การฟังและการเจริญสติปัฏฐาน [๓]
โดย พุทธรักษา  23 มี.ค. 2553
หัวข้อหมายเลข 15776

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สนทนาธรรมเรื่อง "พื้นฐานพระอภิธรรม" ณ อาคารมูลนิธิวันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ถอดเทปบันทึกเสียงโดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล

ท่านวิทยากร ท่านอาจารย์กล่าวว่า แม้การฟัง ในขณะที่ไม่ต้องใช้ชื่อแต่โดยสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรม สติก็เกิดขึ้นแต่เมื่อเจริญขึ้น สติเกิด ก็รู้ว่ามีสติเกิดขึ้น

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่สติเกิด ก็ต้องถามว่า ขณะนั้น สติรู้อะไรสติเกิด โดยไม่รู้อะไร ได้ไหม ขณะที่ว่า สติเกิดนั้นน่ะค่ะ สติรู้อะไร

ท่านวิทยากร ก็เป็น "ความระลึกได้" ที่พิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเช่น ความขุ่นใจเกิดขึ้น ก็พิจารณา ความขุ่นใจซึ่งโดยมาก มักจะลืม

ท่านอาจารย์ โดยมากมักจะเป็นการคิดถึงเรื่องของสภาพธรรม หรือเปล่า ขณะที่ลักษณะของสภาพธรรมเกิดขึ้น เช่น "โทสะ" เกิดขึ้น ก็เรียกชื่อ หรืออาจจะพรรณนาท้าวความว่า มีปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตนก็แล้วแต่ว่า ขณะนั้นจะคิดอะไร ซึ่งยังไม่ใช่การรู้ลักษณะที่เป็นธรรมะแต่ ขณะที่กำลังคิด ก็เป็นธรรมะ.!และ โทสะที่เกิดขึ้น-ปรากฏ-แล้วก็ดับไปนั้น ก็เป็นธรรมะแต่เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงนึกคิดถึงเรื่องราวการรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นกุศล ไม่ใช่ความขุ่นใจเพราะว่า ระลึกเป็นไปในความจริง ที่ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมะคือ ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้น เป็น "อารักขโคจร"
ซึ่งป้องกันไม่ให้ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตเพราะว่า มีการฟัง และ มีการรู้ถึงโทษของอกุศลจิต ในขณะนั้นคือ รู้ว่าขณะที่เกิดความโกรธ ใครเป็นผู้ที่ได้รับโทษ (จากโทสะ) ผู้ที่ถูกโกรธ สบายมาก แต่ผู้ที่โกรธ ได้รับโทษตั้งแต่เริ่มขุ่นใจถ้าโกรธมากๆ ก็อาจจะประทุษร้ายตัวเองแล้วอาจจะถึงกับกระทำอกุศลกรรมทางกาย หรือ ทางวาจา ก็ได้แล้วเป็นโทษกับใคร เมื่ออกุศลกรรมนั้นๆ สำเร็จแล้ว.

จิตขณะหนึ่ง เกิดแล้วดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เจตนาที่ประทุษร้าย เป็นอกุศล ซึ่งเกิดขึ้นและสะสมอยู่ในจิตและเป็นปัจจัยให้เกิดผล คือ จิตเห็น หรือ จิตได้ยิน เกิดขึ้น รู้สิ่งที่ไม่ดีความมุ่งหวังจะให้คนที่เราคิดจะประทุษร้าย ต้องเป็นไปอย่างนั้น ก็เกิดขึ้นแล้วตามเหตุที่ได้กระทำไว้ ซึ่งสะสมอยู่ในจิต และ เป็นปัจจัยให้ผลนั้นเกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ก็ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นธรรมะ

การฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏส่วนใครจะรู้แจ้งสภาพธรรม-ดับกิเลส-บรรลุเป็นพระโสดาบัน....จะเร็วไหมคะ.?เข้าใจเห็น...ที่กำลังเห็น บ้างไหม.?เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น บ้างไหม.?เข้าใจว่าเป็น "ธาตุ" ที่มีจริง ซึ่งสามารถกระทบเพียงจักขุปสาทรูปและเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น....ธาตุนี้ (รูปารมณ์) จึงปรากฏว่าเป็นธาตุ-ซึ่งมีจริงซึ่งคนตาบอด (ไม่มีจักขุปสาทรูป) ก็ไม่มีโอกาสเห็นธาตุนี้ได้ภาษาบาลีใช้คำว่า "รูปารมณ์" ,"รูปารัมมณะ"เมื่อมีจักขุวิญญาณ (จิตเห็น) ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น (รูปารมณ์)

ความเข้าใจ ก็คือ ขณะนี้เอง...ที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นเพียงธาตุอย่างหนึ่งซึ่งสามารถปรากฏให้เห็นได้ปรากฏแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว-สั้น-เล็กน้อยมากเมื่อเข้าใจอย่างนี้ ต้องใช้คำว่า "สติปัฏฐาน" หรือเปล่า



ความคิดเห็น 1    โดย พุทธรักษา  วันที่ 23 มี.ค. 2553

ขณะนี้ ที่กำลังเห็น กำลังคิด กำลังได้ยิน ฯ เป็นธาตุรู้ หรือ สภาพรู้"เสียง" ปรากฏ เมื่อมี "ธาตุ-ที่ได้ยินเสียง"เพราะฉะนั้น ถ้ากำลังเริ่มเข้าใจ "ลักษณะของธาตุ" ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย (เช่น เสียง) คือ เสียงเกิดแล้ว ปรากฏให้รู้ว่า มีธาตุ (ได้ยิน) ที่กำลังรู้-สิ่งที่ปรากฏ (เสียง) ถ้าเข้าใจขึ้นๆ ๆ ขณะนี้ เช่น ขณะที่กำลังได้ยิน (พิสูจน์ได้จริง) ว่า มี "ธาตุได้ยิน" แน่นอน ขณะที่เริ่มเข้าใจความเป็นธาตุรู้ที่กำลังได้ยินจะต้องใช้คำว่า "จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน" ไหม

ไม่จำเป็นต้องใช้คำเลยค่ะ เพราะว่า คำที่ใช้ในยุคนั้น เป็นภาษามคธีเราอาจจะเคยได้ยินได้ฟัง อาจจะเคยพูด แต่ขณะนี้ก็ไม่ได้ใช้ภาษามคธีเพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจ "ลักษณะของสภาพธรรม" ที่ได้ยินได้ฟัง จากภาษาไหนก็สามารถที่จะเข้าใจ "ลักษณะของสภาพธรรม" ในภาษานั้นๆ ได้

ขณะที่กำลังเริ่มรู้ "ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ"เช่น กำลังเห็น ยังไม่จำเป็นต้องคิดอะไรเลย ก็กำลังเผชิญหน้ากับสิ่งที่มีจริงหรือ ขณะที่กำลังฟัง ก็ยังไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังเผชิญหน้า ซึ่งมีจริงๆ จนกว่าจะฟังแล้วฟังอีก จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจความจริงแม้ขณะนี้ไม่ได้ยิน ก็ระลึกรู้สภาพธรรมอื่น "ที่กำลังปรากฏ" ให้รู้ได้และเริ่มเข้าใจ "ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ" นั้นๆ โดยไม่ต้องใช้ชื่อ หรือ ใช้คำ

ขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจ "ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ" ขณะนั้น ก็คือ "สติปัฏฐาน" ขณะนั้น ไม่ต้องเรียกว่า "จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน" หรือ "ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน"แต่ขณะนั้น สามารถที่จะ "เข้าถึงความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ " และเมื่อผ่านพยัญชนะใด ก็เพื่อส่องให้เห็นความจริง (ของสภาพธรรม) ไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยใด ไม่ใช่รู้ชื่อ แล้วสงสัย ขณะที่กำลังสงสัย เช่น สงสัยว่า สติเป็นอย่างไร ใช่สติหรือเปล่าขณะนั้น กำลังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ต้องฟังอีกมาก ถ้าคิดว่าฟังพอแล้ว มีตาก็เห็นไป มีหูก็ได้ยินไป แม้แต่ฟังอยู่ ก็ยังไม่รู้ (ว่าเป็นธรรมะ) แล้วถ้าไม่ฟัง เมื่อไรจะรู้ได้

นี่คือ "พื้นฐาน" เพื่อที่จะเข้าใจพระธรรมที่ลึกซึ้ง
ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย จักรกฤษณ์  วันที่ 23 มี.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย Sam  วันที่ 29 มี.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ