อันเป็นธรรมเพื่อปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงเพื่อบรรลุถึงพระนิพพาน เพื่อทำที่สุดทุกข์ ซึ่งคำว่า ทสุตตระ มาจากคำว่า ทสะ (๑๐) + อุตตระ (เป็นอย่างยิ่ง) แปลว่า มี ๑๐เป็นอย่างยิ่ง คือ ไม่เกิน ๑๐ หมายความว่า ในพระสูตรนี้ ท่านพระสารีบุตร จำแนกธรรม เป็น ๑๐ หมวด คือ ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ถึง หมวดที่ ๑๐ และ ในแต่ละหมวดๆ นั้น ก็แบ่งออกเป็น ๑๐ ข้อยืนพื้น (คือ มีอุปการะมาก, ควรเจริญ, ควรกำหนดรู้, ควรละ, เป็นไปในส่วนเสื่อม, เป็นไปในส่วนวิเศษ, แทงตลอดได้ยาก, ควรให้เกิดขึ้น, ควรรู้ยิ่ง, ควรทำให้แจ้ง) กล่าวคือ ธรรมหมวดหนึ่ง ก็จำแนกเป็น ๑๐ ข้อ ธรรมหมวด ๒ ก็จำแนกเป็น ๑๐ ข้อ จนกระทั่งธรรมหมวด ๑๐ ก็จำแนกเป็น ๑๐ ข้อ
สำหรับที่จะสนทนาในวันเสาร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕ นี้ ได้นำมาเฉพาะธรรมหมวด ๔ ว่า ธรรมหมวด ๔ ที่มีอุปการะมาก, ธรรมหมวด ๔ ควรเจริญ, ธรรมหมวด ๔ ควรกำหนดรู้, ธรรมหมวด ๔ ควรละ, ธรรมหมวด ๔ เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม, ธรรมหมวด ๔ เป็นไปในส่วนวิเศษ, ธรรมหมวด ๔แทงตลอดได้ยาก, ธรรมหมวด ๔ ควรให้เกิดขึ้น, ธรรมหมวด ๔ ควรรู้ยิ่ง, ธรรมหมวด ๔ ควรทำให้แจ้ง นั้น มีอะไรบ้าง (ดังที่ปรากฏในพระสูตร)
เมื่อท่านพระสารีบุตรได้แสดงทสุตตรสูตรจบ ภิกษุทั้งหลายก็ชื่นชมภาษิตของท่านพระสารีบุตร และในตอนท้ายของอรรถกถา ได้แสดงไว้ว่า พระภิกษุแม้ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นนึกถึงอยู่ซึ่งพระสูตรนี้นั่นเอง ก็ดำรงอยู่ในพระอรหัตต์ พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
เหตุที่ทำให้กุศลเจริญ
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้
ตั้งตนไว้ชอบ [มังคลัตถทีปนีแปล]
โยคสูตร - 18-12-2553
ก่อนจะถึง...สติ-ปัฏฐาน !
อริยสัจ ๔ [อรหันตสูตร]
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
ขออนุโมทนา