ขอรบกวนถาม ในความหมายขอคำต่อไปนี้ด้วยครับ
๑. สติปัญญา
๒. สติสัมปชัญญะ
๓. สติปัฎฐาน
แตกต่างกันอย่างไรบ้าง มีความหมายอย่างไรบ้าง ตามความหมายปรมัตถธรรมหน่อยครับ
ขอบคุณ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สติ เป็นธรรมที่มีจริงประการหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ใช่เรา สติ เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ เป็นไปในกุศล ทั้งในขั้นของทาน ศีล และ ภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญา) ซึ่งทั้ง ๓ คำนั้น โดยองค์ธรรม คือ สติเจตสิก และปัญญา (อโมหเจตสิก) เพียงแต่ว่า สติปัญญา มีความหมายกว้างกว่า สติสัมปชัญญะ และ สติปัฏฐาน เมื่อพูดถึง สติ แล้ว คือ เป็นเจตสิกฝ่ายดี ที่เกิดกับจิตที่ดีทุกประเภท ทำหน้าที่ระลึก ซึ่งไม่ว่าจะเกิดกับ ปัญญา เกิดกับ สติปัฏฐาน หรือ เกิดกับ สัมปชัญญะ สติก็ทำหน้าที่ระลึก ไม่เปลี่ยนแปลง ครับ
คำว่า ปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนา มีหลายระดับครับ ตั้งแต่ปัญญาขั้นต้น เช่น การรู้เรื่องกรรมและผลของกรรม ก็เป็นปัญญา ปัญญาขั้นสมถภาวนา ปัญญาขั้นวิปัสสนา (สติปัฏฐาน) เป็นต้น
ส่วน คำว่า สัมปชัญญะ เป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ ก็คือ ปัญญานั่นเองครับ แต่ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวทั่วพร้อมตามความเป็นจริง จะใช้ กับปัญญาระดับสมถภาวนา และ วิปัสสนา หรือ สติปัฏฐาน นั่นเองครับ
ส่วน สติปัฏฐาน คือ สติและปัญญาที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีสติ ด้วย มีปัญญาด้วย และปัญญาที่ป็นสติปัฏฐาน
ชื่อว่า สัมปชัญญะ ความรู้สึกตัว ทั่วพร้อมในการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริง จึงกล่าวได้ว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มี สติ สัมปชัญญะ และ มีสติ ปัญญา ครับ ดังนั้น ทั้ง ๓ คำ เกี่ยวข้องกันด้วยประการฉะนี้ แต่ก็แตกต่างกันที่เป็นปัญญาระดับไหน เพราะถ้าใช้คำว่า สติและปัญญา ปัญญาจะกินความกว้าง ส่วน คำว่า สติ สัมปชัญญะ จะมุ่งหมายถึง สติและปัญญาระดับสมถภาวนา และวิปัสสนา (สติปัฏฐาน) แต่ถ้ากล่าวถึง สติปัฏฐาน มีสติปัญญาด้วย แต่เป็นสติสัมปชัญญะ ที่เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
สติปัฏฐานและสติสัมปชัญญะ
สติปัฏฐานกับสติสัมปชัญญะ
สติสัมปชัญญะคือสติเจตสิกใช่ไหมครับ
เรื่องของสติปัญญา
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้นจริงๆ แม้แต่ สติ กับ ปัญญา ก็เช่นเดียวกันเป็นธรรมที่มีจริง เป็นธรรมฝ่ายดี ที่จะต้องเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามเท่านั้น สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นโสภณธรรม ที่ระลึกได้ในกุศลทั้งหลาย ปัญญา เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีที่เข้าใจถูกเห็นถูก, ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ นั้น ขณะนั้น สติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกเป็นไปในทาน ศีล ภาวนาเลย กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในทาน ศีล หรือภาวนาขณะใด ขณะนั้น สติ ก็เกิดขึ้นระลึกเป็นกุศลประเภทนั้นๆ
เมื่อสติเกิดขึ้นย่อมเกิดรักษาจิตให้เป็นไปในกุศลและกั้นกระแสอกุศลในขณะนั้น ทำให้รอดพ้นจากอกุศลได้ในขณะที่จิตเป็นกุศล ซึ่งประกอบด้วยสติและสภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ มีศรัทธา อโลภะ อโทสะ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น และสติเกิดโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ ถ้ามีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา
ปัญญา มีหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาระดับใด เวลาเกิด สติก็ต้องเกิดร่วมด้วยเสมอ เพราะสติ เป็นเจตสิกฝ่ายดีที่จะต้องเกิดร่วมกับจิตฝ่ายดีทุกประเภท ถ้ากล่าวถึงเป็นสติปัฏฐานซึ่งเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งสติสัมปชัญญะ ก็คือ สติและปัญญา นั่นเอง เพราะ สติสัมปชัญญะ จะเป็นไปในการอบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขณะที่สติเกิดไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ เช่น ให้ทาน แต่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าขณะที่สติปัฏฐานเกิด ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเสมอ ค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ