เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
ท่านอาจารย์บรรยาย"จิตปรมัตถ์"ว่าสันตติปิดบังไตรลักษณ์ หมายความถึง อย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วย
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สันตติการสืบต่อของนามธรรมและรูปธรรม หมายถึง การเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วของนามธรรมรูปธรรม และมีนามใหม่รูปใหม่เกิดขึ้นสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จึงทำให้ไม่สามารถเห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมได้ สันตติ จึงเป็นสิ่งที่ปิดบังความเป็นอนิจจัง (ความไม่เที่ยงของธรรม) อนิจจลักษณะจะปรากกฎได้ก็ต่อเมื่อมีการอบรมปัญญา เพิกสันตติด้วยการระลึกศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม รู้ชัดโดยความเป็นปัจจัย จนเห็นความเกิดดับ เป็นการประจักษ์แจ้งความไม่เที่ยงของนามธรรมและรูปธรรมตามลำดับ ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เพราะอาศัยการเกิดดับของสภาพธรรมอย่างรวดเร็ว และ ก็มีสภาพธรรมเกิดต่อ ก็ทำให้ เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งต่างๆ ไม่ได้เห็นถึงความไม่เที่ยง ที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงสภาพธรรมทีเกิดดับ สืบต่อกัน เพราะฉะนั้น การเกิดดับของสภาพธรรม อย่างรวดเร็ว และ เกิดสืบต่อกันไปอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ปิดบัง ไม่ให้เห็นความจริง ดั่งเช่น ที่ท่าน ยกตัวอย่างที่เปรียบเหมือน ใบพัดลม ที่หมุนเร็ว ก็เห็นเป็นวงกลม ไม่ได้เห็นว่าเป็นใบ สามใบ แต่เพราะอาศัยการหมุนอย่างรวดเร็วของใบพัด ก็ทำให้ เห็นว่า เป็นวงกลม แต่สภาพธรรมที่ปิดบัง ไม่เห็นตามความเป็นจริง คือ อวิชชา ความไม่รู้ เพราะ มีความไม่รู้ ไม่มีปัญญา ก็ทำให้ ไม่เห็นการเกิดดับของสภาพธรรมที่เป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยงแต่ละขณะเลย เพราะฉะนั้น จะเห็น ตามความเป็นจริง ก็ต่อเมื่อมีปัญญาความเห็นถูก ที่เป็นสภาพธรรรมที่เปิดเผย ให้เห็นลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นถึงความไม่เที่ยง ครับ ซึ่งจะมีได้ก็ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรมครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมพระธรรมรัตนะ
สวัสดี ครับ คุณ papon, คุณ khampan.a ขอสนทนาร่วมครับ
อนิจจะ = ปรมัตถธรรม
อนิจลักษณะ = อสมูหุปาทาบัญญัติ * * ของอนิจจัง
สันตติ = ลักษณะที่เกิดดับสืบเนื่องไม่ขาดของปรมัตถธรรม
ความต่างระหว่างอนิจลักษณะกับสันตติ: อนิจลักษณะจะเพ่งเนื้อความที่อนิจลักษณะของอนิจจะเดียว
ส่วนสันตติเพ่งที่อนิจลักษณะของอนิจจะหลายอันที่กำลังเกิดดับสืบต่อกันไม่ขาดอย่างไวมาก
ตัวอย่างขณะที่จักขุทวารวิถีเกิดขึ้น:
-วิถีจิตทั้ง 14 เช่น ปัญจทวาราวัชชนะ เป็นต้น คือ อนิจจะ
-ลักษณะที่เกิดและดับของวิถีแต่ละดวง คือ อนิจลักษณะ
-ลักษณะที่ปัญจทวาราวัชนะเกิดดับ แล้วจักขุวิญญาณ เกิดต่อโดยไม่มีระหว่าง ดับไป แล้วสัมปฏิจฉันนะเกิดต่อทันทีดับไป แล้วสันตีรณะเกิดต่อทันที ไม่ขาดสาย อย่างนี้ คือ สันตติ
วิธีเบิกเนตร:
สันตติฆนะ-พิจารณา อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร ผัสสะ นามรูป โดยความเป็นเหตุเกิด, และเมื่อไม่มีก็เป็นเหตุดับของสภาพธรรมนั้นๆ
อิริยาบถ-พิจารณาความบีบคั้นเป็นนิจที่ทำให้ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ
สมูหฆนะ-พิจารณาแยกสภาวะออก ที่ท่านแนะนำไว้ คือ แยกตามหมวดธาตุ ทั้งหมดต้องทำต่อเนื่องผลัดกันระหว่างสัมปชัญญะทั้ง 4 จึงจะเป็นภาวนานะครับ
ที่มาของเรื่องนี้อรรถกถาอายตนวิภังค์:
//dhammahome.com/webboard/topic/12018
* * อสมูหุปาทาบัญญัติ คือ บัญญัติที่ไม่ใช่กลุ่มก้อน
เช่น อาการที่อนิจจะ-- มีแล้วไม่มี, ของปรมัตถธรรม
สันตติปิดบังอนิจจลักษณะ เพราะไม่มนสิการความเกิดและความดับของสภาพธรรมะเนืองๆ ครับ
เหมือนพัดลมที่ใบพัดกำลังหมุน คนที่ได้เห็นขณะที่ยังไม่หมุน หรือเคยได้รับรู้มาก่อน ใบพัดลมมีหลายใบ ก็ย่อมจะไม่เข้าใจว่า ใบพัดลมเป็นแผ่นกลมๆ แผ่นเดียว แต่คนที่ไม่มนสิการหรือไม่อาจมนสิการ เพราะไม่เคยรู้มาก่อนถึงความที่ใบพัดแยกออกเป็น 3 ใบต่อชิ้นได้ จะคิดว่าใบพัดนั้นเป็นแผ่นเดียวกันหมด ครับ หรือไฟในหลอด ถ้าไม่สามารถระลึกถึงความเกิดดับของประจุแต่ละขณะๆ ได้ ก็ย่อมคิดว่า แสงไฟในหลอด เป็นแสงเดียวกันหมด ครับ