นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สนทนาธรรมที่
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
มรรควรรควรรณนา
พระสูตร เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้า ๙๘
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้า ๙๘
มรรควรรควรรณนา
พระสูตร เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
ข้อความเบื้องต้น พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุ ๕๐๐ รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มคฺคานฏฺงฺคิโก" เป็นต้น.
พวกภิกษุพูดถึงทางที่ตนเที่ยวไป ดังได้สดับมา ภิกษุเหล่านั้น เมื่อพระศาสดาเสด็จเที่ยวจาริกไปในชนบทแล้วเสด็จมาสู่กรุงสาวัตถีอีก, นั่งในโรงเป็นที่บำรุง พูดมรรคกถาปรารภทางที่ตนเที่ยวไปแล้ว โดยนัยเป็นต้นว่า " ทางแห่งบ้านโน้นจากบ้านโน้นสม่ำเสมอ, ทางแห่งบ้านโน้น (จากบ้านโน้น) ไม่สม่ำเสมอ, มีกรวด, ไม่มีกรวด."
อริยมรรคเป็นทางให้พ้นทุกข์ พระศาสดา ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของภิกษุเหล่านั้น เสด็จมายังที่นั้นแล้ว ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้ ตรัสถามว่า " ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยกถาอะไรเล่า?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า " ด้วยกถาชื่อนี้," ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ทางที่พวกเธอพูดถึงนี้ เป็นทางภายนอก ธรรมดาภิกษุทำกรรมในอริยมรรคจึงควร, (ด้วยว่า) ภิกษุเมื่อทำอย่างนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้" ดังนี้ แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า:-.
มคฺคานฏฺงฺคิโก เสฏฺโ สจฺจาน จตุโร ปทา วิราโค เสฏฺโ ธมฺมาน ทิปทานญฺจ จกฺขุมา เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา. เอตญฺหิ ตุเมฺห ปฏิปชฺชถ มารสฺเสต ปโมหน เอตญฺหิ ตุเมฺห ปฏิปนฺนา ทุกฺขสฺสนฺต กริสฺสถ. อกฺขาโต โว มยา มคฺโค อญฺาย สลฺลสตฺถน ตุเมฺหหิ กิจฺจ อาตปฺป อกฺขาตาโร ตถาคตา ปฏิปนฺนา ปโมกฺขนฺติ ฌายิโน มารพนฺธนา.
คำแปล "บรรดาทางทั้งหลาย ทางมีองค์ ๘ ประเสริฐ, บรรดาสัจจะทั้งหลาย บท ๔ ประเสริฐ, บรรดาธรรม ทั้งหลาย วิราคะประเสริฐ, บรรดาสัตว์ ๒ เท้า และ อรูปธรรมทั้งหลาย พระตถาคตผู้มีจักษุประเสริฐ; ทางนี้เท่านั้น เพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ ทาง อื่นไม่มี, เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงดำเนินตาม ทางนี้ เพราะทางนี้เป็นที่ยังมารและเสนามารให้ หลง, ด้วยว่า ท่านทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้; เราทราบทางเป็นที่สลัดลูกศร แล้ว จึงบอกแก่ท่านทั้งหลาย, ท่านทั้งหลาย พึงทำความเพียรเครื่องเผากิเลส, พระตถาคตทั้งหลาย เป็นแต่ผู้บอก, ชนทั้งหลายผู้ดำเนินไปแล้ว มีปกติ เพ่งพินิจ ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องผูกของมาร."
แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มคฺคานฏฺงฺคิโก ความว่า ทางทั้งหลาย จงเป็นทางไปด้วยแข้งเป็นต้นก็ตาม เป็นทางทิฏฐิ ๖๒ ก็ตาม บรรดาทางแม้ทั้งหมด ทางมีองค์ ๘ อันทำการละทาง ๘ มีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้นด้วยองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ทำนิโรธให้เป็นอารมณ์ ยังกิจมีอันกำหนด รู้ทุกข์เป็นต้น ในสัจจะแม้ทั้งสี่ให้สำเร็จ ประเสริฐคือยอดเยี่ยม. บาทพระคาถาว่า สจฺจาน จตุโร ปทา ความว่า บรรดาสัจจะเหล่านี้ แม้ทั้งหมด จงเป็นวจีสัจจะอันมาแล้ว (ในพระบาลี) ว่า " บุคคลพึงกล่าวคำสัตย์, ไม่พึงโกรธ," เป็นต้นก็ตาม, เป็นสมมติสัจจะอันต่างโดยสัจจะเป็นต้นว่า " เป็นพราหมณ์จริง, เป็นกษัตริย์จริง" ก็ตาม,เป็นทิฏฐิสัจจะ (โดยนัย) ว่า " สิ่งนี้เท่านั้นจริง, สิ่งอื่นเปล่า," เป็นต้นก็ตาม, เป็นปรมัตถสัจจะ อันต่างโดยสัจจะเป็นต้นว่า " ทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐ" ก็ตาม, บท ๔ มีบทว่า " ทุกข์ เป็นความจริงอันประเสริฐ "เป็นต้น ชื่อว่าประเสริฐ เพราะอรรถว่าทุกข์อันโยคาวจรควรกำหนดรู้ เพราะอรรถว่าสมุทัยอันโยคาวจรควรละ เพราะอรรถว่านิโรธอันโยคาวจรควรทำให้แจ้ง, เพราะอรรถว่ามรรคมีองค์ ๘ อันโยคาวจรควรเจริญ เพราะอรรถว่าแทงตลอดได้ด้วยญาณอันเดียว และเพราะอรรถว่าแทงตลอดได้โดยแน่นอน. บาทพระคาถาว่า วิราโค เสฏฺโ ธมฺมาน ความว่า บรรดาธรรมทั้งปวง วิราคะ กล่าวคือพระนิพพาน ชื่อว่าประเสริฐ เพราะพระพุทธพจน์ว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็ดี มีประมาณเพียงไร, บรรดาธรรมเหล่านั้นวิราคะเรากล่าวว่า เป็นยอด." บาทพระคาถาว่า ทิปทานญฺจ จกฺขุมา ความว่า บรรดาสัตว์ ๒ เท้าอันต่างโดยเทวดาและมนุษย์เป็นต้นแม้ทั้งหมด พระตถาคตผู้มีจักษุ ๕ ประการเท่านั้น ประเสริฐ. จ ศัพท์ มีอันประมวลมาเป็นอรรถ ย่อมประมวลเอาอรูปธรรมทั้งหลายด้วย; เพราะฉะนั้น แม้บรรดาอรูปธรรมทั้งหลาย พระตถาคตก็เป็นผู้ประเสริฐ คือ สูงสุด. บาทพระคาถาว่า ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา ความว่า ทางใดที่เรา (ตถาคต) กล่าวว่า " ประเสริฐ" ทางนั่นเท่านั้น เพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะคือมรรคและผล; ทางอื่นย่อมไม่มี. บทว่า เอต หิ ความว่า เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงดำเนินทางนั้น นั่นแหละ. ก็บทว่า มารเสนปฺปโมหน นั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสว่า" เป็นที่หลงแห่งมาร คือเป็นที่ลวงแห่งมาร." บทว่า ทุกฺขสฺส ความว่า ท่านทั้งหลายจักทำที่สุด คือ เขตแดนแห่งความทุกข์ในวัฏฏะแม้ทั้งสิ้นได้. บทว่า สลฺลสตฺถน เป็นต้น ความว่า เราเว้นจากกิจทั้งหลาย มีการได้ฟัง (จากผู้อื่น) เป็นต้น ทราบทางนั่น อันเป็นที่สลัดออกคือย่ำยีได้แก่ถอนออกซึ่งลูกศรทั้งหลาย มีลูกศรคือราคะเป็นต้น โดยประจักษ์แก่ตนแล้วทีเดียว จึงบอกทางนี้, บัดนี้ท่านทั้งหลายพึงทำ ได้แก่ควรทำความเพียรคือสัมมัปปธาน อันถึงซึ่งการนับว่าอาตัปปะ เพราะเป็นเครื่องเผากิเลสทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่การบรรลุทางนั้น. เพราะพระตถาคต ทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกอย่างเดียว, เพราะฉะนั้น ชนทั้งหลายผู้ปฏิบัติแล้ว ด้วยสามารถแห่งทางที่พระตถาคตเจ้าเหล่านั้นตรัสบอกแล้ว มีปกติเพ่งด้วยฌานสองอย่าง ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารกล่าวคือวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิสาม. ในเวลาจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นดำรงอยู่แล้วในพระอรหัตตผล. พระธรรมเทศนาได้สำเร็จประโยชน์แม้แก่บุคคลผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป จบ.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป พระสูตรเรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ที่พากันกล่าวถ้อยคำที่เกี่ยวเนื่องด้วยหนทางที่ตนเองเคยได้เดินทางไปมา ว่า จากที่แห่งหนึ่งไปสู่ที่อีกแห่งหนึ่ง หนทางราบเรียบ ไม่ราบเรียบ มีกรวด ไม่มีกรวด เป็นต้น จึงได้ตรัสว่า หนทางนั้น เป็นหนทางในภายนอก แต่หนทางในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นไปเพื่อพ้นจากทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เป็นหนทางที่พระองค์ทรงค้นพบและทรงแสดง เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อถอนลูกศร คือ กิเลส จึงควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินตามหนทางอันประเสริฐนี้ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา พระภิกษุเหล่านั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรค
ทางลัด ไม่มี กิเลสทุกชนิดย่อมเสียดแทงจิต ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ [คาถาธรรมบท]
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณและขออนุโมทนาคะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะครับ
ทางนี้เท่านั้น เพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ ทางอื่นไม่มี,
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงดำเนินตามทางนี้
เพราะทางนี้เป็นที่ยังมารและเสนามารให้หลง,
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ