[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 413
ทุติยปัณณาสก์
อานันทวรรคที่ ๓
๓. สักกสูตร
ว่าด้วยไตรสิกขาของพระเสขะและพระอเสขะ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 413
๓. สักกสูตร
ว่าด้วยไตรสิกขาของพระเสขะและพระอเสขะ
[๕๑๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ วัดนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ ประเทศสักกะ คราวนั้น พระองค์ทรงพระประชวรไข้ เพิ่งหาย เจ้ามหานาม สักกะ เข้าไปเฝ้า ฯลฯ กราบทูลว่า นานมาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ญาณ (ความรู้) ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ หาเกิดแก่บุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิไม่ ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลถาม สมาธิเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลังหรือ หรือว่าญาณเกิดก่อน สมาธิเกิดทีหลัง พระพุทธเจ้าข้า.
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประชวรไข้ เพิ่งหาย ก็แลเจ้ามหานามมากราบทูลถามปัญหาอันลึกยิ่ง อย่ากระนั้นเลย เราจะเชิญเจ้ามหานามไปเสียทางหนึ่งแล้วแสดงธรรม (แทน) เถิด จึงจับพระพาหาเชิญเจ้ามหานามไป ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แสดงธรรมนี้ว่า
มหานาม ศีลเป็นเสขะก็มี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เป็นอเสขะก็มี ตรัสสมาธิเป็นเสขะก็มี ตรัสเป็นอเสขะก็มี ตรัสปัญญาเป็นเสขะก็มี ตรัสเป็นอเสขะก็มี ...
ศีลเสขะ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร เห็นภัยในโทษมาตรว่าน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เรียกว่า ศีลเสขะ.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 414
สมาธิเสขะ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ... จากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าปฐมฌาน ฯลฯ เข้าจตุตถฌาน ... นี้เรียกว่า สมาธิเสขะ.
ปัญญาเสขะ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ รู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ฯลฯ นี่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า ปัญญาเสขะ.
มหานาม อริยสาวกนั้นแล ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้ สมาธิอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้แล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งเข้าถึงพร้อมซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันนี่.
อย่างนี้แล มหานาม ศีลเป็นเสขะก็มี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เป็นอเสขะก็มี ตรัสสมาธิเป็นเสขะก็มี ตรัสเป็นอเสขะก็มี ตรัสปัญญาเป็นเสขะก็มี ตรัสเป็นอเสขะก็มี ด้วยประการฉะนี้แล.
จบสักกสูตรที่ ๓
อรรถกถาสักกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสักกสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า คิลานา วุฏฺิโต ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายประชวร. บทว่า เคลญฺา ความว่า จากความเป็นไข้. บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า พระเจ้ามหานามศากยะ เสร็จเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ทรงถือเอาระเบียบและของหอมเป็นต้น มีบริวารเป็นอันมากห้อมล้อมแล้วเข้าไปเฝ้า (พระผู้มีพระภาคเจ้า).
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 415
ด้วยบทว่า พาหายํ คเหตฺวา พึงทราบความว่า พระอานนท์เถระเจ้า ไม่ได้จับพระพาหา (ของเจ้ามหานาม) ดึงมา (แต่) ลุกขึ้นจากอาสนะที่นั่งแล้วตรงไปยังเจ้ามหานาม ใช้นิ้วมือสะกิดที่พระพาหาเบื้องขวา แล้วนำออกไป ณ ส่วนข้างหนึ่ง พระอานนท์เถระเจ้า ครั้นบอกศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นของพระเสขะทั้ง ๗ จำพวก โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนมหานาม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศีลที่เป็นเสขะไว้ก็มี ดังนี้ แล้วเมื่อจะบอกศีล สมาธิ ปัญญาของพระอเสขะด้วยสามารถแห่งอรหัตตผลเบื้องสูง จึงแสดงว่า วิปัสสนาญาณที่เป็นเสขะ และผลญาณที่เป็นอเสขะ เกิดขึ้นภายหลังสมาธิที่เป็นเสขะ และผลสมาธิที่เป็นอเสขะ เกิดขึ้นภายหลังวิปัสสนาที่เป็นเสขะ ดังนี้ ส่วนสมาธิที่เป็นสัมปยุตธรรม พึงทราบว่า เกิดขึ้นไม่ก่อนไม่หลังกัน.
จบอรรถกถาสักกสูตรที่ ๓