“บุคคลบางคนย่อมเป็นผู้ให้ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องทา ที่นอนที่อยู่ เครื่องตามประทีปแก่สมณพราหมณ์ ครั้นตายไปย่อมเกิดในอบายสุคติโลกสวรรค์ด้วยกรรมนั้น ถ้าตายไปไม่เกิดในสุคติโลกสวรรค์ มาเกิดในมนุษย์ในที่ใดๆ จะเป็นผู้มีสมบัติมาก
ส่วนนี้สำหรับผู้ที่ยังหวังในบุญครับ รบกวนสอบถามในข้ออรรถนี้ด้วยครับ
1. ผมอ่านพระไตรปิฏกในหลายๆ บท จะเห็นว่าสมณพราหมณ์ตลอด ผมเข้าใจถูกมั๊ยว่า พระพุทธองค์คงจะหมายถึงทำกับเนื้อนาบุญ ที่ดี คงหมายถึงผู้ที่ตัดกิเลสดีแล้ว เป็นผู้ที่น่าเลื่อมใส เพราะเป็นนักบวชนักพรตเลยยกเฉพาะเช่นนี้ใช่มั๊ยครับ
2. ถ้าผมเข้าใจถูกแสดงว่า ตรงจุดนี้เป็นพ่อแม่ ก็น่าจะได้บุญมากกว่า
ในบทบอกว่าบุญเทียบอรหันต์
ขอบคุณครับ
๑. คำว่าสมณพราหมณ์ เป็นชื่อของพระอรหันต์ เพราะท่านสงบจากกิเลส เพราะลอยบาปได้แล้ว ดังนั้นพระอรหันต์จึงเป็นผู้ควรรับทาน เพราะจะทำให้ทานมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่ทานควรให้กับคนและสัตว์ทุกหมู่เหล่า
๒. ให้กับพ่อแม่ก็ได้บุญมากเช่นกันครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
1. โดยปกติ คำว่าสมณพราหมณ์ที่ใช้โดยทั่วไปหมายถึง นักบวชทั่วๆ ไปหรือผู้มีความเห็นและสมมติตนว่าเป็นพราหมณ์ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในบางสูตรที่ว่า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิอย่างนี้ แต่หากว่าโดยปรมัตถ์คือ สภาพธรรมจริงๆ ที่เป็นสมณพราหมณ์นั้น พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า บุคคลไม่ได้เป็นสมณเพราะศีรษะโล้นหรือเพียงบวชเท่านั้น แต่มีกิเลส แต่บุคคลใดยังอกุศลทั้งหลายสงบคือ ดับกิเลสหมดแล้วจึงชื่อว่าสมณ เช่นเดียวกับคำว่าพราหมณ์ ไม่ใช่เป็นเพียงเรียนคัมภีร์พระเวทแล้วจะเป็นพราหมณ์ แต่บุคคลใดลอยบาปคือ อกุศลธรรม ดับหมดแล้ว จึงชื่อว่าพราหมณ์ ดังนั้น เมื่อว่าโดยปรมัตถ์คือ สภาพธรรมจริงๆ ที่บัญญัติว่าเป็นพราหมณ์คือบุคคลที่ดับกิเลสแล้วครับ ซึ่งในสูตรที่คุณอ้างถึงสมณพราหมณ์ย่อมหมายถึงบุคคลที่ดับกิเลสแล้ว ผลของบุญจึงมีมากครับ
2. สำหรับพ่อแม่ ท่านเปรียบเหมือนบุรพเทพ เทพมี 3 คือ สมมติเทพ (พระราชา) วิสุทธิเทพ (พระอรหันต์) อุปัตติเทพ (เทวดาชั้นต่างๆ ) พ่อแม่เปรียบเหมือนวิสุทธิเทพ (พระอรหันต์) เพราะพระอรหันต์ ย่อมไม่ใส่ใจในความผิดของสัตว์ทั้งหลาย คิดแต่ประโยชน์เกื้อกูลและทำของที่บุคคลอื่นให้ ให้มีผลมาก พ่อแม่ก็เช่นกันครับ ไม่ใส่ใจในความผิดของบุตรที่ทำ คิดแต่จะเกื้อกูลนำประโยชน์ไปให้ และของที่นำมาให้ท่านก็มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เช่นกันครับ
[มารดาบิดาเป็นบุรพเทพของบุตร]
เหมือนอย่างว่า วิสุทธิเทพกล่าวคือ พระขีณาสพ ไม่คำนึงถึงความผิดอันพวกชนพาลทำแล้ว หวังแต่ความเสื่อมไปแห่งความพินาศและความเกิดขึ้นแห่งความเจริญ ปฏิบัติเพื่อประโยชนสุขแก่พวกเขาโดยส่วนเดียวแท้ๆ , และย่อมนำความที่สักการะทั้งหลายของพวกเขามีผลานิสงส์มาก เพราะเป็นทักษิไณยบุคคล ฉันใด มารดาและบิดาแม้นั้น ก็ฉันนั้น ไม่คำนึงถึงความผิดของบุตรทั้งหลายปฏิบัติเพื่อประโยชนสุขแก่บุตรเหล่านั้นโดยส่วนเดียวเท่านั้น เป็นผู้สมควรแก่ทักษิณา นำความที่สักการะของบุตรเหล่านั้นอันเขาทำแล้วในตน มีผลานิสงส์มาก ; เพราะฉะนั้น ท่านทั้ง ๒ นั้นจึงชื่อว่าเทพเพราะเป็นผู้มีความประพฤติ เช่นดังเทพ.
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
๑.ท่านสันตติมหาอำมาตย์ เมาสุราตลอด ๗ วัน เมื่อหญิงนักฟ้อนเสียชีวิตลง ท่านเกิดความโศกเศร้า จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม (คาถาประกอบด้วย ๔ บท) ให้ท่านฟัง เมื่อจบพระคาถา ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว ท่านพิจารณาเห็นความเป็นไปไม่ได้แห่งอายุสังขารของตน จึงกราบทูลลาพระผู้มีพระภาค เพื่อปรินิพพาน เมื่อท่านปรินิพพานแล้ว พระภิกษุทั้งหลาย สนทนากันว่าจะเรียก ท่านสันตติมหาอำมาตย์ ว่า "สมณะ" หรือ"พราหมณ์" จึงจะถูกต้อง พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงว่า ผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์จะเรียกว่าสมณะ ก็ได้ จะเรียกว่า พราหมณ์ก็ได้ จะเรียกว่า ภิกษุก็ได้
(ชื่อว่า พราหมณ์ เพราะความเป็นผู้มีบาปอันลอยแล้ว
ชื่อว่า สมณะ เพราะความเป็นผู้มีบาปอันสงบ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะความเป็นผู้มีกิเลสอันทำลายแล้ว)
ดังนั้น สมณพราหมณ์อย่างสูงสุด จึงมุ่งถึงผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทานที่ให้แก่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ครับ
๒.มีหลายคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า พยัญชนะที่ว่า "พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของบุตร" นั้นไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ถ้าศึกษาและพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะเข้าใจตามข้อความที่ว่ามารดาบิดาเปรียบเหมือนวิสุทธิเทพ (วิสุทธิเทพ หมายถึงพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด) ดังนั้น ข้อความที่ว่า พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของบุตรกับข้อความที่ว่ามารดาบิดาเปรียบเหมือนวิสุทธิเทพ จึงมีความหมายเหมือนกัน สำหรับมารดาบิดาแล้วไม่ว่าบุตรธิดาจะประพฤติตนไม่ดีอย่างไร ท่านก็ไม่คำนึงถึงความผิดที่บุตรธิดากระทำ แต่ท่านจะเป็นผู้กระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุตรธิดาอยู่เสมอๆ พร้อมทั้งท่านเป็นผู้ควรซึ่งการสักการบูชา การเอาใจใส่ดูแลจากบุตรธิดา การสักการบูชาที่บุตรธิดากระทำต่อมารดาบิดานั้นมีผลมาก มีอานิสงส์มาก (ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวที เป็นผู้ที่บัณฑิตสรรเสริญ)
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
สมณพราหมณ์เป็นชื่อของพระพุทธเจ้าและสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคที่ปฏิบัติดี
แล้ว ปฏิบัติตรง เป็นผู้ควรแต่การต้อนรับ ควรแก่การทำบุญ เป็นเนื้อนาบุญของโลก
ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า มารดาบิดาเป็นผู้มีพระคุณ คนที่กตัญญูก็มีแต่ความเจริญค่ะ
ขออนุโมทนาในความเกื้อกูลคำตอบที่เป็นประโยชน์มากครับ
เดิมทีก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่ามารดาบิดานั้นเป็นพระอรหันต์ของบุตรได้อย่างไร
ที่แท้ก็ด้วยคุณธรรมที่ท่านประพฤติต่อบุตรนั่นเอง
เพราะพระอรหันต์ ย่อมไม่ใส่ใจในความผิดของสัตว์ทั้งหลาย คิดแต่ประโยชน์เกื้อกูลและทำของที่บุคคลอื่นให้ให้มีผลมาก พ่อแม่ก็เช่นกันครับ ไม่ใส่ใจในความผิดของบุตรที่ทำ คิดแต่จะเกื้อกูลนำประโยชน์ไปให้ และสำหรับมารดาบิดาแล้ว ไม่ว่าบุตรธิดาจะประพฤติตนไม่ดีอย่างไร ท่านก็ไม่คำนึงถึงความผิดที่บุตรธิดากระทำ แต่ท่านจะเป็นผู้กระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุตรธิดาอยู่เสมอๆ พร้อมทั้งท่านเป็นผู้ควรซึ่งการสักการบูชา
จากข้อความจากทั้ง 2 ท่าน แสดงว่า
๑ .หากคนที่เลี้ยงเราไม่ใช่พ่อแม่โดยกำเนิด แต่เลี้ยงเราแต่เล็กจนโต เราอาจเรียกว่าพ่อแม่ก็ว่าได้ ยังขึ้นชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ของเราหรือไม่?
มีความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ว่าแม้จะเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กจนโตก็ยังความรู้สึกเป็นแม่ไม่ได้ เพราะมีการใส่ใจความผิดของบุตร มีความต้องการผลลัพธ์จากบุตร
2. และหากพ่อแม่โดยกำเนิดจริงๆ แต่ไม่ได้เลี้ยงเลย รู้อยู่แล้วว่าเป็นผู้มีคุณ ไม่มีท่านก็คงไม่มีชีวิตยืนบนโลกได้ เช่นนี้แล้วแม้ไม่เจอท่านเลย ไม่ได้มอบอาหารหรือเลี้ยงดูกับมือแต่โอนเงินไปให้ถือว่าได้กระทำสิ่งที่เป็นกุศล และเกิดบุญหรือไม่
ความจริง ความถูกต้อง ไม่ใช่ความรู้สึกค่ะ ความจริง กุศล คือกุศล อกุศล คืออกุศลไม่แปรเปลี่ยน ไม่ปนกัน ปนกันไม่ได้.
แต่ความรู้สึก เปลี่ยนได้ตามการสั่งสมแล้วแต่ว่าจะสั่งสมกุศลหรืออกุศล.
ความถูกต้องทุกประการ ควรกระทำ.
มีเหตุให้อกุศลเกิด อกุศลก็เกิด (เช่น ไม่พอใจ เสียใจ สงสัย)
มีเหตุ ให้กุศลเกิด กุศลก็เกิด (เช่น รู้จักตอบแทนบุญคุณผู้เคยกระทำคุณให้ก่อน)
คุณเจริญในธรรม คิดว่าความเจริญในธรรมนั้นคือ ขณะที่สั่งสมกุศลหรือขณะที่สั่งสมอกุศล ในเมื่อไม่มีใครบังคับบัญชาให้ทุกสิ่งทุกอย่างสมปรารถนาได้.
แต่ถ้าพ่อแม่ไม่มี คุณจะเกิดมาได้มีโอกาสเจริญในธรรมได้หรือ? ถ้าไม่มีใครเกื้อกูลคุณเลยคุณจะได้มีโอกาสเจริญในธรรมหรือ?
ท่านผู้มีปัญญาท่านหนึ่ง เคยกล่าวว่า "พึงระลึกถึงความดีของเขาแม้มีน้อยความไม่ดีของเขาแม้มีมากอย่าพึงไปรู้ของเขาเลย" บุญ คือกุศลจิต มีผลเป็นความสุข ความสงบใจบาป คืออกุศลจิตมีผลเป็นความทุกข์ ความกระวนกระวายใจความแตกต่างอันนี้ควรรู้ก่อนค่ะ
ขออนุโมทนาคุณปริศนาค่ะ
ความคิดเห็นที่ ๑๐ ดีจริงๆ
คิดแบบเดียวกันว่า หากไม่มีผู้ให้กำเนิดคงไม่มีโอกาส เจริญในธรรม ในวันนี้
หากไม่มีผู้อุ้มชูเลี้ยงดูมา ให้การศึกษาเล่าเรียนคงไม่มีโอกาส เจริญในธรรม ในวันนี้
หากไม่ได้สะสมมา หากไม่มีกุศลเหตุ คงไม่มีกุศลวิบากและ ให้ได้มีโอกาส เจริญในธรรม ในวันนี้
๑๑๑๑๑๑๑๑๑
ขอให้เจริญมั่นคงในกุศลทุกประการนะคะ คุณเจริญในธรรม
ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
เข้าใจแล้วครับ
ขออนุโมทนาทุกท่านครับ
ขอจบกระทู้นี้นะครับ